ปฏิบัติธรรมตามรอยบาทพระศาสดา พิมพ์
เขียนโดย Administrator   
วันพุธที่ 09 มกราคม 2013 เวลา 09:00 น.

 

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย

 

พระธรรมเทศนาโดย

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย

 

ปฏิบัติธรรมตามรอยบาทพระศาสดา


            การฟังธรรม อย่าไปตั้งใจจดจำคำพูด  อานิสงส์ของการฟังธรรมคือความเอะใจ  เสียงธรรมะอันใดที่มันไปสะกิดใจเรา ทำให้ใจเราตื่น ทำให้ใจเบิกบาน ทำให้ใจยิ้มแย้มแจ่มใส อันนั้นคืออานิสงส์ของการฟังธรรม

  


สิ่งที่จิตใต้สำนึกบันทึกไว้คือสัจธรรม


           ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างมันอยู่ที่ใจเรา บางครั้งเรารู้สึก รำคาญ เพราะว่าใจเรามันคิดซอกแซกไปสารพัดสารเพ  คิด   เรื่องโลก คิดเรื่องธรรม  คิดเรื่องบาป คิดเรื่องบุญ  คิดเรื่องกุศล อกุศล  คิดถึงเรื่องงานเรื่องการ  สารพัดจิปาถะที่มันจะคิดไป เมื่อจิตของเราคิดไปอย่างนั้นเราอย่าไปตำหนิว่าจิตของเรามัน ซุกซน นั่นแหละมันแสดงความจริงอันเป็นพื้นฐานที่มีอยู่ในจิตของเรา

           เราเกิดมาหลายภพหลายชาติ เราได้ทำทั้งดีทั้งชั่ว   ทำทั้งบาปทั้งบุญ   คิดทั้งดีทั้งชั่ว   คิดทั้งบาปทั้งบุญ   สิ่งใดที่เราคิดโดยเจตนา  ทำโดยเจตนา พูดโดยเจตนา จิตใต้สำนึกของเราจะเป็นผู้บันทึกสิ่งนั้นๆ เอาไว้  ทีนี้พอจิตว่างๆ เผลอๆ สิ่งที่มันบันทึกเอาไว้มันก็โผล่ขึ้นทีละอย่างสองอย่าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เราตั้งใจกำหนดจิตตั้งใจภาวนาก็ตาม  หรือในขณะที่เราพิจารณาอะไรก็ตาม ความคิดมันจะวิ่งเข้ามาแทรก   แทรกบริกรรมภาวนา  แทรกความคิดที่เราพิจารณาอยู่  อันนั้นแหละคือ ความจริงตามธรรมชาติที่จิตของเราบันทึกเอาไว้แล้ว


          ทีนี้บางทีจิตของเราปรุงแต่งขึ้นมา  บางอย่างก็ทำให้เราพอใจ  บางอย่างก็ทำให้เราไม่พอใจ  ในเมื่อเกิดความพอใจ  ไม่พอใจ  เราก็เกิดสุขเกิดทุกข์  ความพอใจก็ดี ไม่พอใจก็ดี  ความคิดที่มันปรุงแต่งขึ้นมาก็ดี สุขทุกข์ก็ดี   ที่มันปรากฏการณ์ให้เรารู้เราเห็น นั่นแหละคือสัจธรรม


         มันเป็นสัจธรรมได้อย่างไร    มันเป็นสัจธรรมซึ่งมันบ่งบอก ชี้บอก  ว่านิสัยใจคอของเรามันเป็นอย่างนี้    แล้วที่มันเป็นอย่างนี้ได้   ก็เพราะว่าเราสั่งสมและเก็บรวบรวมเอาไว้แล้ว  สิ่งใดที่เราทำ เราพูด เราคิด โดยเจตนา  สิ่งนั้นมันสำเร็จเป็นกรรม  เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนาคือตัวกรรม  ทีนี้สิ่งที่เราทำ พูด คิด ด้วยเจตนานี่  มันสำเร็จเป็นกรรม  เมื่อสำเร็จเป็นกรรมแล้ว ใครเป็นผู้บันทึกผลของกรรมอันนั้นไว้   ก็จิตใต้สำนึกของเรานั่นแหละเป็นผู้บันทึกเอาไว้

          เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็ดี การปฏิบัติสมาธิภาวนาก็ดี จึงเป็นวิธีการปลุกจิตใต้สำนึกให้มันตื่นขึ้นมา  เมื่อมันตื่นขึ้นมาแล้ว  มันจะเอาทุกสิ่งทุกอย่างออกมาแสดงให้เรารู้   รู้ถึงพื้นเพของเรา  ว่าเรามีพื้นเพอย่างไร   มีอุปนิสัยสันดานอย่างไร   อันนี้เราต้องกำหนดดูให้มันรู้อย่างนี้


          เพราะฉะนั้น ความคิดปรุงแต่งขึ้นมา อย่าไปรังเกียจมัน อย่าไปรำคาญมันถ้าเรากำหนดสติตามรู้ไปทุกระยะเราจะรู้ความจริงของธรรมะ

  

  


