A Free Template from Joomlashack

A Free Template from Joomlashack

แบบสำรวจ

ท่านกำลังใช้ระบบปฏิบัติการ (OS) อะไรอยู่ ?
 

Search

ผู้เข้าเว็บขณะนี้

เรามี 90 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

JComments Latest

  • Thanks for finally writing about >%blog_title%
  • Поиск магазинов, где можно приобрести шаровые кран...
  • 111 Here is my web page - stk-optimum.ru: https://...
  • My homepage; pokerkingrussia .ru: https://pokerkin...
  • Бароль изучал каббалу. Э. My blog post https://hir...
ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ตอนที่ 13 PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย Administrator   
วันพฤหัสบดีที่ 08 มีนาคม 2012 เวลา 03:52 น.

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย  

ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ๑๓

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ

พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓

 


พรรษาที่ ๔๗ - ๔๘ ( พ.ศ. ๒๕๓๑ - ๒๕๓๒)

จำพรรษา ที่

วัดวะภูแก้ว ตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

ประวัติวัดวะภูแก้ว

          พ.ศ. ๒๕๒๓ พระสุวรรณ อินฺทสีโล ได้เดินธุดงค์มาปักกลดโปรดชาวบ้านบริเวณน้ำตกวะภูแก้ว ชาวบ้านเกิดความศรัทธาเลื่อมใส จึงอาราธนานิมนต์ท่านให้สร้างวัดขึ้น ท่านจึงได้นำความไปปรึกษากับพระอาจารย์ คือ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งที่พระชินวงศาจารย์

 

          เมื่อหลวงพ่อได้ฟังคำกราบเรียนจากพระสุวรรณนั้นแล้ว จึงได้ออกไปสำรวจดูสถานที่ แต่ยังไม่ได้ตกลงใจที่จะเลือกบริเวณที่จะสร้างวัด จนกระทั่งชาวบ้านวะภูแก้วมาแสดงความจำนงขอถวายที่ดินของตนเพื่อใช้เป็นสถานที่ขอสร้างวัด และปวารณาตัวที่จะช่วยหลวงพ่อสร้างวัด หลวงพ่อจึงตอบตกลงโดยให้

 

          พระสุวรรณทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสำนักสงฆ์และมีองค์หลวงพ่อเป็นประธานสงฆ์

 

          พ.ศ. ๒๕๒๘ หลวงพ่อได้มีบัญชาให้พระอาจารย์เจต ทีฆายุโก ผู้ซึ่งเป็นศิษย์จากสำนักวัดป่าสาลวัน มาทำหน้าที่หัวหน้าสำนักแทนพระสุวรรณ ซึ่งลาลิกขาบทไป

 

          พ.ศ. ๒๕๒๙ คณะศิษย์ของหลวงพ่อที่ทำงานอยู่ที่ป่าไม้เขตนครราชสีมาได้เป็นผู้ดำเนินงานในการติดต่อขออนุญาตกรมป่าโม้ เพื่อใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในเขตป่าสงวนแห่งชาติสูงเนิน เพื่อใช้ก่อสร้างวัดกรมป่าไม้ได้อนุมัติพื้นที่จำนวน ๑๕ ไร่ และยกพื้นที่อีก ๓๐๐ ไร่ ให้แก่กรมการศาสนาเพื่อใช้ทำประโยชน์เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๓๐

 

          ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ กรมการศาสนาอนุมัติให้วัดวะภูแก้วเป็นวัดโดยสมบูรณ์ มีพระอาจารย์เงิน ภทฺทโก เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก และพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งที่ พระภาวนาพิศาลเถร เป็นประธานสงฆ์

 

          เนื่องจากเจ้าอาวาสองค์เดิมมรณภาพลง หลวงพ่อได้ทำหน้าที่ประธานสงฆ์และรักษาการเจ้าอาวาสมาเป็นลำดับ จนกระทั่งท่านมรณภาพลง ทางเจ้าคณะจังหวัดโดยพระราชวรญาณ (วิจิตร จิตฺตทตฺโต) จึงดำริแต่งตั้งเจ้าอาวาสองค์ใหม่เพื่อประสานงานของหลวงพ่อต่อไป จึงมีความเห็นชอบแต่งตั้งพระปลัดกิตติ ติกฺขวีโร เป็นเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๒

 

 

ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ

๑. ความเป็นมาของศูนย์พัฒนาจิตในความอุปถัมภ์ของพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

     ๑.๑ โครงการอบรมสมาธิครู (อบรมพัฒนาจิต)

          พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๘ หน่วยศึกษานิเทศก์กรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา ๑๑ ได้จัดให้มีการอบรมสมาธิครูผู้สอนพระพุทธศาสนาในเขต เพื่อให้ครูสามารถสอนเรื่องสมาธิตามหลักสูตรได้ การจัดอบรมแบ่งเป็น ๒ รุ่น ๆ ละประมาณ ๖๐-๘๐ คน หลักสูตร ๗ วัน โดยจัดที่วัดป่าสาลวัน

 

          พ.ศ. ๒๕๓๑ จัดอบรมสมาธิให้ครูผู้รับผิดชอบงานปลูกฝังคุณธรรมในโรงเรียน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนางานปลูกฝังคุณธรรมโดยการอบรมพัฒนาจิต การอบรมแบ่งเป็น ๒ รุ่น ๆ ละ ๙๐ คน หลักสูตร ๗ วัน โดยยังคงจัดที่วัดป่าสาลวัน

 

          พ.ศ. ๒๕๓๒ ดำเนินการจัดอบรมครูผู้รับผิดชอบงานปลูกฝังคุณธรรมและครูผู้สนใจ ๒ รุ่น เนื่องจากศาลาปฏิบัติธรรมที่วัดวะภูแก้วสร้างเสร็จในปีนี้ จึงย้ายสถานที่อบรมมาวัดวะภูแก้ว

 

          พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๔๒ ได้จัดอบรมสมาธิครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนาปีละ ๑ รุ่น รุ่นละ ๗ วัน โดยจัดที่วัดวะภูแล้วตลอดหลักสูตร และจัดการอบรมผู้บริหารสถานศึกษาทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ผู้ช่วยผู้บริหารฯ และครูทั่วไปอีกหลายรุ่น

 

