สร้างคนดีด้วยวิธีที่เก่าแก่ที่สุดแต่ทันสมัยที่สุด พิมพ์
เขียนโดย Administrator   
วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2016 เวลา 07:25 น.

 
หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย
 
 
 

 • คนดีมีคุณค่ากว่าคนเก่ง  ถ้าทั้งเก่งทั้งดียิ่งมีคุณค่ามหาศาล

      - ปลูกฝังความดีก่อน  ความเก่งจะตามมาไม่ยากนัก  (เช่น  นักเรียนที่เกิดสำนึกของความกตัญญู  ก็จะตั้งใจเรียนเพื่อไม่ให้พ่อแม่ผิดหวังเสียใจ)
      - แต่ถึงจะไม่เก่ง  ถ้ามีความดีก็มีค่ากว่าคนเก่งแต่ขาดคุณธรรมมิใช่หรือ  
        (ตัวอย่างคนเก่งแต่เลว  มีให้เห็นมากมายในสังคม  เขาสามารถทำร้าย  ทำลาย  ครอบครัว  สังคม  และชาติบ้านเมืองได้อย่างอำมหิต  โดยไม่สะทกสะท้าน  ด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยม  แถมแยบยล  จับผิดยากอีกด้วย)
      - ถ้าส่งเสริมแต่ความเก่ง  แล้วละเลยความดี  เห็นทีจะวิบัติแน่
        (ท่านพุทธทาส  :  ศีลธรรมไม่กลับมา  โลกาจะวินาศ)

 

 

 

 • สร้างคนดีไม่ใช่เรื่องยาก  ลงทุนไม่มากอย่างที่คิด

      - สร้างความดีที่ตัวเองก่อน  :  ฝึกการข่มใจ  เอาชนะใจตัวเองให้ได้ทีละเล็กละน้อย 

       (บัลลังก์ใจ  นั่งได้ที่เดียว  ถ้าได้ธรรมมาครองใจ  ก็จะไม่มีที่ว่างให้กิเลส  แต่ถ้าปล่อยให้กิเลสครองบัลลังก์ใจ  ธรรมก็ไร้อำนาจ)

      - ประพฤติตนเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม  (สิบปากว่า  ไม่เท่าตาเห็น)


     

 

 

 

 

 

 • การฝึกจิต  เป็นวิธีสร้างคนดีที่โบราณที่สุดแต่ทันสมัยที่สุด

      - โบราณที่สุด  เพราะค้นพบมากว่า 2,600 ปี  โดยพระพุทธเจ้า  มหาศาสดาเอกของโลก

      - ทันสมัยที่สุด  เพราะผู้ที่ปฏิบัติตามก็ได้ผลไม่แตกต่างจากเมื่อสองพันกว่าปีก่อนยังคงทันสมัยอยู่เสมอ

      - เป็นยาดีที่มีประสิทธิภาพชะงัดทั้งในการฆ่าเชื้อ (กิเลส)  และสร้างภูมิคุ้มกัน


 

 

 


 • จิตนั้นสำคัญไฉน  ทำไมจึงต้องฝึกจิต

      - พระพุทธองค์ทรงค้นพบว่า  “ใจเป็นใหญ่  ใจเป็นประธาน  ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ” (ใจเป็นนาย  กายเป็นบ่าว)
      - นักวิทยาศาสตร์ทางจิตก็ค้นพบสอดคล้องกันว่า  พฤติกรรมของเรามีจิตเป็นผู้สั่งไม่ใช่สมอง  
        (สมองรับคำสั่งจากจิต)
      - ถ้าจิตดีก็จะสั่งกายให้พูดดี  ทำดี  ถ้าจิตชั่วก็จะสั่งกายให้พูดชั่ว  ทำชั่ว
      - การแก้ทุกข์  แก้ปัญหา  แก้พฤติกรรม  ที่ตรงจุดที่สุดคือ  แก้ที่จิต (บุญ – บาป, ดี – ชั่ว, สุข – ทุกข์ เริ่มที่จิต)

