A Free Template from Joomlashack

A Free Template from Joomlashack

แบบสำรวจ

ท่านกำลังใช้ระบบปฏิบัติการ (OS) อะไรอยู่ ?
 

Search

ผู้เข้าเว็บขณะนี้

เรามี 37 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

JComments Latest

  • Shayne: https://WWW.Wheredowego.In.th/travel/asia/...
  • https://dzhenerik-dapoxetine-kupit.ru
  • сколько стоят семена коки
  • купить пейота
  • get clarinex pill: https://mymedicalshop24.shop/cl...
ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ตอนที่ 11 PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย Administrator   
วันอังคารที่ 06 มีนาคม 2012 เวลา 05:55 น.

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย 

ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ๑๑

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ

พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓

 

 


อดีตอย่าหมายมั่น ปัจจุบันสำคัญกว่า

บางทีหลวงพ่อเวลาจิตสงบ... มองเห็นตัวเองแต่ตัวเป็นพระมหากษัตริย์นั่งอยู่บนบัลลังก์โน่น!

          บางทีหลวงพ่อเวลาจิตสงบเป็นสมาธิ บางที โน่น! มันไปมองเห็นตัวเองแต่งตัวเป็นพระมหากษัตริย์นั่งอยู่บนบัลลังก์โน่น แต่ก็ยังไม่เคยคิดว่าตัวเองเคยเป็นพระมหากษัตริย์มา ใครจะเป็นอะไรมาเกิดมันไม่สำคัญหรอก มันสำคัญอยู่ที่ว่าปัจจุบันนี้เราจะเอาดีได้หรือเปล่า เท่านั้นเอง สิ่งที่คนธรรมดาสามัญไม่รู้เห็นด้วยนี้ นักปฏิบัติเขาไม่พูดกันหรอก ถ้าพูดแล้วมันจะหลงติด อ้าว! ประเดี๋ยวก็สาว ๆ คนนี้เคยเป็นลูกเป็นเต้าเราอย่างนั้นอย่างนี้ ทีนี้พอเขาเชื่อพระ เขาก็หลงเชื่อว่ามันเป็นจริงอย่างนั้น ก็มาติดพันกับพระเข้า อีกสักหน่อยคุณพ่อกับคุณลูกก็จูงแขนกันลงนรก เพราะฉะนั้นอย่าไปสนใจกับมันเลยเรื่องอดีตชาตินี่

 

 

          ปัจจุบันนี้สำคัญที่สุด เราเกิดมาเป็นพลเมืองของประเทศไทย เราเป็นพลเมืองดีของของประเทศชาติบ้านเมืองเพียงพอหรือยัง อยู่ที่ตรงนี้ เราเกิดมาเป็นลูกพ่อลูกแม่ เราเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่เพียงพอแล้วหรือยัง อยู่ที่ตรงนี้ พระมหากษัตริย์ ผู้ปกครองแผ่นดิน เราไปลบหลู่ดูหมิ่นท่านหรือเปล่า ดูกันที่ตรงนี้ เรามีความเคารพ เราทำราชการ มีผู้บังคับบัญชา เราซื่อสัตย์ เคารพระเบียบกฎเกณฑ์วินัยของข้าราชการ หรือเคารพผู้บังคับบัญชาเพียงพอหรือยัง มันอยู่ที่ตรงนี้

 

 

          อย่าลืมว่าศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าสอนให้เราสร้างความรักความเมตตาปรานี จุดแรกที่สุดให้สร้างความรักก่อน ทำไมจึงต้องสร้างความรัก คนเรารักกันแล้วมันจับมือกัน ช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศชาติบ้านเมืองให้เจริญ ในทางคณะสงฆ์ ถ้าคณะสงฆ์มีความรักมีความเมตตาปรานีกัน ก็ร่วมกันทำงานพระศาสนาให้เจริญ

 

 