     ๑.๒ โครงการอบรมพัฒนาจิตนักเรียน

          พ.ศ. ๒๕๓๓ ครูโรงเรียนขามทะเลสอวิทยา อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสมา ซึ่งเคยผ่านการอบรมสมาธิครู และได้ผลในด้านการพัฒนาตนเองเป็นอย่างดี มีความประสงค์จะขยายผลไปสู่นักเรียน จึงได้ประสานงานให้หน่วยศึกษานิเทศก์ เขตการศึกษา ๑๑ จัดหลักสูตรอบรมนักเรียนให้ จึงได้เริ่มอบรมพัฒนาจิตนักเรียนรุ่น ๑ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓ และได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๒)

 

 

     ๑.๓ โครงการวัยรุ่นยุคใหม่ห่างไกลยาบ้า

          พ.ศ. ๒๕๔๐ โรงเรียนหนองกราดวัฒนา อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ได้มาประสานงานให้จัดโครงการเพื่อช่วยนักเรียนกลุ่มหนึ่งซึงติดยาบ้า กลุ่มนำร่องเป็นนักเรียนที่เคยผ่านการอบรมพัฒนาจิตมาแล้ว และเกิดจิตสำนึกที่ดี จึงมีความต้องการเลิกยาบ้า และได้ชักชวนเพื่อนคนอื่น ๆ ให้มาเลิกยาบ้าด้วย จึงได้ขอความร่วมมือไปยังศูนย์วิจัยอนามัยชนบท มหาวิทยาลัยมหิดลและโรงพยาบาลสูงเนินซึ่งส่งข้าราชการมาร่วมเป็นวิทยาการในการอบรมนักเรียนในเรื่องยาเสพย์ติด

 

 

 

     ๑.๔ โครงการอบรมพัฒนาจิตข้าราชการสังกัดอื่น

          วัดวะภูแล้วได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยราชการอื่น นอกเหนือจากครูและนักเรียนในการอบรมพัฒนาจิตเพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนางานได้แก่ ข้าราชการตำรวจ (ตำรวจภูธรภาค ๓ และกองบัญชาการศึกษา กรมตำรวจ) ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

 

     ๑.๕ โครงการพัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ กระทรวงศึกษาธิการ

          พ.ศ. ๒๕๔๒ กระทรวงศึกษาธิการได้เลือกวัดวะภูแก้วเป็น “ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ กระทรวงศึกษาธิการ จังหวัดนครราชสีมา” โดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์) ได้มาเป็นประธานในการเปิดศูนย์ฯ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๒

 

 

๒. หลักสูตรการอบรม

          ๑. ความสัมพันธ์ระหว่างสมาธิกับชีวิตประจำวัน

          ๒. ประโยชน์ของสมาธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

          ๓. หลักการฝึกสมาธิตามแนวพระพุทธศาสนา

          ๔. หลักธรรมในพระพุทธศาสนา เช่น ศีล ๕ กรรม อิทธิบาท ๔ ฯลฯ

          ๕. พุทธประวัติและประวัติพระอรหันตสาวก

 

 

๓. ผลเชิงปริมาณ

          ๑.    การอบรมที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ จนถึงปัจจุบัน (ธันวาคม ๒๕๔๒) ได้ผลเชิงปริมาณดังนี้

          อบรมนักเรียนนักศึกษา        ๑๘๖    รุ่น     จำนวน      ๕๙,๑๗๙       คน

          อบรมครู                            ๒๓    รุ่น       จำนวน         ๓,๓๐๕       คน

          อบรมข้าราชการตำรวจ          ๑๖    รุ่น     จำนวน         ๓,๑๘๖       คน

          อบรมสามเณร                        ๑    รุ่น     จำนวน            ๑๕๑       รูป

 

 

๔. ผลเชิงคุณภาพ

          ผู้ผ่านการอบรมประมาณ ๘๐ % ขึ้นไปมีผลดังนี้คือ มีการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ลด ละ เลิกอบายมุข มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานและครอบครัวมากขึ้น เกิดคุณธรรม เช่น ความกตัญญู ความรับผิดชอบ ความมีน้ำใจ ฯลฯ มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น เห็นประโยชน์ในการปฏิบัติธรรม และนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

 

 

ปลูกฝังคุณธรรมให้เด็ก ๆ

ปลูกฝังนิสัยเด็กรุ่นใหม่นี่ให้มันเข้าใจเรื่องศาสนาให้มันถูกต้อง

          หลวงพ่อเร่งอบรมเด็ก ๆ ระดับมัธยม ปลูกฝังนิสัยเด็กรุ่นใหม่นี่ให้เขาเข้าใจเรื่องศาสนาให้ถูกต้อง

 

          ว่ากันโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว แม้คณะสงฆ์เราก็เข้าใจเรื่องศาสนาไม่ถูกต้อง เอากันเพียงแต่ว่านักปฏิบัติ พุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอพองหนอ ท่านยังพูดเรื่องสมาธิไม่ตรงกัน ถ้าใครมีประสบการณ์หรือศึกษามาทุกด้านทุกมุมเกี่ยวกับพระศาสนานี่ จะมองเห็นได้ชัดเลยว่าคณะใดสอนกันแบบใด หรือปฏิบัติแบบใด และเพื่ออะไร บางสำนักสอนเอาเรื่องสะกดจิตเข้ามาแทรก บางสำนักสอนแล้วกลายเป็นคนทรงวิญญาณซึ่งไม่ใช่เรื่องของพระพุทธศาสนา

 

          เล่นกับพวกเด็ก ๆ นี่เราได้ข้อมูลมาเยอะ คือเด็กมันยังไม่ได้ท่องตำรามา แล้วมันโกหกเราไม่เป็นพอให้นั่งปั๊บ พอเราถามว่าเป็นอย่างไร นั่งสมาธิ ถ้าใครเป็นอย่างไร มันจะบอกว่าเป็นอย่างนั้น ๆ ๆ ไปเลย อย่างดีมันก็ถามว่า เมื่อเป็นอย่างนี้อันนี้เรียกว่าอะไรเท่านั้น

 

          แล้วอีกอย่างหนึ่ง เราไปเล่นกับเด็กนี่มีแต่ให้กับให้ เราไปเที่ยวเทศน์สอนผู้หลักผู้ใหญ่ คล้าย ๆ กับว่าเราไปหากินกับคนใหญ่

 