 

 

 


 • จำเป็นต้องไปเข้าคอร์สฝึกปฏิบัติหรือไม่

      - จำเป็น ! สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานและควบคุมตัวเองได้น้อย  ยังต้องอาศัยการกำกับดูแลของครูฝึก
      - ไม่จำเป็น  สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานและสามารถควบคุมตัวเองได้ดีแล้ว

 

 


 • ควรจัดค่ายคุณธรรมหรือไม่

   ค่ายคุณธรรมมีหลายรูปแบบ :
   - บางค่ายเน้นสันทนาการเพราะกลัวผู้เข้าอบรมเบื่อ :  เล่นเกมส์  ตลกเฮฮา  ดูการ์ตูน  ดูหนัง  ที่ไม่มีสารประโยชน์  เน้นสร้างความบันเทิงเป็นหลัก   ไม่ควรจัดเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณโดยใช่เหตุ  เพราะจะไม่ได้ผลทางจิตสำนึกเลย  และอาจได้ผลทางลบ  คือ  ทำให้จิตหยาบ
    - บางค่ายปลูกฝังคุณธรรมระดับความรู้ ความจำ จะได้ผลไม่มากนักเพราะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
   - บางค่ายปลูกฝังคุณธรรมระดับจิตสำนึก   ด้วยการปฏิบัติจิตหรือฝึกจิต  ถึงแม้จะต้องลงทุน  ลงแรงมาก  ก็ควรจัด เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอ(จะปลูกพืชต้องเตรียมดิน จะกินต้องเตรียมอาหาร  จะพัฒนางานต้องพัฒนาคน  การพัฒนาคนให้เริ่มที่จิต  พัฒนาอะไรก็ติดถ้าจิตไม่พัฒนา)

 

 

 


 • จัดค่ายพัฒนาจิตต้องไปวัด  หรือจัดที่โรงเรียน  หรือในชุมชุนก็ได้

     - จัดที่ไหนก็ได้   ถ้าปัจจัยเอื้อพร้อมมากก็จะได้ผลสูงมาก  ถ้าปัจจัยเอื้อน้อยผลก็จะลดลงตามลำดับ
     - แต่การจัดที่วัดจะได้กำไรเพิ่ม  คือทำให้เด็กหรือผู้เข้าอบรมใกล้ชิดพุทธศาสนามากขึ้น  อาจส่งผลให้ชอบเข้าวัดมากขึ้น  ทั้งนี้ต้องเป็นวัดที่พระภิกษุในวัดปฏิบัติดี  น่าศรัทธาเลื่อมใส  บรรยากาศในวัดสะอาด  ร่มรื่น

 

 


 • ปัจจัยเอื้อต่อความสำเร็จมีอะไรบ้าง

 

      - ปัจจัยภายใน คือ  ความเพียรพยายาม  ความตั้งใจ  และความมีวินัยของผู้ปฏิบัติ
      - ปัจจัยภายนอก    ได้แก่
       1. บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่สงบ  ร่มรื่น โดยเฉพาะสถานที่ที่เป็นป่าเขา  การได้เห็นสีเขียวทำให้จิตใจผ่อนคลาย  เกิดความสงบได้ง่าย  พระพุทธเจ้าและพ่อแม่ครูอาจารย์  ที่มุ่งความหลุดพ้น  จึงต้องหลีกเร้นจากความวุ่นวายในเมือง  เข้าไปหาความสงบในป่า  ซึ่งจะทำให้เห็นความเคลื่อนไหวของจิตได้ละเอียดขึ้น