          เพราะฉะนั้นความรักจึงเป็นยอดปรารถนาของสังคม ทีนี้ในวงการหนึ่ง ๆ สถาบันหนึ่ง ๆ ถ้าเราไปรุมเกลียดคนสักคนหนึ่ง หรือคนทั้งหลาย ต่างคนต่างเกลียดขี้หน้ากัน ชวนกันทำงาน มันก็ไม่ร่วมมือกัน ทีนี้สิ่งที่จะได้รับคืออะไร บ้านเมืองล่มจม คณะสงฆ์ต่างคนต่างขัดผลประโยชน์กัน ทะเลาะวิวาทกัน ผลลัพธ์คืออะไร คือศาสนาล่มจม นี่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธเราควรจะคิดให้มาก ๆ

 

 

 

ศิษย์องค์สุดท้ายของหลวงปู่เสาร์

เจ้าคุณชินวงศาจารย์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของท่านอาจารย์เสาร์

          อย่างครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านมาแสดงธรรมให้ฟัง เช่น หลวงปู่สิม หลวงปู่แว่น หรือท่านอาจารย์เหรียญ ท่านอาจารย์บัวพา เคยผ่านสำนักของครูบาอาจารย์มั่น อาจารย์เสาร์มาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกศิษย์ต้นของท่านอาจารย์เสาร์ที่ยังเหลือค้างอยู่เวลานี้ ก็คือท่านอาจารย์บัวพาเพียงองค์เดียว นอกนั้นก็สึกหาลาเพศ ล้มหายตายจากไป ถ้าจะนับอีกองค์ที่ ๒ ก็คือเจ้าคุณชินวงศาจารย์ ท่านอาจารย์บัวพาก็ไม่ค่อยเทศน์ไม่ค่อยพูด เพราะติดนิสัยท่านอาจารย์เสาร์ แต่ที่แหวกแนวก็คือ เจ้าคุณชินวงศาจารย์ (พุธ ฐานิโย) ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของท่านอาจารย์เสาร์ (หลวงพ่อพูดถึงท่านเอง)

 

 

          อันนี้เป็นปฏิปทาย่อ ๆ ของครูบาอาจารย์ที่นำมาเล่าเพื่อจะเป็นประโยชน์แก่สหธรรมิก ทีนี้หลักบริกรรมภาวนาพุทโธ เมื่อบริกรรมภาวนาพุทโธทำจิตให้เป็นสมาธิคล่องตัวจนชำนิชำนาญพอสมควรแล้ว เพื่อจะให้จิตมีสติปัญญาก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา

 

 

          อันดับที่ ๒ ท่านให้พิจารณากายคตาสติ ให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ให้มองเห็นเป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก

 

          การพิจารณากายคตาสติท่านถือคติเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งพิจารณาไปโดยอนุโลมปฏิโลม ไปตามลำดับจนครบอาการ ๓๒ และอีกอย่างหนึ่งท่านให้พิจารณาเพียงอย่างเดียว คือให้กำหนดจดจ้องมองดูที่บริเวณหน้าอก แล้วกำหนดจิตลอกหนังออก ลอกเนื้อออก มองให้มันถึงกระดูก พิจารณากลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น จนจิตเชื่อมันว่ามีกระดูกอยู่ที่ตรงนี้

 

 

          ในอันดับต่อไปท่านก็ให้บริกรรมภาวนาอัฐิ ๆ ๆ แล้วก็จ้องความรู้สึกของจิตลงไปบริเวณหน้าอก พยายามทำบ่อย ๆ ทำเนือง ๆ ทำให้มาก ๆ ในที่สุดเมื่อจิตสงบลงไปแล้ว จะได้นิมิตมองเห็นโครงกระดูก บริเวณหน้าอกหรือโดยทั่วตัว ในเมื่อเห็นโครงกระดูกขึ้นมาแล้ว ก็เพ่งจ้องมองดูที่โครงกระดูก จนกระทั่งโครงกระดูกมันแหลกละเอียดสลายตัวไปหรือได้อสุภกรรมฐาน ในเมื่อพิจารณาอสุภกรรมฐานรู้จริงเห็นจริงเป็นอุบายระงับราคะความกำหนัดยินดีไม่ให้เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ เพื่อจะได้มีโอกาสบำเพ็ญเพียรภาวนาในขั้นต่อไป

 

 