อนิจจังทุกขัง อนัตตา อยู่ที่ใจของเราเอง


           ท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เวลานี้เราทุกคนกำลังมาแสดงธรรมสู่กันฟัง  ทุกๆ คนที่นั่งอยู่นี่แหละ กำลังแสดงธรรมสู่กันฟัง  มองไปข้างหน้าโน้น ก็มองเห็นหัวขาวๆ  ขาวบ้าง ดำบ้าง หัวขาวมันแสดงความจริงของมันให้ปรากฏคือความแก่  ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พิจารณาเสมอว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา จักล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้  เรามองดูกัน   มันก็มองเห็นความแก่  เมื่อมองเห็นความแก่ พระองค์สอนให้พิจารณาแล้วปลงธรรมสังเวชว่า  เรามีความแก่เป็นธรรมดา  จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้


          เพราะฉะนั้น ชีวิตของเราทุกคนนี่ ถ้าเราสังเกตพิจารณาดูตัวเอง เราจะเห็นความจริงในตัวเราเองตลอดเวลา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่เราพิจารณากัน เราก็ว่า คนโน้นก็อนิจจัง  คนนั้นก็ทุกขัง คนนี้ก็อนัตตา  ต้นไม้ ภูเขา รถ เรือน ดินฟ้าอากาศ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  เราสอนกันให้ไปกล่าวตู่แต่คนอื่น กล่าวตู่แต่สิ่งอื่น ว่าเขาเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  แต่ไม่เคยมีใครบอกว่า  เราเองนี่แหละตัวอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  เพราะฉะนั้น  เราจึงไปเที่ยวกล่าวตู่แต่คนอื่นเขา   แล้วในที่สุดก็มองไม่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของตัวเอง  ในที่สุดก็ไปเห็นแต่โทษของคนอื่น โทษของตัวเองไม่เห็น


             อันธพาลย่อมเพ่งโทษคนอื่น แต่บัณฑิตเพ่งโทษตัวเอง
          นักปฏิบัติ เมื่อมองเข้ามาข้างใน มองที่จิตที่ใจตัวเอง       เราเห็นความจริงในจิตในใจตัวเอง  อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มัน อยู่ที่ตรงไหน  มันไม่ใช่อยู่ที่ยายแก่ตาแก่ มันไม่ใช่อยู่ที่ต้นไม้ ภูเขา รถ เรือน  มันอยู่ที่จิตอยู่ที่ใจของเรานี่เอง

           เพราะฉะนั้น   การปฏิบัติธรรมให้ดูจิตดูใจของตัวเอง   ใครเล่าที่เป็นผู้ที่ไม่เที่ยง ใครเป็นผู้เป็นทุกข์ใครเป็นผู้เป็นอนัตตา   มันก็ตัวจิตตัวใจของเราเอง


           ถ้าชายหนุ่มชายแก่มองเห็นสาวแก่หัวหงอกมันเกิดไม่พอใจ แล้วมันไม่ชอบ มันรังเกียจ  อันนั้นแหละ อนิจจังกินหัวมัน   ถ้าไปมองเห็นแส้ๆ สาวๆ หนุ่มๆ  มันรัก มันชอบ มันไปยินดี อันนั้นอนิจจังกินหัวมัน


           เพราะฉะนั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันอยู่ที่ใจของเรานี้เอง

  


นักปฏิบัติต้องเพ่งโทษของตัวเอง


           ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  มีแต่จิตและใจของเราซึ่งมันโง่  โง่เพราะถูกอวิชชาความรู้ไม่จริงครอบงำมัน   มันจึงไปเที่ยวกล่าวตู่แต่คนอื่น  บางทีเขาด่ามา  มันก็ว่าเขาผิด  แต่แท้ที่จริงคนด่าเขาไม่ได้ผิด   มันผิดอยู่ที่เราไปรับคำด่าของเขามา  รับมาแล้วก็มาดีใจ เสียใจ แล้วก็มาโกรธ มาเคียด มาแค้น


          เขาตีมา  มันไม่ใช่ความผิดของคนตีแต่ถ้าใครไปตีตอบ คนนั้นแหละเป็นคนผิด    พระพุทธเจ้าท่านว่า คนด่าก่อนเขาไม่มีความผิดมาก   แต่คนที่ไปรับเอาคำด่าของเขาแล้วด่าตอบคนนั้นแหละมีความผิดมาก    คนที่เขาตีก่อนเขาไม่มีความผิด   แต่คนถูกตีไปตีตอบ  คนนั้นแหละมีความผิดมาก


         ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  ก็เพราะเหตุว่า  รู้ว่าเขาทำผิดอยู่แล้ว  แล้วจะไปทำผิดตอบเขาอย่างไร  ถ้าเราไปทำตอบ มันก็คล้ายๆ กับว่า เขาหยิบยกเอาสิ่งที่ไม่ดี สิ่งสกปรก   มาใส่มือให้เรา   ถ้าเราเอื้อมมือไปรับ เราก็โง่  นี่เป็นอุบายพิจารณาแก้ทิฏฐิมานะของตัวเอง   มันอยู่กันที่ตรงนี้