       2. หลักสูตรและเนื้อหา   ที่มีองค์ประกอบดังนี้
 
           • สอนถูก  คือ  ใช้หลักไตรสิกขา  (ศีล  สมาธิ  ปัญญา)  ฝึกการเจริญสติอย่างต่อเนื่องในทุกกิจกรรม
           • สอนดี คือ  เดินสายกลาง  ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป  เหมาะสมกับวุฒิภาวะและพื้นฐานของผู้ปฏิบัติ  ผู้จัดหลักสูตร  ต้องหาความพอดีหรือทางสายกลางของผู้ปฏิบัติแต่ละกลุ่มให้เหมาะสม  

 


       3. วิทยากร ที่มีความสามารถและตั้งใจในการถ่ายทอดหรือนำปฏิบัติ  มีจิตวิทยาในการเสริมแรงหรือลงโทษตามสถานการณ์ที่เหมาะสม


       4. ความร่วมมือจากโรงเรียนหรือหน่วยงานที่นำนักเรียนหรือบุคลากรมาปฏิบัติในการช่วยวิทยากรกำกับดูแลให้ผู้เข้ารับการอบรมตั้งใจปฏิบัติ  

           แม้ปัจจัยภายในจะไม่เอื้อเพราะผู้อบรมส่วนใหญ่ถูกบังคับให้มาปฏิบัติ  แต่ถ้าปัจจัยภายนอกพร้อม  สามารถพลิกจิตของผู้ที่มามืดให้กลับสว่างได้

 

  


 แนะนำ “แดนธรรมวะภูแก้ว”

 

        วัดวะภูแก้ว  เป็นวัดที่หลวงพ่อพุธ  ฐานิโยสร้างเป็นวัดแรกในชีวิตของท่าน  เมื่อการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมแล้วเสร็จไปประมาณ 80%  หน่วยศึกษานิเทศก์  กรมสามัญศึกษา  เขตการศึกษา 11  ได้นำคณะครูไปอบรมสมาธิเป็นรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2532  จากนั้นได้มีการอบรมครู  นักเรียน  ข้าราชการ  ภาคเอกชน  อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  เฉลี่ยปีละ 12,000 – 14,000 คน  มีผู้ผ่านการอบรมไปแล้วกว่า 300,000 คน(ข้อมูลปี 2559)
 
 
        กระทรวงศึกษาธิการ  โดยท่านปลัดกระทรวง  สุรัฐ  ศิลปอนันต์  ได้ตั้งให้เป็นศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ  กระทรวงศึกษาธิการ  เป็นศูนย์ที่ 2  ของประเทศ  เมื่อวันที่  20  มกราคม  2542
 
 
        วันที่  24  มิถุนายน  2544  หลวงตามหาบัว  ญาณสัมปันโน  ได้เมตตามารับผ้าป่าช่วยชาติ  และแสดงธรรมโปรดญาติโยมและนักเรียนที่มาเข้าอบรม  
 
 
        ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ  วัดวะภูแก้ว  มีความพร้อมด้านปัจจัยภายนอกที่กล่าวมาข้างต้นค่อนข้างสูง  จึงได้รับการยอมรับในระดับต่างๆ เช่น


        • วัดวะภูแก้ว  ได้รับสมญานามเป็น  “แดนธรรมวะภูแก้ว”  ในคำขวัญของอำเภอสูงเนิน
 
       • ได้รับการประเมินจากศูนย์คุณธรรมว่าเป็น 1 ใน 4   โครงการที่ถือว่าประสบผลสำเร็จ (ประเมิน 50 โครงการทั่วประเทศ  โดยคณะผู้ประเมินที่มาสังเกตการณ์การอบรมอย่างใกล้ชิด  ไม่ใช่ประเมินโดยเอกสาร)
 
      • เป็น 1 ใน 56 สถานที่ปฏิบัติธรรมระดับประเทศ  ที่ได้รับการแนะนำว่าเหมาะสมกับการมาปฏิบัติธรรม

 

 


 
 
 


 

พลิกจิตได้ในเวลาสั้นๆ

 


การเจริญสติอย่างต่อเนื่อง  แม้จะใช้เวลาสั้นๆ (3–5 วัน)  ก็สามารถสร้างจิตสำนึกหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  จากลบเป็นบวกได้  ดังคำกล่าวที่ว่า  สติมาปัญญาเกิด