          ..พวกเด็ก ๆ เขาสนใจอยู่ แต่ว่าบางทีผู้ให้การอบรมนี่มันไม่สัมพันธ์กับการศึกษาของเขา มีแต่ มีแนวโน้มให้เขาทิ้งงานการในหน้าที่ แล้วไปเข้าวัดนั่งสมาธิภาวนา แต่พวกเรา ทำอย่างไรนักศึกษาเขาจึงจะรู้ตัวว่า เขากำลังฝึกสมาธิอยู่ในห้องเรียน เวลาเขาเรียนนั่นแหละ ทำอย่างไรเขาจึงจะเข้าใจว่าเขากำลังฝึกสมาธิอยู่ นี่ปัญหาใหญ่ของพวกเราอยู่ที่จุดนี้ แล้วอันดับต่อไป ผู้ใหญ่ ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจหรือยอมรับว่าการทำงานคือการฝึกสมาธิ นี่ถ้าหากว่าเราสามารถทำความเข้าใจในสองจุดนี้ได้ คนทั้งหลายจะไม่เบื่อหน่ายต่อการฝึกสมาธิ เพราะว่ามันมีแนวโน้มไปในทางที่ว่าสร้างพลังจิต สร้างพลังสมาธิ สร้างพลังสติปัญญาเพื่อสนับสนุนธุรกิจอันเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน

 

 

 

เด็กพุทธเด็กคริสต์ภาวนาร่วมกัน

เด็กพุทธภาวนา “ พุทโธ” เด็กคริสต์ภาวนา “ เยซู” จิตสงบเหมือนกัน

          หลวงพ่อได้ข้อมูลที่จะนำมาเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟัง เพื่อเป็นแนวทางพิจารณา โรงเรียนอัสสัมชัญเขานำเด็กนักเรียนมัธยม ระดับ ม.๔ ม.๕ ไปฝึกสมาธิที่วัดวะภูแก้ว อำเภอสูงเนิน เด็กที่ไปฝึกสมาธินั้นมีทั้งเด็กชาวคริสต์ เด็กชาวพุทธ หรือบางทีอาจจะมีเด็กอิสลามปนไปด้วย พอถึงเวลาจะปฏิบัติสมาธิ ก็มีการไหว้พระสวดมนต์กันตามขนบธรรมเนียม แล้วมีการกราบ มีการไหว้ แล้วก็มีการสวดมนต์ ก่อนอื่นก็ให้คำเตือนเด็ก ๆ ทั้งหลายว่า พระเจ้าของแต่ละบุคคลอยู่ที่ใจของตน ๆ ถ้าผู้ใดมีพระเจ้าอยู่ในใจ กราบลงที่ใดก็ถูกพระเจ้าของตัวเอง เด็กกราบหมดทุกคน

          ที่นี้พอถึงเวลาสวดมนต์

 

          เอ้า! ชาวพุทธสวด อิติปิโส สวากฺขาโต สุปฏิปนฺโน ชาวคริสต์สวดมนต์ตามแบบฉบับของศาสนาของตนเอง

 

          ทีนี้ชาวพุทธเราก็สวดอิติปิโส ของเขาก็สวดตามสูตรของเขา สวดไปที่ตรงโน้นบ้างตรงนั้นบ้างตามที่เขาเรียนมา พอถึงเวลานั่งสมาธิภาวนา ชาวพุทธภาวนา พุทโธ ชาวคริสต์ภาวนานึกถึงพระเจ้าของตัวเอง แล้วเด็กทุกคนก็นั่งสมาธิร่วมกัน ทั้งเด็กชาวพุทธ ชาวคริสต์

 

          พอปฏิบัติสมาธิผ่านไปประมาณชั่วโมงเศษ ๆ พอลงให้พัก เด็กชาวพุทธกับเด็กชาวคริสต์ก็หันหน้าเข้ามาคุยกัน แล้วมาถามกันว่า

 

          “เธอภาวนาระลึกถึงพระเจ้าของเธอ จิตของเธอเป็นอย่างไรบ้าง” เด็กชาวพุทธถามเด็กชาวคริสต์

          เขาก็บอกว่า

 

          “ฉันภาวนานึกถึงผู้แทนพระเจ้าของเรา คือพระเยซู ฉันก็บริกรรมภาวนา เยซู ๆ ๆ พอบริกรรมภาวนาไปมันมีอาการเคลิ้ม ๆ เหมือนกับจะง่วงนอน เสร็จแล้วจิตก็วูบลงไปนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน มีความสุข ความสบาย มีปีติ กายเบาจิตเบา กายสงบจิตสงบ มีปีติ มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก ถึงในชีวิตไม่เคยพบกับความสงบและความสุขอย่างนี้เลย แล้วเธอล่ะ เธอเป็นชาวพุทธเธอภาวนาอะไร”

 

          “ดิฉันก็ภาวนาพุทโธ ๆ ๆ ของฉัน เพราะพระเจ้าของฉันก็คือพระพุทธเจ้า ฉันก็นึกถึงพระเจ้าของอัน”

 

          “เมื่อเธอนึกถึงพระเจ้าของเธอแล้วจิตของเธอเป็นอย่างไร”

 

          เด็กชาวพุทธก็บอกว่า

 

          “ในเมื่อนึกถึงพระเจ้าของฉันคือพุทโธ ๆ จิตของฉันก็สงบลง พอสงบลงไปแล้ว ก็รู้ ตื่น เบิกบาน สว่างไสว”

 

          “อ้าว! ทำไมมันเป็นเหมือนกัน”

 

          เด็กก็เลยเกิดความสงสัย พอเสร็จแล้วก็มาถาม แล้วต่างคนก็ต่างเล่าความเป็นไปของจิตของตนเองให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ท่านก็บอกว่า

 

          คำที่เรานึกบริกรรมภาวนาอยู่นั้นมันเป็นแต่เพียงคำพูด เป็นแต่เพียงอารมณ์จิต เราท่องบริกรรมภาวนาเพื่อให้จิตลงบเป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว สมาธิเป็นสัจธรรมมีหนึ่งเดียว ใครจิตสงบเป็นสมาธิแล้วจะเป็นแตกต่างกันไม่ได้ ต้องเป็นอย่างเดียวกัน คือจิตสงบนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน มีปีติ มีความสุขออย่างเดียวกันหมด ไม่มีแตกต่างอันนั้นคือสัจธรรมความจริง

 

          ที่นี้เด็กชาวคริสต์ก็บอกว่า

 

          เอ้า! ถ้าอย่างนั้นพระเจ้าของเธอ กับพระเจ้าของฉันก็องค์เดียวกันซิ

 