 
         ในเมื่อเราเข้าถึงธรรม ธรรมะเข้าถึงจิตถึงใจ ในโลกนี้ไม่มีใครทำผิด มีแต่เราคนเดียวเท่านั้นเป็นผู้ผิด   มันผิดอยู่ที่ตรงไหน   ผิดอยู่ตรงที่เราอยากเกิดมาเป็นคนทำไม  นี่! มันผิด กันอยู่ที่ตรงนี้


          เพราะฉะนั้น   นักปฏิบัติต้องพยายามเพ่งโทษตัวเองให้ มากๆ  ถ้ามัวแต่ไปเพ่งโทษคนอื่นเราจะมองไม่เห็นความผิดของตัวเอง


 

การปฏิบัติธรรมสำคัญอยู่ที่การฝึกสติ


          จิตใจมันฟุ้งซ่าน มันก็แสดงความจริงให้เราเห็นเมื่อมันฟุ้งไปแล้ว  มันเกิดยินดียินร้าย มันเกิดสุข เกิดทุกข์   มันก็แสดงความจริงให้เรารู้เราเห็น


           เมื่อสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น เราจะทำอย่างไร  เราจะเอาประโยชน์จากมันได้อย่างไร  สติตัวเดียว

           พระพุทธเจ้าทรงถามพระอานนท์ว่า
           "อานนท์ เธอว่าตัณหามันเกิดที่ไหน"
           พระอานนท์ก็ทูลให้พระพุทธเจ้าเทศนา
           พระองค์ก็เทศนาว่า "อานนท์ ตัณหามันเกิดที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ"
           "มันเกิดได้อย่างไร"
          "เกิดได้เพราะ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้น ได้รส กายสัมผัส ใจนึกคิด แล้วมันก็เกิดความพอใจ ไม่พอใจ ความพอใจคือกามตัณหา ความไม่พอใจคือวิภวตัณหา ความยึดติดคือภวตัณหา"


           ในเมื่อมันมีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา  มันก็สร้างความสุขและความทุกข์เกิดขึ้นในจิตในใจ
          เมื่อนักปฏิบัติมากำหนดสติตามรู้ไปทุกระยะเมื่อจิตมี พลังเข้มแข็งมีสมาธิมั่นคง สติมั่นคงมันก็เกิดเป็นปัญญาสามารถที่จะรู้เห็นสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นกับจิต ว่านี่คือทุกขอริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วมันจะรู้ต่อไปว่า  นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด   นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ   ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นดับไป


           ตัง โข ปนิทัง ทุกขัง อริยสัจจัง ปริญเญยยันติ เม ภิกขเว


           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกข์เป็นสภาพที่ควรกำหนดรู้


          พระพุทธเจ้าสอนให้รู้อยู่เฉยๆ พระองค์ไม่ได้สอนให้ละทุกข์  ในเมื่อจิตรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว เราก็จะได้ความรู้สึกว่า


           ตัง โข ปนิทัง ทุกขัง อริยสัจจัง ปริญญาตันติ เม ภิกขเว
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกข์เราได้กำหนดรู้แล้ว


           ตอนแรกทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้แจ้งชัดเจน แล้วว่า นี่! ทุกข์  ก็มาได้ความรู้ว่าทุกข์เราได้กำหนดรู้แล้ว


         ตัง โข ปนิทัง ทุกขสมุทโย อริยสัจจัง  ปหาตัพพันติ  

         สมุทัยอันเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดเป็นสิ่งควรพยายามละ
         สมุทัยคือตัณหา ได้แก่ ความยินดียินร้ายความยึดมั่น ถือมั่น    เราจะละสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร


         ทีนี้พระอานนท์ก็ถามพระพุทธเจ้าต่อไปว่า


        "ตัณหาเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ  แล้วจะไปดับที่ไหน"
         พระองค์ก็ตอบว่า  "ดับที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มันเกิดที่ไหนมันก็ดับที่นั่น"


       "มันจะดับได้อย่างไร ทำอย่างไรมันจึงจะดับ"
       "ฝึกสติสิ อานนท์!"


        เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมสำคัญอยู่ที่การฝึกจิตให้มีสติ


        ธรรมทั้งหลายอันเป็นส่วนที่เป็นอกุศลคือส่วนที่เป็นบาป รวมลงสู่ความประมาท ในเมื่อเราถามว่าความประมาทคืออะไร    จะได้คำตอบว่าความประมาทคือความขาดสติ

         ธรรมส่วนที่เป็นกุศล รวมลงสู่ความไม่ประมาท ความไม่ประมาทคืออะไร คือความมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์


         เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติธรรมจุดใหญ่ที่เรามุ่งตรง ไม่ใช่สมาธิ แล้วก็ไม่ใช่ปัญญาแต่หมายถึง  สติมีความมั่นคงสติมั่นคง มันมั่นคงอยู่ที่ตรงไหนมั่นคงอยู่ที่จิตเรา  จะรู้สึกว่าจิตของเรามีความรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา   ทั้งหลับ ทั้งตื่น  นอนหลับไปแล้วเราก็รู้สึกว่าเรามีสติอยู่  ตื่นอยู่ก็รู้สึกว่ามีสติอยู่  ในเมื่อจิตของท่านผู้ใดมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา จิตของท่านผู้นั้นก็เป็น พุทธะ ผู้รู้  เป็นพุทธะ ผู้ตื่น  เป็นพุทธะ ผู้เบิกบาน