          เสร็จแล้วพระอาจารย์เสาร์ท่านสอนให้พิจารณาร่างกายให้มองเห็นด้วยความเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ คือแยกออกไปว่าร่างกายนี้มีแต่ดิน แต่น้ำ แต่ลม แต่ไฟ ในเมื่อแยกออกไปแล้วก็ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา พิจารณาให้มองเห็นเป็นนิมิตว่าร่างกายนี้มีแต่ดิน น้ำ ลม ไฟกันแท้จริง จนกระทั่งจิตยอมรับว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ในดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มี

 

 

          ความเป็นคนเป็นสัตว์ เพราะอาศัยดิน น้ำ ลม ไฟ ยังคุมกันอยู่ มีปฏิสนธิวิญญาณมายึดครองโดยความเป็นเจ้าของ เพราะอาศัยกิเลสตัณหา อุปาทาน กรรม จึงทำให้เราเกิดยึดมั่นถือมั่นว่าอัตตาตัวตน ยึดว่าของเราของเขา ร่างกายของเราของเขา

 

          ในเมื่อเห็นว่าร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ หาสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จิตของผู้ภาวนาก็ได้อนัตตานุปัสสนาญาณ เห็นว่าร่างกายเป็นอนัตตาหมดทั้งสิ้น ภูมิจิตภูมิใจก็ก้าวขึ้นสู่ภูมิธรรมเองโดยอัตโนมัติ อันนี้เป็นปฏิปทาของท่านอาจารย์เสาร์ และท่านอาจารย์มั่น ที่เคยได้ยินได้ฟังมาเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ นำมาเล่าเพื่ออาจจะเกิดประโยชน์แก่วงการนักปฏิบัติบ้าง

 

 

ประวัติการสร้างบุษบก

สมเด็จมหาวีรวงศ์ (พิมพ์) เป็นองค์ประธานในการบรรจุ

          หลวงพ่อคิดสร้างบุษบกเพื่อรำลึกถึงครูบาอาจารย์ จึงนำความไปปรึกษาเจ้าคุณธรรมบัณฑิต ท่านรับว่าจะออกแบบให้ รออยู่ ๓ - ๔ เดือนก็เงียบไป พอดีหลวงตามหาบัว ญาณสมปนฺโน มาอบรมพระสังฆาธิการที่วัดป่าสาลวัน หลวงพ่อได้ไปเรียนถามเจ้าคุณธรรมบัณฑิตว่า ท่านหาคนออกแบบให้ได้หรือยัง ท่านบอกว่ายังไม่มีเวลา พระอาจารย์มหาบัวจึงถามว่า

 

          “ถ้าไม่มีเวลา สละสิทธิ์ได้ไหม”

 

          เมื่อท่านเจ้าคุณสละสิทธิ์ หลวงตามหาบัว และ ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ จึงรับงานนี้ไปดำเนินงานต่อจนสำเร็จและสมเด็จมหาวีรวงศ์ (พิมพ์) เป็นองค์ประธานในการบรรจุ

 

 


วาระสุดท้ายของแม่อา

มันเย็นสบาย หาความสุขใดมาเปรียบเทียบไม่ได้เลย

          แม่อาหลวงพ่อสวดมนต์ไม่เป็น ฟังเทศน์ก็ไม่รู้เรื่อง ก็มาบ่นว่า

          “เกิดมาชาตินี้ทำไมโง่หนักหนา”

          “มันโง่อย่างไร”

          “จะไม่ให้โง่อย่างไร สวดมนต์ก็ไม่เป็น ฟังเทศน์ก็ไม่รู้เรื่อง”

          หลวงพ่อถามว่า สวดพุทโธเป็นไหม

          ตอบว่า เป็น

          ถ้าอย่างงั้นสวดพุทโธ ๆ ๆ สวดทุกลมหายใจ ไม่ต้องเลือกกาลเลือกเวลา สวดตลอดไป

          แกสวดไปสวดมา วันหนึ่งบุกขึ้นมาหาหลวงพ่อตั้งแต่ตี ๔ หลวงพ่อก็ถามว่า

          “เอ้าแม่ ขึ้นมาทำไมค่ำมืด มาคนหนึ่งคนเดียวมันผิดวินัยพระนะ”

          “โอ๊ย! มันทนไม่ไหว”

          “ทำไมมันจึงทนไม่ไหว”

          แกก็ตอบว่า ทำไมใจคนมันจึงลุกเป็นไฟได้”