          ถ้าว่าโดยคุณธรรมก็เป็นองค์เดียวกัน คือ จิตรู้ ตื่น เบิกบานเหมือนกัน แต่ถ้าโดยชื่อ โดยภาษาสมมติ บัญญัติแล้วก็เป็นคนละองค์ นี่ข้อมูลที่ได้มาจากเด็กต่างศาสนาแต่ไปทำสมาธิภาวนาร่วมกัน ในขณะเดียวกัน สถานที่แห่งเดียวกัน อาจารย์เดียวกันสอน คืออาจารย์จันทร์ เขมสิริ อดีตเจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณ์ ท่านไปควบคุมราชการอยู่นั้น

 

          เพราะฉะนั้น ในเมื่อเรามาอาศัยข้อมูลดังที่กล่าวนี้ ถ้าพิจารณาให้ซึ้งแล้ว คำบริกรรมภาวนาแต่ละอย่างนั้นเป็นแต่เพียงอารมณ์จิต เป็นแต่เพียงสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ ใครจะบริกรรมภาวนาแบบไหนอย่างไรก็ได้ เพราะฉะนั้น หลวงพ่อไปเทศน์ที่ไหน เพื่อแก้ข้อข้องใจบรรดานักปฏิบัติทั้งหลาย มักจะไปข้องใจอยู่ว่าภาวนาพุทโธดีไหม สัมมาอรหังดีไหม หรือยุบหนอพองหนอดีไหม แล้วก็ข้องใจกัน ตัดสินใจไม่ลง ไม่ทราบว่าจะเอาแบบไหน ดังนั้นจึงได้เล่านิทานเกี่ยวกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าให้ฟังก็มาย้ำกันอยู่ตรงนี้

 

 

สอนเด็กให้รู้บุญคุณบิดามารดา

พ่อแม่ พระพุทธเจ้ายกย่อง ยกฐานะเทียบเท่าพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา

          นอกจากจะเอาดีกับพระพุทธเจ้าแล้ว เราควรจะรู้จักที่เกิดของคนเรา ทุกคนเกิดมาจากคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ของเรา บรรดาทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ในโลกนี้ สิ่งที่ท่านปรารถนาอันเป็นยอดแห่งความต้องการคือการมีบุตรสืบสกุล นี้คือความต้องการของคุณพ่อคุณแม่อยู่พื้นที่ตรงนี้

 

          ที่นี้พ่อแม่ของเราเป็นผู้ให้กำเนิด คือเป็นผู้ให้เกิด เมื่อท่านให้เราเกิดแล้วท่านก็เป็นผู้อุปถัมภ์เลี้ยงดูเราจนเติบใหญ่ ไม่ได้เลี้ยงดูให้ใหญ่โตเพียงแค่เนื้อหนัง ยังให้ใหญ่โต เติบโตด้วยฐานะตำแหน่งหน้าที่การงาน ซึ่งเราได้มูลฐานนี้มาจากพ่อแม่ทั้งนั้น ได้ร่างกายจิตใจ ได้วิชาความรู้ ได้ทรัพย์สินสมบัติ

 

          ดังนั้นพ่อแม่ท่านจึงมีคุณงามความดีที่เป็นพื้นฐาน คือมีพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา พ่อแม่ทุกคนมีความรักมีความปรารถนาดี ที่จะช่วยให้บุตรของตนพ้นจากความทุกข์ยากลำบาก เมื่อบุตรของตัวเองได้รับความสุขสบาย มุทิตา พลอยยินดี ไม่มีพ่อแม่คนไหนอิจฉาตาร้อนลูกเต้าของตนเอง เมื่อลูกมีความสุขสมบูรณ์ดีพร้อม ทุกสิ่งทุกอย่างพ่อแม่เบาใจได้ คือ อุเบกขา

 

          เพราะอาศัยที่ท่านมีคุณธรรมดังกล่าวมาแล้ว ท่านจึงได้ชื่อว่าเป็นพระพรหมของเรา พ่อแม่ของเรามี ๔ หน้า เรามองเห็นพ่อแม่มีเพียงหน้าเดียว แต่ความรู้สึกของท่านมี ๔ หน้า

 

          หน้าที่ ๑ เมตตา ความรักความปรารถนาดี

          หน้าที่ ๒ กรุณา คิดจะช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์ความลำบาก

          หน้าที่ ๓ มุทิตา พลอยยินดีเมื่อลูกตัวเองได้ดีมีความสุขสบาย

          หน้าที่ ๔ อุเบกขา เบาใจยิ้มแย้มแจ่มใส ภาคภูมิใจดีอกดีใจที่ลูกของตนเองได้มีความสุขสบาย วางใจได้

 

          อันนี้เป็นคุณธรรมที่มีในจิตใจคุณพ่อคุณแม่

 

          ดังนั้นท่านสมควรที่จะได้รับขนานนามจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นพรหมของลูก พ่อแม่ของเราเป็นพระพรหม เป็นพระพรหมของเรา ใครจะว่าพ่อแม่เราไม่ใช่พระพรหม เราจะว่าของเราเอง เพราะพ่อแม่ของเรามีคุณธรรม ๔ คือพรหมวิหาร

 

          ที่นี้ในเมื่อพ่อแม่มีพรหมวิหาร เป็นพระพรหมของเรา นอกจากจะเป็นพระพรหมของเราแล้ว เพราะอาศัยที่ท่านมีความบริสุทธิ์ คือบริสุทธิ์ใจต่อลูกของตนเอง เลี้ยงมาด้วยความรัก เลี้ยงมาด้วยความเมตตา เลี้ยงมาด้วยความดีอกดีใจในเมื่อลูกมีความสุข เลี้ยงมาด้วยความร่าเริงบันเทิงใจ เป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ สะอาด ไม่มีความอิจฉาตาร้อน ไม่เคยคิดที่จะให้ลูกเต้าของตนเองต้องลำบาก ท่านจึงเป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ต่อลูกทุก ๆ คน

 

          นี่ขอแทรกนิยายเล็ก ๆ สักหน่อยหนึ่ง มีเด็กซุกซนคนหนึ่งชอบไปเที่ยวเล่นในป่า เพราะบ้านเขาอยู่ใกล้ป่าละเมาะ ในป่านั้นมีสัตว์ร้าย อย่างน้อยก็มีควายเปลี่ยวที่มันดุ ๆ ไล่ขวิดไล่ชนเด็ก เขาบอกกับแม่ของเขาว่า

 

          “แม่ครับ ผมจะไปเที่ยวเล่นในป่า”

          พอแม่ได้ยิน

          “อย่าไปเลยลูก มันจะเกิดอันตราย ไปคนหนึ่งคนเดียว ผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ได้ไปด้วย”

          “ผมจะไปครับ แม่อย่าห้ามผมเลย”