           รู้ ก็หมายถึงรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา
           ตื่น ก็คือมีการเตรียมพร้อมที่จะรับสถานการณ์และสิ่ง แวดล้อมด้วยความแกล้วกล้าอาจหาญ ในเมื่อจิตมีสติแกล้วกล้า อาจหาญ จิตก็แช่มชื่นเบิกบาน ไม่โศกเศร้า


          เพราะฉะนั้น หัวใจของการปฏิบัติธรรมอยู่ที่สติสัมปชัญญะตัวเดียว  เราทำสมาธิไปถึงขั้นใด ได้ฌานขั้นใด ญาณขั้นใด หรือรู้เห็นอะไร วิเศษวิโสแค่ไหน จุดสำคัญก็คือสติ


         สติวินโย จิตของท่านมีสติเป็นผู้นำอยู่ตลอดเวลาเมื่อสติเป็นผู้นำจิตตลอดเวลา จิตใต้สำนึกก็ตื่นขึ้นมา เราสามารถที่จะน้อมเอาพลังจิตอันนั้นไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ทุกกรณี ไม่เฉพาะแต่ว่าเราจะมุ่งสู่มรรคผลนิพพานถ่ายเดียว

  

ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว


ปฏิบัติธรรมมุ่งเน้นประโยชน์ในปัจจุบันให้มากที่สุด


           การปฏิบัติธรรมต้องพยายามค้นคว้าพิจารณาให้รู้ผลประโยชน์ในปัจจุบันให้มากที่สุด เช่นอย่างการรักษาศีล   เราได้ประโยชน์อะไรในปัจจุบัน


          สีเลน โภคสัมปทา รักษาศีลแล้วจะได้โภคสมบัติ  ทำให้เราเข้าใจผิดกันมานานแล้ว  บางท่านจึงบ่นว่า เรารักษาศีล แทบเป็นแทบตายไม่เห็นได้อะไร   ยิ่งรักษาศีลเท่าไรยิ่งจนลง  นี่เพราะความเข้าใจผิด


          เรารักษาศีลในปัจจุบันเป็นคุณธรรมประกันความปลอดภัยของสังคม ป้องกันไม่ให้มนุษย์เกิดมีการฆ่ากัน

           ในสังคมของนักปฏิบัติ ในสังคมของพุทธบริษัท เราจะต้องมีความเสมอกันด้วยเหตุ ๓ ประการ
           ๑. สีลสามัญญตา มีศีลเสมอกัน
           ๒. ทิฏฐิสามัญญตา มีความเห็นลงรอยเดียวกัน ไม่ขัดแย้งว่าอะไรว่าตามกัน โดยอาศัยหลักธรรมะคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลักเป็นกฎเกณฑ์


          เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีความเสมอกัน  สีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา แล้วความประพฤติปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน มันก็ไม่เกิดขัดกัน ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็จะคล่องตัว


 

 

เราจะดำรงพระพุทธศาสนาได้อย่างไร


           ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ก่อนหน้าที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานเพียง ๓ เดือน ได้รับสั่งกับพระอานนท์ว่า


          "อานนท์ ในกาลที่เราตถาคตนิพพานไปแล้ว สิกขาบท  วินัยอันใดที่เราบัญญัติไว้แล้ว  ถ้าคณะสงฆ์เห็นว่ามันไม่เหมาะสมกับกาลสมัย จะเพิกถอนสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่งเล็กน้อยบ้างก็ได้"


         ทีนี้ เมื่อถึงวันปฐมสังคายนา หลังพุทธปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน พระมหากัสสปะพร้อมด้วยคณะสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๕๐๐ องค์ ล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ อุปสมบทด้วย เอหิภิกขุอุปสัมปทาพระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทเองในเมื่อคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ได้ทราบ ท่านก็ร่วมกันพิจารณาว่าควรหรือไม่ควร   ก็ลงมติกันว่า   สิ่งใดที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว เราไม่ควรไปเพิกถอน เพราะพระพุทธองค์ย่อมมีพระปรีชาเฉลียว ฉลาดรอบรู้ในทุกกรณี    เป็นอันว่าคณะสงฆ์ในสมัยนั้นก็ไม่ได้ถอนสิกขาบทใด


          ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท พุทธบริษัทคือลูกในตระกูลของพระพุทธเจ้าเรียกว่าตระกูลศากยวงศ์ ไม่เคยมีลูกในตระกูลอื่น ตระกูลที่เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี มั่งคั่งสมบูรณ์ ตระกูลจะเสื่อมจะเจริญเพราะลูกในตระกูลนั้นเป็นผู้ทำ ศาสนาพุทธพระพุทธเจ้ามอบให้พุทธบริษัท ๔  คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา  ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  เคารพต่อระเบียบวินัยที่พระพุทธองค์บัญญัติ ศาสนา ของเราตถาคตก็จะดำรงอยู่  อย่าว่าแต่ ๕,๐๐๐ ปี   ต่อให้หมื่นปีแสนปี  ศาสนาเราก็ไม่เสื่อม


