สมาธิที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ พิมพ์
เขียนโดย Administrator   
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2010 เวลา 11:42 น.
หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย


          ความเข้าใจของนักสมาธิในปัจจุบันนี้  ประเภทหนึ่ง  พอเราบริกรรมภาวนาก็ดี หรือกำหนดอะไรก็ดี แล้วก็ข่มจิตบังคับจิตให้มันหยุดนิ่ง  อาศัยการฝึกจนคล่องชำนิชำนาญ เราจะให้หยุดเมื่อไร มันก็หยุดได้  แต่มันไม่ใช่สมาธิ

  


          สมาธิที่เป็นไปในทางที่ถูกต้อง เช่น เราบริกรรมภาวนา สัมมา-อรหัง ยุบหนอ-พองหนอ พุทโธ ก็ตาม เราไม่ได้บังคับจิต  หน้าที่ของเราท่องบริกรรมภาวนาอย่างเดียว จิตจะสงบเป็นเรื่องของจิต ไม่สงบเป็นเรื่องของจิต  ธรรมชาติของจิต เมื่อจิตมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก จิตจะเกิดพลังขึ้น   เมื่อจิตรู้อยู่กับคำบริกรรมภาวนา เราไม่ต้องบังคับ  ถึงจังหวะ เขาจะสงบของเขาเอง

          อันนี้เรียกว่าสมาธิตามธรรมชาติ

 

         ทีนี้พอจิตสงบพั้บลงไปนิดหน่อย พอรู้สึกสบายๆ “สงบหนอ” จิตก็ถอนจากสมาธิ  พอเผลอๆ ไป มีปีตินิดหน่อย “ปีติหนอ” จิตจะถอนจากสมาธิ  พอมีความสุข “สุขหนอ” จิตก็ถอนจากสมาธิ  เสร็จแล้วมันก็ไม่เข้าไปถึงสมาธิตามหลักธรรมชาติสักที เพราะฉะนั้นเราจึงแก้ปัญหาเรื่องสมาธิไม่ตก

         แต่จะด้วยประการใดก็ตาม ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชน จุดยืนของจิตของเรา คือ คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์


          พระพุทธเจ้าคืออะไร


          พระธรรมคืออะไร


          พระสงฆ์คืออะไร


          พระพุทธเจ้า คือจิตมีสติรู้สึกสำนึกรับผิดชอบชั่วดีอยู่ตลอดเวลา  หมายถึงว่าจิตมีสติรู้ตัวอยู่ เป็นจิตผู้รู้
 

         เมื่อจิตมีสติเข้มแข็ง ก็เป็นจิตผู้ตื่น  ตื่น เตรียมพร้อมที่จะรับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา  พออะไรเกิดขึ้นมาพั้บ      รู้พั้บ  เกิดขึ้นมาพั้บ รู้พั้บ  รู้แล้วก็ทิ้งไปๆๆๆ  ถ้าอะไรข้องใจ จิตจะหยิบมาพิจารณาของมันเอง  พอมันพิจารณาตกไปแล้ว มันทิ้งพั้บ มันจะเป็นกันอยู่อย่างนี้

  

          อันนี้เป็นสมาธิที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ  เวลามันจะสงบ      มันก็สงบ วูบๆๆๆ ลงไป จนกระทั่งตัวหาย  เวลามันสงบพั้บลงไปนิดหนึ่ง มันจะเกิดความรู้ มันก็ผุดขึ้นๆๆๆๆ อย่างกับน้ำพุ  อันนี้คือสมาธิตามหลักของธรรมชาติ

  

          เพราะฉะนั้น ในเมื่อใครมีจิตรู้ตัวด้วยสติ ตื่นอยู่ด้วยความ    มีสติ แล้วก็เบิกบานอยู่ด้วยความมีสติ  เป็นจิตพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้ เบิกบาน