          ไอ้เจ้าเด็กซุกซนก็วิ่งเข้าในป่าไป แม่ก็ชักอารมณ์เสีย

          “เออ! เอ็งเข้าไปในป่าให้ควายเปลี่ยวมันขวิดแกตายซะนะ”

 

          พอเด็กวิ่งเข้าไปในป่า ควายที่ดุ ๆ ควายเปลี่ยวมันก็วิ่งถลันเข้ามาทันที ไอ้เจ้าเด็กน้อยเห็นควายมันวิ่งเข้ามาจะชนเอาก็อธิษฐานจิตและกล่าวด้วยวาจาเบา ๆ พอตัวเองได้ยินว่า

 

          “สิ่งใดที่แม่ข้าพเจ้าคิดด้วยใจสิ่งนั้นจงเป็นจริง สิ่งใดที่แม่ข้าพเจ้าพูดด้วยปากขออย่าให้สิ่งนั้นเป็นจริง”

 

          พอเด็กพูดขึ้นแล้วก็สำรวมจิตอธิษฐานจิตระลึกถึงคุณแม่ ไอ้เจ้าควายตัวเบ้อเริ่มมันก้มลงทำท่าจะขวิดมันก็ดีดคอมันไม่ขึ้น คอแข็งทื่อไปเลย นี้แสดงว่าพ่อแม่ของเราปากร้ายแต่ว่าใจดี

 

          เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้มีใจอันบริสุทธิ์ต่อลูก แม้ปากจะพูดว่าให้ควายชนแกตายเถอะนะ ก็พูดแต่ปาก แต่ใจไม่ได้นึกอย่างนั้น ใจจริงน่ะ ไม่ต้องการที่จะให้ลูกเราประสบเหตุอย่างนั้น ดังนั้น เด็กน้อยคนนั้นอธิษฐานจิตพูดออกมาว่า สิ่งใดที่พ่อแม่ข้าพเจ้าคิดในใจสิ่งนั้นจงเป็นจริง สิ่งใดที่แม่ข้าพเจ้าพูดด้วยปากสิ่งนั้นจงอย่าเป็นจริง เพราะแม่เขาไม่ได้คิดที่จะให้ลูกเต้าตาย ควายมันจึงทำร้ายเด็กน้อยคนนั้นไม่ได้

 

          อันนี้เป็นตัวอย่างแสดงว่าพ่อแม่มีน้ำใจอันบริสุทธิ์ต่อลูก ดังนั้นท่านจึงเป็นพระอรหันต์ของลูก

 

          อรหันตะ แปลว่าผู้ฆ่า ฆ่าความพยาบาทอาฆาต ฆ่าความเคียดแค้น ฆ่าความจองเวรจองกรรมกับลูกกับเต้า พ่อแม่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ท่านจึงเป็นผู้มีใจอันบริสุทธิ์ต่อลูก สมควรแล้วที่พระพุทธเจ้ายกย่อง ยกฐานะเทียบเท่าพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา

 

          ที่นี้พ่อแม่ของเรายังเป็นเนื้อนาบุญของลูก ลูกเต้าผู้แสวงบุญ ต้องการบุญ ต้องการกุศล ด้วยการปรนนิบัติก็ดี ด้วยการให้วัตถุสิ่งของก็ดี การให้มารดาบิดานั่นแหละเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐของเรา

 

          เมื่อพ่อแม่ของเรามีคุณธรรมดังที่กล่าวมาแล้ว ท่านจึงเป็นบุพพการีชน เป็นผู้ทำอุปการะก่อน

               ๑. ให้เราเกิด

               ๒. เลี้ยงดูเรามา

               ๓. อบรมสั่งสอนให้เป็นอันดีและส่งเข้าสู่สถาบันการศึกษา และอื่น ๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของท่าน

 

          ท่านปฏิบัติหน้าที่ของท่านไม่ขาดตกบกพร่อง พ่อแม่ของเรามีลูก ๑๐ คน แม้จะทุกข์ยากปากหมองอย่างไร ท่านก็อุตส่าห์พยายามเลี้ยงลูกของท่านจนใหญ่โต

 

          ที่นี้เราซึ่งเป็นลูก ๆ นี่สมมติว่าพ่อแม่ของเราท่านมีลูก ๑๐ คน ลูก ๑๐ คนนี้จะเลี้ยงดูพ่อแม่ได้หรือเปล่า อันนี้ให้นักเรียนทั้งหลายเอาไปคิด เวลานี้พวกเธอกำลังจะมาเลี้ยงน้ำใจพ่อแม่ มาเรียนมาศึกษาให้พ่อแม่ได้มีความภาคภูมิใจ อันนี้คือการเลี้ยงน้ำใจพ่อแม่ การเลี้ยงน้ำใจนี่ เป็นสิ่งประเสริฐที่สุด มาตาปิตุ อุปฏฺฐานํ การอุปัฏฐากเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นมงคลอันสูงสุด พวกหนู ๆ ยังเล็กหาเงินหาทองยังไม่ได้จะไปเลี้ยงพ่อแม่ใหญ่โตได้อย่างไร เลี้ยงได้ซิ คือ

 

               ๑. เอาอกเอาใจ

               ๒. รับใช้

               ๓. ทำดังที่ท่านต้องการให้สำเร็จ

 

          นี้คือการเลี้ยงน้ำใจ

 

          ที่นี้ถ้าหากว่าเราจะไปไหนมาไหน ทำอะไร เมื่อพ่อแม่ของเราบอกว่า อย่านะ ลูก หยุดทันที อย่าเดินหนีต่อหน้าพ่อแม่ของเรา ว่าผิดว่าถูกยกผลประโยชน์ให้ท่านไปก่อน อย่าไปฝ่าฝืนในขณะนั้น ถ้าหากท่านพูดผิดหรือเข้าใจผิด เมื่อท่านใจดีแล้วค่อยมาปรับความเข้าใจกันทีหลัง อย่าไปทำกระฟัดกระเฟียดต่อหน้าท่าน ท่านเกิดน้อยอกน้อยใจ ท่านเสียใจ ใครทำพ่อแม่เสียใจถึงกับน้ำตาไหลเป็นบาปเป็นกรรมหนัก เฉียด ๆ เข้าถึงอนันตริยกรรม

 

          ฉะนั้น มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ การอุปัฏฐากเลี้ยงดูบิดามารดา จึงเป็นมงคลอันสูงสุด ใครต้องการความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง ก็ให้เลี้ยงดูบิดามารดา

 

