เขียนโดย Administrator
|
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2010 เวลา 07:39 น. |
ถ้าภาวนาด้วยบทสวดมนต์ เป็นการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีเพราะฤาษีเขานับถือพระพรหม ทีนี้นักภาวนาแบบอิทธิฤทธิ์เขานับถือพระศิวะ พระวิษณุ พระพิฆเนศ เวลาเขาภาวนา เขาก็... โอม พระศิวะ แล้วก็พรรณนาคุณของพระศิวะเรื่อยไป อันนี้เราภาวนาแบบพระพุทธเจ้า เราก็เอาคุณของพระพุทธเจ้า ทีนี้พอสวดไป อิติปิโส ภควา จน ภควาติ สวดเรื่อยๆๆ สวดไปๆๆ จนกระทั่งจิตเป็นสมาธิ มันจะหยุดสวดเอง พอมันหยุดสวดแล้ว เราไม่ต้องคิดที่จะสวด ให้กำหนดรู้จิตเฉยๆ อยู่ มันจะว่างอยู่อย่างนั้นตลอดกาลก็ปล่อยให้มันว่างไปก่อน เมื่อจิตว่างมันเป็นฐานสร้างพลังจิต สมาธิมั่นคง สติมั่นคง แล้วมันจะเกิดความรู้ความคิดขึ้นมาเอง
บทสวดพาหุงฯ ก็เป็นบทสวดมนต์ทั้งนั้นแหละ สวดมนต์ในเจ็ดตำนาน สิบสองตำนานฉบับหลวง มันเป็นการบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า ความหมายและอานุภาพของบทสวดแต่ละบทไม่เหมือนกัน พาหุงฯ เป็นคาถาปราบมาร บทนาฬาคิริง พระพุทธเจ้าปราบช้างนาฬาคีรี ตอนที่พญามารมาผจญตอนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้
ใครจะแนะนำเรื่องการสวดมนต์อย่างไรก็แนะนำไปเถิด แต่หลวงพ่อจะตัดสินให้ บทสวดมนต์ที่เราจะยึดเป็นหลัก พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เมตตาพรหมวิหาร แล้วอุทิศส่วนกุศล ยึดมันให้มั่นอยู่ในหลักนี้
แต่การภาวนา เราจะไม่สวดอะไรก็ได้ กำหนดสติรู้จิตเฉยๆ ถ้าจิตนิ่งๆ ปล่อยให้นิ่งไป ถ้ามันคิด...รู้ นิ่ง...รู้ คิด...รู้ นิ่ง...รู้ ตาม มันอยู่อย่างนั้น
แต่การไม่สวดมนต์เลยจะเป็นแนวทางให้ขี้เกียจเกินไป มีสวดบ้างก็จะได้ปลุกใจให้ขยันขึ้น
|