 

พระภิกษุสงฆ์-ญาติโยม ช่วยกันรักษาพระธรรมวินัย


           ทีนี้ในปัจจุบันนี้สิ่งที่เราต้องพิจารณาดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุสามเณร เราแต่ละองค์นี่ได้เพิกถอนสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไปแล้วกี่ข้อ นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องพิจารณา


           เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธจะเสื่อมหรือจะเจริญอยู่ที่เรา พระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา  ในปัจจุบันนี้ พระแต่ละองค์ถอนสิกขาบทพระพุทธเจ้าไปแล้วกี่ข้อ  อาตมะจะให้ข้อสังเกตสำหรับ ญาติโยมทั้งหลาย หลายๆ ท่านอาจจะไม่ได้ศึกษาพระวินัยละเอียด  เวลาท่านทำบุญสุนทาน นิมนต์พระไปสวดมนต์ไปฉันที่บ้านท่าน ถ้าท่านเอาสตางค์ไปประเคนพระ   ถ้าพระรับสตางค์ไปจากมือท่าน  พระถอนสิกขาบทวินัยไปแล้วข้อหนึ่ง

          พระภิกษุรับเงินด้วยมือตัวเอง   ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
          พระเอาเงินใส่ย่ามมาเก็บไว้เอง  ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์อีกตัวหนึ่ง
          พระควักออกจากย่ามไปใช้จ่ายซื้อสิ่งซื้อของ พระต้องอาบัตินิสสัคคีย์อีกตัวหนึ่ง
          เงินบาทเดียว ต้องอาบัติถึง ๓ ตัว
         ถ้าหากว่าพระเณรองค์ใดไปทำอย่างนั้น     ก็แสดงว่าถอนสิกขาบทวินัยของพระพุทธเจ้าไปแล้ว ๓ ข้อ   ๒๒๗ ยังเหลือ ๒๒๔ ข้อและอื่นๆ  อีกล่ะ


          อันนี้เป็นนัยที่พวกญาติโยมทั้งหลายควรจะได้ทำความเข้าใจ

          อาตมะนั่งอยู่ที่กุฏิ เคยมีคนเอาสิ่งเอาของมาประเคน     เอามาประเคนตอนบ่าย มีของแห้ง ของเป็นอาหาร   หลวงพ่อบอกว่า จบแล้วเอาวางไว้ตรงนั้น  ไม่ต้องประเคน  เจ้าภาพไม่พอใจ เคียด หิ้วของกลับบ้าน

         ลองคิดดูซิ ศาสนาพุทธเข้ามาสู่เมืองไทย ๒,๒๔๑ ปี หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๓๐๐ ปี  พุทธบริษัทเรา อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่เข้าใจวินัยที่ควรปฏิบัติต่อพระเจ้า    พระสงฆ์  ทั้งนี้ทั้งนั้นใครเป็นผู้เป็นเหตุ ก็พระสงฆ์นี่แหละเป็นเหตุ ไม่ทำความเข้าใจกับญาติโยม


          อาตมะเจ็บป่วย มีพระเจ้าพระนายท่านมาเยี่ยม เอาของใส่ถาดมาเบ้อเร่อ   มีพวกประเภทอาหาร เครื่องดื่ม นมเนย อะไรต่างๆ แล้วก็มีซองวางอยู่ข้างบน    เอามาประเคนในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าเป็นนายเราก็ไม่ทักท้วง   เพราะเกรงใจท่าน  ทีนี้ ซองที่มองเห็นนั้นคิดว่าเป็นซองหนังสือราชการ หยิบมาเปิดดู มีธนบัตรอยู่ในนั้น   อันนี้ก็ถอนสิกขาบทวินัยไปแล้ว  พร้อมกันในขณะเดียว ถอนไป ๒ ข้อ พระภิกษุรับประเคนอาหารค้างคืนไว้  ตื่นเช้าเอามาฉัน   ต้องอาบัติปาจิตตีย์

  


ศีลคือหัวใจของการปฏิบัติธรรม


          อาตมะไม่อยากจะเทศน์ เทศน์ให้คนไปสำเร็จนิพพาน อยากให้พุทธบริษัทเข้าใจในเรื่องชีวิตประจำวันให้มากที่สุด  เรื่องสมาธิไม่สำคัญสำหรับการปฏิบัติ   ใครจะได้สมาธิขั้นใด  ฌานขั้นใด ญาณขั้นใด สำเร็จอิทธิฤทธิ์ดำดินบินบนล่องหนหายตัวได้ มันก็ไม่มีความหมาย