          มาตาเปติ ภรํ ชนฺตุ การเลี้ยงดูบิดามารดาท่านว่ามีอานิสงส์ทำให้ผู้นั้นได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์

 

          กุเล เชฏฐา ปจายินํ การเคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่ในวงศ์สกุล ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในสวรรค์เป็นพระอินทร์

          สกุลของเรานี้มีอยู่ ๒ ขั้นตอนเวลานี้เรามีสกุลของเราอยู่ ๒ ขั้นตอน

               ๑. วงศ์สกุลที่ให้กำเนิดคือให้ชีวิตจิตใจเกิดมา

               ๒. วงศ์สกุลที่ให้กำเนิดการศึกษา เช่น สถาบันการศึกษาต่าง ๆ อันนี้คือวงศ์สกุลของเรา

 

          วงศ์สกุลทั้ง ๒ นี้ย่อมมีผู้หลักผู้ใหญ่ ดังนั้นใครมีความเคารพนบนอบ มีความเคารพนบน้อมต่อผู้ใหญ่ในวงศ์สกุล บุคคลนั้นได้สร้างคุณธรรม ซึ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัย เมื่อตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์ ใครอยากเกิดเป็นพระอินทร์ให้ปฏิบัติตามหลักดังกล่าวมานี้ อันเป็นวิธีการที่จะเอาดีกับพ่อกับแม่

 

          เราจะเอาดีกับครูบาอาจารย์ก็ปฏิบัติเหมือนกับปฏิบัติกับพ่อกับแม่ พ่อแม่ของเราเป็นพ่อแม่ในบ้าน ครูบาอาจารย์เป็นพ่อแม่ในโรงเรียน

 

          เราอยู่ในบ้าน พ่อแม่ของเราเป็นผู้ปกครองดูแลสุขทุกข์ของเรา เราอยู่ในโรงเรียนครูบาอาจารย์เป็นผู้ดูแลสุขทุกข์ของเรา เพราะฉะนั้นทั้ง ๒ อย่างนี้คือพ่อแม่ของเรา ผู้ให้เกิดก็เป็นพ่อเป็นแม่ ครูบาอาจารย์ผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนอยู่ก็ได้ชื่อว่าเป็นพ่อเป็นแม่เช่นเดียวกัน ดังนั้นขอให้นักเรียนทุกคนจงจำนำไปปฏิบัติ

 

 

ถามเรื่องเข้าทรงกับหลวงปู่ฝั้น

โอ๊ย! มันจะไปจริงไปจังอะไรน้อ มันเป็นวิธีหากินของเขาอย่างหนึ่ง

          เดี๋ยวนี้คนทั้งหลายนี้มันเก่ง มันไปเรียกเอาวิญญาณภูตผีปีศาจอะไรต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือหาอยู่หากินกันเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด

 

          ในการที่เราไปสอบถามท่านผู้รู้ ที่ท่านรู้ทางใน เช่นอย่างหลวงปู่ฝั้นเป็นต้น สาเหตุที่จะได้สอบถามก็เพราะว่า ท่านพ่อลี วัดอโศการามท่านมีศักดิ์เป็นปู่หลวงพ่อ  แล้วก็มีพระองค์หนึ่งให้เณรเชิญวิญญาณท่านพ่อลีมา พอหลวงพ่อรู้เข้า ก็รู้สึกไม่พอใจ ก็เลยพยายามสอบถามครูบาอาจารย์ หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่สิม อาจารย์แว่น และอาจารย์อื่น ๆ ลงความเห็นกันว่าไม่ใช่ท่านพ่อลีมาเข้าทรงกันทั้งหมดเลย

 

          ที่นี้พอไปถามหลวงปู่ฝั้น

 

          จริงหรือเปล่า หลวงปู่ ที่ว่าวิญญาณท่านพ่อลีมาทรง

 

          โอ๊ย! มันจะไปจริงไปจังอะไรน้อ มันเป็นวิธีหากินของเขาอย่างหนึ่ง มันไปเลียนแบบมาจากสิบเอกตำรวจมาจากสมุทรปราการ บ้านตำรวจคนนั้นนี่เป็นสำนักทรงวิญญาณ พระพวกนี้มันก็ไปเลียนแบบเขามา

 

          ที่นี้ถ้าใครนับถือท่านผู้ใดก็ทำเครื่องสักการบูชาท่านผู้นั้นขึ้นมา แล้วก็ทำพิธีเชิญวิญญาณมาทรง ก่อนอื่นก็ประกาศบอกไว้แล้วว่า ต่อไปนี้วิญญาณของ ร.๕ จะมาประทับทรง ให้ลูกศิษย์ลูกหามาคอยกราบคอยไหว้ ที่นี้พอทำพิธีขึ้นมาแล้ว วิญญาณพเนจรอยู่แถวป่าหญ้าป่าไม้มันชิงกันมาทรง วิญญาณตนใดที่มันมีอิทธิพลเหนือหมู่มันก็ทรงได้ พอมันทรงแล้วมันก็ประกาศตัวมันว่า ร.๕ แต่แท้ที่จริงมันไม่ใช่

 

          หลวงปู่ฝั้นนี่ ท่านยืนยันเลยว่า ท่านได้พิจารณาดูแล้วไม่ใช่ มันเห็นแต่วิญญาณพเนจรเหล่านี้มันแย่งกันมาเข้าทรง

 

          หลวงพ่อถามท่านว่า

          “ถ้าหากว่ามันไม่จริง ทำไมมันจึงรู้เรื่องอดีตเราดีนัก”

          หลวงปู่ฝั้นท่านตอบว่า

          “โฮ้ วิญญาณของเราเวลานี้เราเป็นมนุษย์อยู่ มันไม่มีฤทธิ์มีอิทธิพลอะไรหรอก เวลามันตายไปแล้ว วิญญาณสามารถทำให้บ้านหลังนี้ไหวก็ได้ แล้วมันรู้เรื่องอดีตทุกอย่าง ธรรมชาติของสัตว์ในภพนั้นมันเป็นอย่างนั้น”

 

 

ท่านพ่อลีมีศักดิ์เป็นปู่

ท่านเป็นพี่น้องทางฝ่ายพ่อ ท่านมีชาติกำเนิดที่อุบลฯ เหมือนกัน

          ท่านพ่อลีท่านมีศักดิ์เป็นปู่ของหลวงพ่อ ท่านเป็นพี่น้องทางฝ่ายพ่อ (ของหลวงพ่อ) ท่านมีชาติกำเนิดที่อุบลฯ เหมือนกัน

 