          หลวงพ่อก็รู้ทันทีว่าแกสวดมนต์ไม่หยุดแล้วจิตแกเป็นสมาธิ หลวงพ่อก็ถามว่า

          “มันลุกเป็นไฟแล้วมันร้อนหรือมันเย็น”

          แกบอกว่า

          “มันเย็นสบาย หาความสุขใดมาเปรียบเทียบไม่ได้เลย”

          “ถ้าหากว่ามันไม่ร้อน ก็ให้มันลุกอยู่อย่างนั้นแหละ”

          “เดี๋ยวนี้มันก็ยังลุกอยู่นะ ยังไม่ดับเลย”

          “เอ้า ให้มันลุกไป”

          จนกระทั่งวาระสุดท้ายก่อนที่แกจะตาย เรากำลังจัดงานวันบูรพาจารย์ (งานบุษบก) หลวงพ่อไปเยี่ยม แกกำลังนอนป่วยอยู่ ถามแกว่า

          “พระสวดมนต์ได้ยินไหม”

          “ได้ยิน”

          “พระเทศน์ได้ยินไหม”

          “ได้ยิน”

          “เข้าใจไหม”

          “เข้าใจอยู่แต่มันพูดไม่ถูก รู้หมดแต่มันพูดไม่ถูก”

          “เดี๋ยวนี้มันยังลุกเป็นไฟอยู่ไหม”

          “เดี๋ยวนี้มันยิ่งลุกแรง มันไม่ได้ไปไหน”

          หลวงพ่อถามว่า

          “แม่พิจารณาอายุขัยตัวเองหรือยังว่ามันหมดหรือยัง”

          “มันหมดแต่นานแล้ว คอยฟังคำสั่งอยู่เท่านั้นเอง”

          “อ้าว..จะให้ฉันสั่งให้ตายงั้นหรือ”

          “ก็อย่างนั้นชิ ใครเป็นผู้รับผิดชอบคนนั้นต้องสั่ง”

          “เอ้า! ถ้างั้นฉันสั่งล่ะ แต่ไม่ใช่วันนี้นะ ให้งานมันเสร็จก่อนแล้วค่อยไป”

          พอดีงานเราเสร็จคืนวันที่ ๓ วันที่ ๔ ตื่นเช้ามาแกก็ไป (ตาย)

 

 

เทศน์ในวัง (๒๕๒๕)

          หลวงพ่อเดินทางจากวัดป่าสาลวันประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่พระราชวังไกลกังวล

 

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านทรงเป็นบุคคลที่ช่างคิด เป็นนักวิชาการ เพราะพระองค์ทรงใช้พระทัยคิดอย่างไม่หยุดยั้ง การคิดด้วยการตั้งใจนี่มันก็เป็นเรื่องของสมาธิ ถึงแม้จะทรงรับสั่งถามด้วยโลกก็ตามแต่ก็ยังมีคุณธรรมแฝงอยู่ทุกประการ คราวหนึ่งท่านเดินทางไปหัวหิน ท่านมีรับสั่งไปแสดงธรรมโดยเฉพาะ

 

 

ตอบปัญหาธรรมเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ :    ขอท่านได้อธิบายเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ดังที่ท่านอาจารย์เสาร์สอนมา
 
หลวงพ่อพุธ :     โดยหลักการที่ท่านอาจารย์เสาร์ ได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหามานั้น ยึดหลักการบริกรรมภาวนา พุทโธ และ อานาปานสติ เป็นหลักปฏิบัติ

 

          การบริกรรมภาวนา ให้จิตอยู่ ณ จุดเดียว คือ พุทโธ ซึ่งพุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิต เมื่อจิตมาจดจ้องอยู่ที่คำว่า พุทโธ ให้พิจารณาตามองค์ฌาน ๕

 

          การนึกถึง พุทโธ เรียกว่า วิตก จิตอยู่กับ พุทโธ ไม่พรากจากไป เรียกว่า วิจาร หลังจากนี้ ปีติ และความสุข ก็เกิดขึ้น เมื่อปีติและความสุขเกิดขึ้นแล้ว จิตของผู้ภาวนาย่อมดำเนินไปสู่ความสงบ เข้าไปสู่ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ ลักษณะที่จิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิ ภาวะจิตเป็นภาวะสงบนิ่ง สว่าง ไม่มีกิริยาอาการแสดงความรู้ ในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในสมถะ

 

          ถ้าจะเรียกโดยจิตก็เรียกว่า อัปปนาจิต

          ถ้าจะเรียกโดยสมาธิก็เรียกว่า อัปปนาสมาธิ

          ถ้าจะเรียกโดยฌานก็เรียกว่า อัปปนาฌาน

          บางท่านนำไปเทียบกับฌานขั้นที่ ๔

 

          จิตในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในอัปปนาจิต อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาน จิตย่อมไม่มีความรู้อะไรเกิดขึ้น นอกจากมีสภาวะรู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้น

 

 

          เมื่อนักปฏิบัติผู้ที่ยังไม่ได้ระดับจิต เมื่อจิตติดอยู่ในความสงบนิ่งเช่นนี้ จิตย่อมไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้

 

 

          เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านอาจารย์เสาร์ผู้เป็นอาจารย์สอนกรรมฐานในสายนี้ จึงได้เดินอุบายสอนให้ลูกศิษย์พิจารณากายคตาสติ เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยการพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น โดยน้อมนึกไปในลักษณะความเป็นของปฏิกูล น่าเกลียด เป็นของโสโครก จนกระทั่งจิตมีความสงบลง ผู้ยิ่งเห็นจริงตามที่ได้พิจารณา

 

 

          เมื่อผู้ปฏิบัติได้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นสิ่งปฏิกูล ในที่สุดได้เห็นจริงในสิ่งนั้นว่าเป็นของปฏิกูล โดยปราศจากเจตนาสัญญาแล้ว ก็เกิดนิมิตเห็นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกจริง ๆ โดยปราศจากสัญญาเจตนาใด ๆ ทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาเห็น อสุภกรรมฐาน

 

 

          เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาอสุภกรรมฐานจนชำนิชำนาญ จนรู้ยิ่งเห็นจริงในอสุภกรรมฐานนั้นแล้ว ในขั้นต่อไปท่านอาจารย์เสาร์ได้แนะนำให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ จนกระทั่งเห็นเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ

 

          เมื่อจิตรู้ว่าเป็นแต่เพียงสักแต่ว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ตามที่พูดกันว่า สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่มี มีแต่ความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น

 

          เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็ย่อมเกิดความคิดขึ้นมาได้ว่า ในตัวของเรานี้ไม่มีอะไรเป็นอนัตตาทั้งสิ้น มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น

 

          ถ้าหากภูมิจิตของผู้ปฏิบัติจะมองเห็นแต่เพียงกายทั้งหมดนี้ เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้แต่เพียงว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ และภูมิจิตของท่านอยู่แค่นั้น ก็มีความรู้เพียงแค่ขั้นสมถกรรมฐาน

 

          และในขณะเดียวกันนั้น ถ้าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิวัติความรู้ไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

 

          ถ้าหากมี อนิจจสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่เที่ยง ทุกขสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นทุกข์ อนัตตสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ภูมิจิตของผู้ปฏิบัตินั้นก็ก้าวเข้าสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา

 

          เมื่อผู้ปฏิบัติมาฝึกฝนอบรมจิตของตนเองให้มีความรู้ด้วยอุบายต่าง ๆ และมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะของอสุภกรรมฐานโดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง จนมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะที่ว่า กายเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีความเห็นว่า ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เป็นแต่เพียงธาตุ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ด้วยอุบายดังกล่าวแล้ว ผู้ปฏิบัติยึดหลักอันนั้น ภาวนาบ่อย ๆ กระทำให้มาก ๆ พิจารณาให้มาก ๆ พิจารณาย้อนกลับไปกลับมา จิตจะค่อย ๆ ก้าวเข้าสู่ภูมิรู้ภูมิธรรม เป็นลำดับ ๆ ไป หลักการปฏิบัติของท่านอาจารย์เสาร์ ก็มีดังนี้
 

 

กรรมเก่า

คนที่เขาทำชั่วมาก ทำไมเขาจึงได้ดี

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ :       ดิฉันยังไม่เข้าใจคำว่า “กรรมเก่า” 
 