         พระปิตุลาอยู่บนยอดเขามเหธร บำเพ็ญตบะสำเร็จฤทธิ์ พอได้ยินเสียงพระรามหักคันศรพระศิวะที่ตัวบูชาอยู่ สะเทือนหัวใจ  เหาะมาทางอากาศ   มากล่าวขู่จะเข่นฆ่าราชาทั้งหลายที่มาชุมนุมกัน  "บอกมานะใครเป็นผู้หักคันศรพระศิวะที่ข้าบูชาอยู่ คนนั้นมันจะต้องตายลูกเดียว"  นี่! สำเร็จสมาธิ สำเร็จฌานมีอิทธิฤทธิ์ดำดินบินบนล่องหนหายตัวได้    ยังจะต้องมาฆ่าคนอยู่   มีประโยชน์อะไร


         เพราะฉะนั้น หัวใจของการปฏิบัติธรรมนี่มันอยู่ที่ศีล  พี่น้องญาติโยมทั้งหลายอย่ามองข้าม  คฤหัสถ์ทั่วไปก็ศีล ๕  แม่ชีก็ศีล ๘  สามเณรศีล ๑๐  พระ ๒๒๗  ศีลตามขั้นภูมิของตนเองนี่   ใครทำให้บกพร่องแม้แต่ข้อใดข้อหนึ่ง เช่นอย่างพระต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถึงจะแสดง แต่ว่าแกล้งละเมิดอยู่ตลอดเวลา ถึงแสดงอาบัติ   มันก็ไม่ตก


         เพราะฉะนั้น อาตมะไม่อยากจะให้ใครคุยนักหนาเรื่องภูมิจิตภูมิใจ ภูมิสมาธิ  คนที่ไปท่องวิชาไสยศาสตร์ ทำสมาธิ นะ มะ พะ ทะ  นะ มะ พะ ทะ  ตัวสั่นย๊อกๆ  มองเห็นสวรรค์นรกได้ วิเศษวิโส แต่แล้วมันก็ไม่มีประโยชน์อะไรถ้าศีลไม่บริสุทธิ์


          เพราะฉะนั้น หัวใจของการปฏิบัติสมาธิภาวนา  มันจะเป็นไปเพื่อหมดบาปหมดกรรม หมดกิเลสอาสวะ   สำคัญอยู่ที่ศีลตัวเดียวเท่านั้น   อย่าไปคำนึงถึงอะไร  ใครปฏิบัติสมาธิไม่ได้ญาณ ไม่ได้ฌานขั้นใด  แต่ว่ามีสติรู้จิตตลอดเวลา   มีศีลบริสุทธิ์ใช้การได้


           เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธจึงมีศีลเป็นหลักประกันความปลอดภัยของสังคม

 

ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

ธรรมะคำสอนผ่านการทดสอบของพระพุทธองค์แล้ว


           ท่านผู้ฟังทั้งหลาย ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าที่     ท่านมาสอนเรานี่ มันเป็นเรื่องส่วนตัวของพระองค์ทั้งนั้น เป็นชีวประวัติของพระองค์


           พระพุทธเจ้าไม่ได้เคยประกาศท้าทายว่าฉันได้สร้างอะไรขึ้นมาในโลกนี้  ไม่เหมือนศาสดาในศาสนาอื่น  ศาสดาในศาสนาคริสต์ ศาสดาในศาสนาพราหมณ์ เขาประกาศว่าเขาเป็นผู้สร้างโลก  เลยมาคิดตลกๆ ขึ้นมาว่า  โลกมันตะปุ่มตะป่ำ ที่สูงก็สูงเหลือล้น   ที่ต่ำก็ต่ำเหลือเกิน ที่แห้งก็แห้งจนไม่มีน้ำจะกิน สงสัยว่าพระพรหมกับพระเจ้าแข่งกันสร้างโลก แข่งผลงานกัน  จับโยนไปตรงนั้น โยนไปตรงนี้ โดยไม่มีระเบียบ   โลกมันจึงเป็นตะปุ่มตะป่ำ ที่สูงที่ต่ำไม่สม่ำเสมอกัน    มันน่าจะเป็นเช่นนั้น


           แต่ว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยประกาศเช่นนั้น   แต่พระองค์สามารถประกาศได้ว่า เราสามารถรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์บรรลุวิชชา ๓


          ข้อที่  ๑ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกชาติหนหลังได้  พระองค์ระลึกชาติหนหลังของพระองค์ได้ตั้งแต่ชาติปัจจุบัน ถอยไปไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ  แสนชาติ ล้านชาติ นับไม่ถ้วน  แต่ละชาติพระองค์เคยเกิดเป็นอะไร  บางทีก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน  บางทีเกิดเป็นเทวดา  บางทีเกิดเป็นเปรตอสุรกาย พระองค์เคยเป็นมาทุกอย่าง   ที่พระองค์เป็นไปเช่นนั้นเพราะกฎของกรรมอะไร   เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่พระองค์สอนว่า สิ่งนี้มันเป็นบาป อย่าทำ ทำแล้วมันจะตกนรก ก็แสดงว่าพระองค์เคยทำบาปอย่างนี้ตกนรกมาแล้วตั้งแต่ชาติก่อนโน้น     สิ่งนี้มันเป็นบุญ ทำแล้วขึ้นสวรรค์ ก็แสดงว่าพระองค์เคยทำบุญขึ้นสวรรค์มาแล้ว