และนี่คือทัศนะของผู้ที่ผ่านการอบรมจากศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ  วัดวะภูแก้ว

 

 

 


... ที่สุดของชีวิตที่ได้มาเรียนรู้และปฏิบัติธรรม  ทำให้พวกผมมีกำลังใจที่จะออกจากที่นี่ไปเป็นคนดีมีศีลธรรม  นำธรรมะไปประกอบสัมมาอาชีพ  (ผู้ต้องขังทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก  อ.สีคิ้ว  จ.นครราชสีมา )
 
 
...  ถ้าใครเคยหลงผิด  ขอให้จำไว้ว่า  จงนั่งทำสมาธินานๆ ก็จะมีสติ  จะได้ไม่หลงผิดอย่างผมอีก (ผู้ต้องขังทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก  อ.สีคิ้ว  จ.นครราชสีมา )
 
 
... การอบรมครั้งนี้ทำให้ผมเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานมาก  แต่ก่อนดูแลผู้ป่วยแค่ให้ได้ตามมาตรฐาน  ดูแลแค่กาย  แต่กลับจากอบรมครั้งนี้  ผมจะไปดูแลใจของผู้ป่วยด้วย  (พยาบาลวิชาชีพร.พ.มหาราชนครราชสีมา)
 
 
... ข้าพเจ้าโชคดีมากแค่ไหนแล้ว  ที่เกิดมาได้ทำงานที่ได้ทั้งบุญและได้เงินด้วย  ทำให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนทัศนคติจากไม่เคยชอบงานตัวเอง  ทำเพราะแม่อยากให้ทำงานโรงพยาบาล  แต่ตอนนี้ข้าพเจ้ารู้สึกรักงานของตัวเอง  และยินดีบริการผู้ป่วยทุกท่าน (พยาบาลวิชาชีพร.พ.มหาราชนครราชสีมา)
 
 
... การได้มาอบรมพัฒนาจิต  ถือเป็นโอกาสสำคัญในการที่จะเรียนรู้จิตใจของตัวเอง  ชะล้างสิ่งไม่ดีที่สะสมและหมักหมมมานาน  ถือเป็นการ detox จิตใจ  เอาสิ่งสกปรกออก  ให้มีพื้นที่ในการรับสิ่งที่ดีและถูกต้อง  เสริมสร้างพลังจิตให้แข็งแกร่ง  และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดทั้งทางโลกและทางธรรม (พยาบาลวิชาชีพร.พ.มหาราชนครราชสีมา)
 
 
...  การเข้าวัดครั้งนี้ได้ประโยชน์มาก  ทำให้มองชีวิตอย่างมีธรรมะ  มองโลกอย่างมีเหตุผลมากขึ้น ... ได้ทราบถึงหน้าที่ครูที่แท้จริง  มิใช่เป็นครูโจร  เป็นครูกรรมกร  เป็นครูขอทาน  แต่ต้องเป็นครูที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติ (ครูร.ร.กู่สวนแตงพิทยาคม  อ.บ้านใหม่ไชยพจน์  จ.บุรีรัมย์)
 
 
...  ต้องขอบพระคุณ สพม.32  โดยเฉพาะท่าน ผอ.เขต  ที่ได้ให้ความสำคัญของการอบรมคุณธรรมครูใหม่ในครั้งนี้  ทำให้รู้สึกว่า  มีหลายๆ อย่างที่เราขาดหาย  หรือยังทำไม่เต็มที่ในความเป็นครู  โดยเฉพาะการเป็นครูด้วยใจ  อย่าคิดว่าจับพลัดจับผลูมาเป็นครู  ให้คิดว่าตัวเองโชคดีที่ได้เป็นครู  ได้เป็นผู้ให้และได้บุญมากมายนัก  (ครูร.ร.ตาจงพิทยาสรรค์     อ.ละหานทราย  จ.บุรีรัมย์)
 