หลวงพ่อพุธ :     คำว่า กรรม คือ การกระทำ เมื่อเราถือว่าทำลงไปแล้วไม่ถือว่ามีผลอะไร ทำแล้วก็ทำไป คนที่คิดเช่นนั้นก็มีมาก เว้นเสียแต่ว่า ผู้ที่ทำจิตทำใจ หรือว่าฝึกฝนอบรมมาจนจิตใจน้อมเชื่อในผลแห่งกรรมนั้นแหละ จึงจะเชื่อว่ากฎของกรรมนั้นมีจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ พวกที่ยังตื่นอยู่กับสังคมโลก ตื่นอยู่กับความสนุกเพลิดเพลิน ตื่นอยู่กับความร่ำรวย หรือยศถาบรรดาศักดิ์ พวกเหล่านี้มักจะลืมตน และมักไม่คำนึงถึงว่าผลกรรมที่เราได้กระทำในปางก่อนนั้นมาสนับสนุนให้เราได้ดิบได้ดีในปัจจุบัน

 

            โดยวิถีของกรรมแล้ว จากปัญหาที่ว่า คนที่เขาทำชั่วมาก ทำไมเขาจึงได้ดี อันนี้ก็เพราะว่า

 

          ความชั่วในปัจจุบันยังไม่ให้ผลแก่เขา เขาจึงเจริญรุ่งเรือง เพราะอาศัยผลกรรมในอดีตชาติปางก่อนมาสนับสนุน เขาจึงได้ดิบได้ดี

 

          เรื่องนี้ยากนักที่จะปลงใจเชื่อกันได้ นอกจากจะมาบำเพ็ญเพียรภาวนา ทำจิตบริกรรมภาวนา ทำใจให้สงบสว่าง นั่นแหละจึงจะโน้มน้าวใจเชื่อลงไปได้

 

          เคยมีลูกศิษย์เป็นนายตำรวจผู้หนึ่ง เขาไปอุปสมบทอยู่ด้วย ได้สอนให้เขาบริกรรมภาวนา เริ่มต้นด้วยการภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ เมื่อภายหลังเขาตั้งใจจริงจนกระทั่งจิตสงบ สว่าง มีความรู้ธรรมเห็นธรรมปรากฏขึ้นภายในจิตของเขา สิ่งที่เขาแสดงความคิดเห็นออกมา สิ่งที่น่าภูมิใจที่สุดมีอย่างหนึ่ง คือ เขาพูดว่า

 

          “เมื่อก่อนนี้รับราชการเป็นนายตำรวจ ยังไม่ทันซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ท่านได้พระราชทานให้ได้เงินเดือนมาสำหรับเลี้ยงชีวิต เมื่อมาภาวนาจนจิตสงบแล้ว รู้เหตุ รู้ผลรู้สึกว่างานที่เรากระทำนี้ยังไม่คุ้มกับพระราชทรัพย์ที่ได้พระราชทานมาสำหรับเลี้ยงชีวิต”

 

          และเขาได้ปฏิญาณว่า

 

          “ผมจะตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์จนตลอดชีวิต”
 

 

 

พระปัจเจกพุทธเจ้า

ไม่แสดงธรรมและไม่ตั้งศาสนา

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ :   ดิฉันขอยกข้อดีว่า ถ้าไม่มีพระบวรพุทธศาสนานี้คงจะอยู่บนโลกนี้ด้วยความยากลำบาก เพราะว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเป็นแสงสว่างจริง ๆ ทำให้สามารถระงับความโกรธ ความเกลียด ความผิดหวังอะไรได้ทุกอย่าง และน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านได้มีพระเมตตาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่เหมือนกับพระพุทธเจ้าอย่างไรเจ้าคะ
 


หลวงพ่อพุธ :     พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่เหมือนกับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรงที่ไม่แสดงธรรมและไม่ตั้งศาสนา ถ้าใครทำบุญทำทานกับพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านเพียงแต่ให้ศีลให้พร หรือถ้าแสดงธรรม ก็ไม่เป็นเรื่องเป็นราวพอที่จะจับเอามาปฏิบัติได้ อย่างดีก็เพียงแต่แนะนำให้รักษาศีลให้ภาวนา ให้ทาน เป็นแต่เพียงแนะนำเท่านั้น ส่วนมากไม่แสดงธรรมเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