         การบำเพ็ญตบะ บำเพ็ญฌานได้สำเร็จฌานสมาบัติ ตายแล้วไปเกิดเป็นพระพรหมในพรหมโลกพระองค์ก็เคยบำเพ็ญฌานไปเกิดเป็นพระพรหมมาแล้ว


          ในชาติปัจจุบัน พระองค์บำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้ว ได้สำเร็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็บำเพ็ญสำเร็จมาแล้ว อาศัยปุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกชาติหนหลังได้ เป็นสักขีพยาน  ในนรกมีน้ำทองแดง   พระองค์ก็เคยไปแหวกว่ายมาแล้ว


          เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์นำมาสอนเรานี่ เป็นสิ่งพระองค์ได้ทดสอบมาแล้วด้วยตนเอง แล้วก็เป็นเรื่องส่วนตัวของพระองค์เองด้วย

          นอกจากพระองค์จะรู้เรื่องของพระองค์แล้ว ยังรู้เรื่องของสัตว์อื่นคนอื่นด้วยว่า กัมมัง สัตเต วิภชติ  กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้มีประเภทต่างๆ กัน  ในจักรวาลนี้สัตว์บางตัวก็ ๒ ขา หัวชี้ฟ้า บางตัวก็ ๔ ขา มีหาง บางตัวก็ไม่มีแข้งมีขา เลื้อยไปเหมือนงูที่มันเป็นเช่นนั้น เพราะอะไรเป็นผู้แบ่งกรรมเป็นผู้กำหนด กรรมเป็นผู้แบ่ง    เพราะฉะนั้น พระองค์รู้แจ้งเห็นชัดอย่างนี้จึงได้สอนให้เราพิจารณาเสมอว่า เรามีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย  ใครจะทำกรรม     อันใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จะได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน

         อันนี้เป็นวิชชาที่พระองค์รู้เป็นประการที่ ๒

       ประการสุดท้าย อาสวักขยญาณ วิชชาที่รู้กิเลสอันเป็นมูลเหตุให้สัตว์ทั้งหลายต้องทำกรรม คือ อวิชชา ความรู้ไม่จริง คนและสัตว์ทั้งหลายในเมื่อรู้ไม่จริงก็ทำกรรมไปตามที่ตนเข้าใจ เข้าใจว่ามันถูกต้อง  แต่เสร็จแล้วเพราะความรู้ไม่จริง ความรู้ผิด ก็ทำกรรมผิดบ้างถูกบ้าง  ในเมื่อทำกรรมไปแล้วก็ได้รับผล ของกรรม ได้รับผลของกรรมแล้วก็ต้องเกิดอีกเกิดอีกก็มาอาศัยกิเลสตัวเดียวคืออวิชชาทำกรรมอยู่ร่ำไป จนกว่าผู้นั้นจะบำเพ็ญบารมีจนได้สำเร็จพระอรหันต์นั่นแหละจึงจะตัดกระแสกรรมให้ขาดสะบั้นลงไปได้


         เพราะฉะนั้น อะไรๆ เราเชื่อไว้ก่อนเถอะ สิ่งนี้มันเป็นบาป พระองค์เคยทำบาปมาแล้ว สิ่งนี้เป็นบุญ พระองค์เคยทำบุญมาแล้ว สิ่งนี้บำเพ็ญให้ถูกต้องแล้วสำเร็จมรรคผลนิพพาน พระองค์ก็เคยบำเพ็ญสำเร็จมาแล้ว  เพราะฉะนั้นเราจะไปข้องใจสงสัยอะไร


 

ตามรอยพระพุทธเจ้า


           ธรรมะคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง  แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เราจะเอาจริงหรือไม่  เรา จะตามรอยพระบาทยุคล เราจะตามรอยพระอรหันต์


          เป็นคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าฆ่าไม่เป็น อย่าไปฆ่า  พระพุทธเจ้าลักขโมยไม่เป็น อย่าไปลักขโมย  พระพุทธเจ้าไม่ไปขโมยลูกขโมยเมียใคร  อย่าไปทำเช่นนั้น  พระพุทธเจ้าไม่โกหก หลอกลวง ก็อย่าไปโกหกหลอกลวง  พระพุทธเจ้าไม่ดื่มน้ำดองของเมาไม่อิจฉาตาร้อนใคร   ก็อย่าไปทำเช่นนั้น   ก็ได้ชื่อว่าเราปฏิบัติตามพระบรมศาสดาของเราอย่างบุคคลผู้ว่าง่ายก็ได้ชื่อว่าตามรอยบาทยุคลของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


           ทีนี้ ระดับสูงๆ ขึ้นไปเช่นพวกนักบวชทั้งหลาย ก็ต้องเคารพต่อสิกขาบทวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้   อย่าไปละเมิดฝ่าฝืน  พยายามรักษาให้ดีที่สุด  เรื่องวินัยคือศีลนี่   ถ้าเรารักษาศีลไม่บริสุทธิ์ เราอย่าไปคุยเลยว่าเราสำเร็จมรรคผล  นิพพาน มันเป็นไปไม่ได้