          ท่านใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า “ปู่”  กับหลวงพ่อ ถ้าพบหลวงพ่อที่ไรท่านจะไม่พูดพร่ำทำเพลงกับหลวงพ่อ พอเจอหน้ากันปั๊บสั่งแล้ว “นั่งสมาธิ”  ท่านจะคุยอยู่กับใครก็ตาม ท่านจะชี้หน้าหลวงพ่อ

 

          “อ้าว! นั่งสมาธิ”

          พอนั่งไปสักพักหนึ่งท่านก็บอกว่า

          “เป็นไง นั่งสมาธิ”

          “ก็นั่งสมาธิ ก็ได้สมาธิ”

 

          ท่านไม่เคยอธิบายอะไรกว้างขวางพิสดาร แต่ท่านจะว่าให้ปฏิบัติธรรมให้ต่อเนื่อง อย่าไปทำ ๆ หยุด ๆ แต่ละครั้งที่เรานั่งสมาธิ จิตจะสงบหรือไม่สงบอย่าไปท้อถอย ถ้าเวลาจะสงบมันจะสงบเอง ความสงบมันเป็นผลงานเราแต่งเอาไม่ได้

 

 

แม้แต่สัตว์เดรัจฉานปฏิบัติสมาธิได้

คุณแม่สอนให้หนูภาวนา อัฐิ ๆ ๆ ๆ แล้วจิตของหนูก็สงบ

          สมาธิจึงเป็นหลักธรรมกลาง ๆ ไม่ได้สังกัดในลัทธิหรือศาสนาใด ๆ แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ปฏิบัติสมาธิได้ คำพูดนี้กล่าวหมิ่นประมาทมากเกินไปหรือเปล่า มีตัวอย่างที่จะนำมาเล่าให้ฟังเป็นคติเตือนใจ

 

          วันนี้ฟังเกร็ดเบ็ดเตล็ดกันซะก่อน นิยายเรื่องนี้ที่จะเล่าให้ฟัง มีปรากฏอยู่ในตำนาน “ธรรมบท ขุททกนิกาย”  ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลนอกตำรับตำรา

          มีเรื่องเล่าว่า มีนกแขกเต้าสองตัวผัวเมียไปทำรังอยู่ที่ใกล้สำนักของนางภิกษุณี และอยู่ระยะที่ไม่ห่างกันนัก มีที่ช่องสุมโจร อยู่มาวันหนึ่งลมแรงพัดเอารังนกแขกเต้าปลิวไปตามกระแสลม ลูกนกแขกเต้ากำลังอ่อน ๆ ขนปีก ขนหางยังไม่แข็งแรง บินไม่เก่ง ตัวหนึ่งถูกลมพัดตกลงไปที่กองดอกไม้ของนางภิกษุณี อีกตัวหนึ่งตกลงไปที่กองอาวุธของโจร

 

          ที่นี้ลูกนกแขกเต้าสองตัวนี้ตกไปคนละหนคนละแห่ง ตัวหนึ่งอยู่กับพระ อีกตัวหนึ่งอยู่กับโจร ตัวที่อยู่กับพระ พระก็สอนให้ปฏิบัติศีลธรรม ลูกนกแขกเต้ามันพูดเป็นเหมือนคน ที่นี้นางภิกษุณีก็สอนให้เขาบริกรรมภาวนาว่า อัฐิ ๆ ๆ ๆ ในที่สุดเขาได้สมาธิมองเห็นตัวเขาเองเป็นโครงกระดูก มองดูนางภิกษุณีก็เห็นเป็นโครงกระดูกไปหมด

 

          ส่วนนกแขกเต้าตัวที่ตกไปบนกองอาวุธของโจร โจรก็สอนให้เป็นโจรสอนให้เป็นนกนักสืบ สอนให้ไปสืบเดินทางที่พ่อค้าวาณิชย์ทั้งหลายจะเดินทางมา ทีนี้ลูกนกแขกเต้าตัวนี้ก็ไปคอยจ้องมองทางที่พ่อค้าวาณิชย์ทั้งหลายเขาจะเดินทางผ่าน พอเห็นแล้วก็รีบบินมาบอกนายตนเอง เจ้านายก็ไปดักปล้น

 

          ที่นี้อยู่มาวันหนึ่งลูกนกแขกเต้าตัวที่ไปอยู่กับนางภิกษุณี มีเหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบลงมาเฉี่ยวเอาเขาไป เขาอยู่ในกรงเล็บของเหยี่ยว ที่นี้นางภิกษุณีเห็นดังนั้นก็พากันตบไม้ตบมือร้องลั่น เหยี่ยวมันตกใจ มันก็ปล่อยลูกนกตก นางภิกษุณีก็ไปจับมาปลอบโยน แล้วก็ถามว่า

 

          “ในขณะที่เหยี่ยวมาเฉี่ยวเธอไปเธอคิดว่าอย่างไร”

          ลูกนกก็บอกว่า

          “กองกระดูกมา พากองกระดูกไป จะนำไปเรี่ยราดที่ตรงไหนหนอ”

          “อ้าว ทำไมเธอถึงคิดอย่างนั้น”

          “ที่คิดอย่างนั้นก็เพราะว่าคุณแม่สอนให้หนูภาวนา อัฐิ ๆ ๆ ๆ แล้วจิตของหนูก็สงบสว่าง มองเห็นตัวเป็นโครงกระดูกไปหมด แม้แต่เดี๋ยวนี้มองดูคุณแม่ทั้งหลายนี้ก็มีแต่โครงกระดูก ไม่ทราบว่าเนื้อหนังมันหายไปไหนหมด เหยี่ยวบินมาหนูก็เห็นแต่โครงกระดูก เพราะฉะนั้นในความรู้สึกขณะนั้นหนูรู้สึกว่าตัวเองก็คือโครงกระดูก เหยี่ยวก็คือโครงกระดูก นึกว่ากองกระดูกมาพากองกระดูกไป พากันไปเรี่ยราดที่ตรงไหน”

 

          นี่ตัวอย่างสัตว์เดรัจฉานทำสมาธิ อันนี้ลอง ๆ ไปคิดดู

 

 

 

ธรรมนอก ธรรมใน

เราพุทธสาวกเราเกิดมามีบุญเหมือนกับเราเกิดมาในตระกูลของเศรษฐี

          ท่านทั้งหลายมาประชุมพร้อมกันเพื่อฟังธรรม ธรรมะมีอยู่ ๒ ประเภทคือ ธรรมะนอกกับธรรมะใน