 
... ขอบคุณที่มอบสิ่งดีๆ อันเป็นมงคลชีวิตให้คณะครูและลูกศิษย์ของผม  ผมเห็นเขาดีขึ้น  มีวินัย  ดูแลตัวเองได้ดี  เรียบร้อยมาก  ยังชมให้ครูฟังว่า  ลูกศิษย์ของเรามาวัด 5 วัน  ดีขึ้นกว่าที่อยู่โรงเรียน 5-6 ปี  อยากให้ดีแบบนี้  ทุกวัน  พ่อแม่  ครู   จะต้องดีใจมาก  (ผู้บริหารสถานศึกษาร.ร.ลำปลายมาศ  จ.บุรีรัมย์)
 
 
... รู้สึกว่าการเข้าค่ายนี้มีสาระ  ทำให้ผมได้คิดถึงบุญคุณของพ่อแม่และครูบาอาจารย์  ทำให้ผมมีสมาธิมากขึ้น  ตรงต่อเวลา  จากเป็นคนที่ไม่อ่านหนังสือเลย  แต่มาอยู่ที่นี่ทำให้ผมรักการอ่านอย่างมาก  (นักเรียน ร.ร.กนกศิลป์พิทยาคม  อ.เมือง  จ.บุรีรัมย์)
 
 
... คนที่มีโอกาสเหมือนพวกผม  จะมีโอกาสเปลี่ยนชีวิต  เปลี่ยนเป็นคนที่ดีกว่าเดิม  เป็นคนดีของสังคม  เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่  วัดนี้ทำให้คนเป็นคน  และเห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น  ผมกล้าพูดเลยว่าธรรมะเปลี่ยนชีวิตคนได้จริงๆ  (นักเรียนร.ร.บำเหน็จณรงค์วิทยาคม  อ.บำเหน็จณรงค์  จ.ชัยภูมิ)

 

 

 

 


จิตสำนึกและพฤติกรรมที่ดีอย่างนี้จะยั่งยืนหรือไม่

 

 


        ไม่แน่!


จิตสำนึกหรือพฤติกรรมดีๆ ที่พลิกได้ในเวลาสั้นๆ จะยั่งยืนหรือไม่  ขึ้นอยู่กับ :
     • การปฏิบัติต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน  ด้วยการทำสมาธิ  และการทำการงานอย่างมีสติ  เป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันทางจิต  (ถึงจะทำได้ไม่มาก  ก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย  ยิ่งทำมากยิ่งได้มาก)
     • กำลังใจจากครอบครัวและโรงเรียน  เป็นการเสริมภูมิคุ้มกันอย่างดี
     • การต่อยอดจากโรงเรียน  ด้วยการจัดกิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรม  เช่น  การเน้นให้นักเรียนทำสมาธิในการเรียนด้วยความจดจ่อ  ทำสมาธิ (หลับตาดูจิต  ดูลมหายใจ)  5 นาทีก่อนเรียน  ใส่บาตร  ฟังธรรม  บำเพ็ญจิตอาสา ฯลฯ
 
มาช่วยกันบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความดีไว้ในจิต  ให้ธรรมได้ครองบัลลังก์ใจ ไล่กิเลสไม่ให้มีที่อยู่ ชีวิตจะมีสุข  คนดีจะมีมาก  สังคมจะน่าอยู่  โลกจะสวยด้วยใจของเรา

 

 

 




“เรามาอบรมสั่งสอนเด็กๆ ปลูกฝังนิสัยไว้  ถึงแม้เวลานี้อาจจะไม่มีผลอะไรก็ตาม
แต่พอโตขึ้นรู้เดียงสา  มันนึกถึงเอง  นี่! หลวงพ่อคิดเอาอย่างนี้”
หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย

 

 





 
แก้ไขล่าสุด ( วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2016 เวลา 08:48 น. )