          พระภิกษุองค์หนึ่งเด็ดใบไม้ใบเดียว ภิกษุเด็ดใบไม้ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ท่านผู้นั้นก็นึกว่ามันเรื่องเล็กน้อย   ไม่ต้องสนใจที่จะแสดงอาบัติ แล้วก็ปล่อยให้เวลามันล่วงไป  บำเพ็ญเพียรอยู่สองหมื่นปี ไม่สำเร็จมรรคผลใดๆ  ตายแล้วไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน  เป็นพญานาค  นี่ เพียงแค่เด็ดใบไม้ใบเดียวเท่านั้นพาให้เป็นบาป ไปเกิดเป็นพญานาค เป็นพญานาคอยู่สิ้นพุทธันดรหนึ่ง คือ ในระหว่างที่ว่างจากศาสนา ระหว่างศาสนา พระพุทธเจ้ากัสสโปกับพระพุทธเจ้าโคตโม  มันว่างอยู่ตรงนี้ พระภิกษุองค์นั้นไปเกิดเป็นพญานาคอยู่พุทธันดรหนึ่งจนกระทั่งพระพุทธเจ้าของเราอุบัติเกิดขึ้นในโลก  คนทั้งหลายก็ร่ำลือกันว่า  สมณะศากยบุตรออกจากศากยตระกูล  ทรงผนวชแล้วได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาเอกของโลก คนทั้งหลายก็พากันคลั่งพระอรหันต์


          พญานาคอยากจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าเกิดมาจริงหรือเปล่าก็แผ่พังพานขึ้นมากลางแม่น้ำ  ให้ลูกสาวแต่งตัวสวยหยดย้อย แต่งเพลงมาให้ลูกสาวร้อง   ใครเอ่ยชื่อว่ามีธุลีบนพระเศียร   ใครเอ่ยชื่อว่ามีธุลีไปปลาสแล้ว    ถ้าใครตอบได้จะยกลูกสาวให้กับสมบัติในพิภพพญานาค


          ทีนี้เจ้าหนุ่มทั้งหลายก็อยากได้ลูกสาวพญานาค  อยากได้สมบัติของพญาค ก็ไปแก้ปัญหา ไม่มีใครแก้ถูก


          อยู่มาวันหนึ่ง อุตรมานพเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า   นำปัญหานี้ไปถามพระพุทธเจ้า ถามว่าใครเอ่ยชื่อว่ามีธุลีบนพระเศียร    ใครเอ่ยชื่อว่ามีธุลีไปปลาสแล้ว


        พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า    คนที่ยังหมกมุ่นด้วยโลกียวิสัย ย่อมมีอาสวกิเลส   ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีธุลีบนพระเศียร    พระอรหันต์ขีณาสพที่ขจัดอาสวกิเลสคืออวิชชาให้หมดสิ้นไปจากจิตสันดาน   ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีธุลีไปปลาสแล้ว


         อุตรมานพได้คำตอบแล้วไปตอบปัญหาลูกสาวพญานาค   ก็ตอบถูกต้อง  พอพญานาคได้ยินก็ขึ้นมาหาอุตรมานพ   ให้อุตรมานพพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมให้ฟัง   อุตรมานพก็ได้สำเร็จพระอรหันต์    พญานาคได้ความเสื่อมใสในพระรัตนตรัย  มีอุปนิสัยบารมีจะสำเร็จเป็นโสดาบัน   แต่ขัดข้องอยู่ตรงที่ว่าตนนั้นเกิดในภูมิสัตว์เดรัจฉานจึงไม่สามารถที่จะสำเร็จพระโสดาบันได้


         ดังนั้น พื้นฐานในการปฏิบัติ การปรับพื้นฐานมนุษย์ให้สมบูรณ์ เราอาศัยหลักศีล ๕ ข้อ  เมื่อเรามีศีล ๕ ข้อบริสุทธิ์บริบูรณ์  แถมกุศลกรรมบถ ๑๐ เข้าไปด้วย   ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์  เหมือนกับภาชนะทองคอยรองรับคุณธรรมคืออริยมรรคอริยผลต่ำ ที่สุดนอกจากมนุษย์แล้วไม่มีใครที่จะสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผล    สูงขึ้นไปคือเทวดา


         เพราะฉะนั้น สีเลน สุคติง ยันติ  สีเลน โภคสัมปทา   สีเลน นิพพุติง ยันติ  ตัสมา สีลัง วิโสธเย สาธุชนพึงชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์ ด้วยประการฉะนี้

         ได้บรรยายธรรมะพอเป็นคติเตือนใจของคนหนุ่มและคนแก่ทั้งหลายพอสมควรแก่กาลเวลา  ในท้ายที่สุดนี้ ขอบารมีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงคุ้มครองท่านทั้งหลายให้มีความสุขกายสุขใจ ปรารถนามรรคผลนิพพานใดๆ  ก็ให้สำเร็จตามใจที่ปรารถนาในปัจจุบันและอนาคตกาลเบื้องหน้าโดยทั่วกันทุกท่าน

 



แก้ไขล่าสุด ( วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม 2013 เวลา 01:54 น. )