          โดยนิสัยของท่านพระปัจเจกพุทธะไม่มุ่งที่จะมีสาวก ถ้าหากจะมีคำสอนปรากฏอยู่บ้าง ก็เป็นไปเพื่อชีวิตของท่านเท่านั้น ไม่ไว้สาวกเพื่อสืบพระศาสนา

 

          การตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ก็มีความเสมอกันกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่ว ๆ ไปก็คือ ความเป็นอาสวักขยญาณ คือ ความสามารถทำกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป

 

          พระปัจเจกพุทธเจ้าบางองค์ก็ทำจิตให้เป็นสมาธิ มีความละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งสามารถตัดกิเลสออกจากจิตไปได้ โดยไม่ต้องอาศัยเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น

 

          ส่วนมากพระปัจเจกพุทธเจ้าจะสำเร็จเป็นพระปัจเจกได้โดยเจโตวิมุตติ คือ การทำจิตให้ละเอียดลงไป แล้วก็ตัดกิเลสด้วยกำลังจิตที่เข้มแข็งเหล่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะพระองค์ท่านแล้ว ท่านจึงไม่สามารถแสดงธรรมได้อย่างกว้างขวาง อย่างมีเหตุมีผล เหมือนกับพระพุทธเจ้าโดยทั่ว ๆ ไป

 

          นี่คือข้อแตกต่างระหว่างพระปัจเจกพุทธเจ้าและสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

  


 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ :      ดิฉันอยากจะถามว่า สมัยนี้มีพระปัจเจกพุทธเจ้าบ้างไหม


 
หลวงพ่อพุธ :     หากอาศัยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าของเราทรงกำหนดอายุพระศาสนาไว้ ๕,๐๐๐ ปี พระศาสนาขณะนี้ได้ดำเนินมา ๒,๕๐๐ ปีเศษแล้ว ศาสนาพุทธก็ยังปรากฏอยู่ในโลก ยังไม่ว่างจากพระศาสนาในช่วงนี้ยังมีพระพุทธศาสนาปรากฏอยู่ ยังไม่สิ้นอายุของพระศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้ายังไม่มี ถ้าอาศัยหลักฐานตามคัมภีร์แล้วก็จะยืนยันได้ตามนั้น ปัจจุบันนี้พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มี
 

  


ฆราวาสบรรลุธรรมได้หรือไม่

ฆราวาสก็สามารถที่จะชำระจิตให้ถึงวิมุตติความหลุดพ้นได้

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ :     หากเผื่อว่าไม่ได้บวชเป็นพระนี้ จะสามารถชำระจิตของท่านจนสามารถบรรลุถึงธรรมได้ไหมเจ้าคะ
 


หลวงพ่อพุธ :
 อาศัยตามหลักฐานในพระคัมภีร์ ผู้ที่เป็นฆราวาสก็สามารถที่จะชำระจิตให้ถึงวิมุตติความหลุดพ้นได้


          ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา พระองค์ก็สำเร็จพระอรหันต์ ในขณะทรงเป็นฆราวาสอยู่ เพราะเมื่อได้ฟังเทศน์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็สำเร็จพระอรหันต์ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นฆราวาสอยู่

 

          ในปัจจุบันนี้ คฤหัสถ์ที่ยังครองเพศอยู่ก็สามารถที่จะปฏิบัติในทางจิต ทำให้มีจิตสงบเป็นสมาธิ รู้ธรรมเห็นธรรมได้เหมือนกับพระในพระพุทธศาสนา

 


 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ :   หมายความว่า ถ้าแม้ว่าเข้าถึงพระอรหันต์แล้ว ถ้าไม่บวชก็วางเบญจขันธ์ได้อย่างสิ้นเชิงใช่ไหมเจ้าคะ
 