          ธรรมะนอก หมายถึงธรรมะที่เราเรียนรู้ตามคัมภีร์ตามตำรับตำรา เพื่อเป็นแนวทางให้เรารู้ในการปฏิบัติ เหมือน ๆ กับเราเรียนแผนที่ ธรรมดาการเรียนแผนที่ของบ้านของเมืองหรือภูมิประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เราสามารถที่จะรู้และเข้าใจตามแผนที่และตำรับตำรานั้น ๆ เพราะฉะนั้นการเรียนปริยัติธรรม ก็เหมือนการเรียนแผนที่ จำเป็นด้วยหรือการเรียนปริยัติธรรม คำตอบก็คือว่าจำเป็นต้องเรียน ไม่เรียนไม่ได้ต้องเรียน เพราะปริยัติธรรมคือคัมภีร์ไตรปิฎก เป็นหลักศาสนา เป็นศาสนาที่เป็นเหตุผล มีคัมภีร์ มีตำรับตำรา เป็นศาสนาที่มีประวัติศาสตร์ไม่ใช่ศาสนาที่ศาสดานอนหลับ ตื่นขึ้นมาแล้วทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาเหมือน ๆ กับลัทธิอื่น ๆ

 

          พระพุทธเจ้าของเราต้องสร้างบารมีมานับอสงไขยไม่ถ้วน ในเมื่อพระบารมีพร้อมแล้ว ก่อนที่จะได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ต้องทรงสละชีวิตเข้าแลกกับคุณธรรมที่บรรลุ ถึงขนาดทรมานพระองค์ให้ได้รับความเหน็ดเหนื่อย ให้ได้ความลำบากเปล่า ๆ แทบจะเอาชีวิตไม่รอด กว่าจะได้สำเร็จมายากเย็นสักเพียงใด

 

          เราพุทธสาวก เราเกิดมามีบุญ เหมือนกับเราเกิดมาในตระกูลของเศรษฐี คุณพ่อคุณแม่ของเรามีพร้อม ให้หมดทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเราจะรักษาทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ให้คงอยู่ เราต้องมีวิชาความรู้ วิชาความรู้นั้นคือ ปริยัติธรรม

 

          ปริยัติธรรมเป็นความรู้ในตำรา เป็นธรรมะนอก คือนอกจากตัวของเรา อย่างดีเราก็เพียงแค่อาศัยจิตหรือใจ เป็นผู้ทรงธรรม แต่มันก็เรื่องนอก ๆ ยังไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่เรา

 

          ที่นี้ปัญหาสำคัญเรื่อง ธรรมะใน คือหมายถึง ในกายวาจาของเรา นี่เป็นสิ่งที่เราจะศึกษาให้รู้ ให้เข้าใจ ดังนั้นธรรมะแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ตามหลักแห่งปริยัตินั้น เราฟังแล้วมันก็มากมายเหลือล้นไม่ทราบได้ว่าจะปฏิบัติยึดเอาธรรมะข้อไหนมาปฏิบัติ มันจึงจะได้ประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันของเราอย่างแท้จริง

 

          อันนี้ปัญหาของชาวพุทธที่เราจะเข้าใจ ความรู้ความเห็นที่เราปฏิบัตินั้น เราจะยึดหมายเอาอะไรเป็นสาระสำคัญ จะไปเอาเรื่องรู้เห็นนรกสวรรค์ เห็นภูตผีปีศาจ เทวดา อินทร์พรหม ยมยักษ์นั้นหรือเป็นผลงานที่เราจะพึ่งได้ ถ้าเราจะไปยึดเอาสิ่งนั้นเป็นผลงาน มันจะไกลจากความจริง

 

          ถ้าอย่างนั้นเราควรจะรู้อะไร

 

          เราควรจะรู้กายวาจาและรู้จิตของเรานี่ว่า กายวาจาและจิตของเรานี่ เป็นสิ่งที่ได้มาด้วยบุญกุศล นักปราชญ์ ผู้เป็นอริยชนเคยกล่าวว่า ร่างกายนี้เป็นสิ่งที่เราได้มาด้วยบุญ ได้มาแล้วควรจะทะนุถนอมรักษา มีเสื้อผ้าดี ๆ ควรจะหาไว้ใส่ มีอาหารดี ๆ ควรจะหามาเลี้ยง มีเครื่องประดับตกแต่งที่สวยงามควรจะตกแต่งใส่ให้บ้าง มีที่นอนดี ๆ ควรจะหาให้นอน มีบ้านดี ๆ ควรจะหาให้อยู่ นักปราชญ์ท่านว่าอย่างนั้น ทำไมท่านจึงว่าอย่างนั้น เพราะมันเป็นสิ่งที่ได้มาด้วยยาก

 

          กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ การได้มาซึ่งความเป็นมนุษย์นี่มันแสนยาก ต้องบำเพ็ญคุณธรรมคือมีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์ มีกรรมบถบริสุทธิ์บริบูรณ์ จึงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ที่บริบูรณ์ที่มีจิตใจบริสุทธิ์

 

          ถ้าอย่างนั้นคนที่มาเกิดเป็นมนุษย์ต้องมีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์ มีกรรมบถบริสุทธิ์บริบูรณ์กันทุกคนสิ

 

          ก็ไม่ถึงขนาดนั้น หมายถึงว่า ผู้เกิดมาแล้วเป็นมนุษย์สมบูรณ์มีร่างกายวรรณะสมบูรณ์จริง ๆ เราเกิดในตระกูลผู้ลากมากดี มั่งคั่งสมบูรณ์ มีศีลธรรมประจำจิตใจ พร้อมมาแต่กำเนิดแล้ว เมื่อเกิดมาแล้วมีศีลมีธรรม มายึดศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติ ยึดกรรมบถ ๑๐ เป็นหลักปฏิบัติ อันนี้ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วเป็น มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ เรียกว่าเป็นมนุษย์ร้อยเปอร์เซ็นต์

 

          ทีนี้คนที่ไม่มีศีล ๕ จะเกิดมาเป็นมนุษย์ได้ไหม ได้เหมือนกัน ท่านลองพิจารณาดูจิตใจของท่านดูบ้างซิว่า ตั้งแต่เกิดมานี่ ท่านเป็นมนุษย์สมบูรณ์ทุกลมหายใจหรือไม่ เข้าใจว่าท่านอาจจะมีบางครั้งที่มันขาดตกบกพร่อง

หน้าก่อนนี้    หน้าต่อไป


แก้ไขล่าสุด ( วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2012 เวลา 05:19 น. )
 
 

Joomla 1.5 Templates by Joomlashack