หลวงพ่อพุธ :   ตามพระคัมภีร์ก็ยืนยันว่าเป็นอย่างนั้น แต่ถ้านำมาพิจารณาให้รู้แน่นอน และจะหาเหตุผลมาขัดแย้ง ก็อาจจะมีทาง เพราะในแง่ที่จะขัดแย้งได้มีว่า โดยธรรมชาติของพระอรหันต์แล้วท่านจะวางเบญจขันธ์ คลายความยึดมั่นหมดกิเลสตัณหา มานะ ทิฏฐิ แม้อาสวะน้อยหนึ่ง ก็ไม่มีในจิตใจของท่าน อาจจะดำรงชีพอยู่จนกระทั่งอายุขัยก็ย่อมเป็นได้ ถ้าหากว่าหามติมาขัดแย้งได้ แต่ว่าคุณของความเป็นพระอรหันต์นั้น เป็นคุณธรรมหรือเป็นสัจธรรมที่สูง ซึ่งโดยหลักธรรมชาติของธรรมะชั้นนี้แล้วจะไปสิ่งสถิตอยู่ในร่างของคฤหัสถ์ซึ่งเป็นร่างของชาวบ้านธรรมดา เป็นการไม่คู่ควรกัน จึงสามารถทำให้ร่างของฆราวาสผู้สำเร็จอรหันต์แล้วต้องสลายตัวไป อันเป็นกฎความจริงของธรรมชาติในขั้นนี้

 

          ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับแร่ธาตุบางอย่างในโลกนี้ ในเมื่อมาพบกันเมื่อใดแล้วจะต้องมีปฏิกิริยาสลายตัวหรือเกิดธาตุใหม่ขึ้นมา ในกรณีเช่นนี้ ธาตุแท้แห่งพระอรหันต์ที่บริสุทธิ์สะอาดอย่างแท้จริง เมื่อเกิดอยู่ในร่างของคฤหัสถ์ธรรมดา จึงมีประสิทธิภาพหรือมีอำนาจที่จะทำให้ร่างกายของคฤหัสถ์สลายตัวลงไปได้ เพราะเป็นร่างกายที่ไม่ควรที่จะรองรับคุณธรรมของพระอรหันต์
 

 

 

บาปกรรมอยู่ที่ใจ

แนะนำวิชาอาชีพแต่มิได้สั่งให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นฆ่าสัตว์

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ :   ดิฉันสนับสนุนให้ประชาชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนี้เจ้าค่ะ เคยมีลูกศิษย์ของท่านอาจารย์แบนเรียนด้วยความหวังดีว่า “อย่าทำเลยหม่อนไหม วัน ๆ หนึ่งชาวบ้านต้มไหมเป็นล้าน ๆ ตัว”

          เพราะเหตุว่าเห็นสภาพที่เขาอดอยาก พิการ อดอยาก ตาบอด ก็เลยคิดว่าการสนับสนุนให้เขาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนี้จะทำให้เขาอยู่ดีกินดีขึ้น แม้ว่าเขาผลิตแล้วไม่นำออกมาขายก็ไม่ได้เงินมาเลี้ยงชีพ.

 

          ดิฉันอยากจะช่วยเด็ก ๆ ที่ยากจน แต่ลูกศิษย์พระอาจารย์ก็เตือนมาเรื่อย ๆ ก็เลยคิดว่าเราได้ช่วยคนมามาก ๆ ดีกว่าคนที่เขาไม่ได้เข้าวัด ไม่ทำอะไรเลย เราหากินสุจริต ทำบุญได้ หากินได้ ทำอะไรได้ เลี้ยงลูกได้ พระคุณเจ้ามีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร


 
หลวงพ่อพุธ ตามที่แนะนำให้ราษฎรเขาทำอย่างนั้น เพียงแต่ว่าได้แนะนำให้เขาเลี้ยง แต่ไม่ได้แนะนำให้เขาต้มตัวไหม ในเมื่อเขาทำขึ้นมาแล้ว เขาจะทำอย่างไรเป็นเรื่องของเขา

          ส่วนจะขัดข้องกังวลใจ เพื่อความเข้าใจก็ถือเสียว่าเพียงแต่ได้แนะนำวิธีทางดำเนินชีวิตเท่านั้น ซึ่งมีหลายวิธีการที่เขาจะทำ ในเมื่อเขาทำลงไปแล้ว เขาจะปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แม้ว่าจะไม่สั่งให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ เขาทำไปเอง ถ้าหากสมมติว่าทำใจได้อย่างนี้ก็เป็นที่เบาใจ มากขึ้น

 

        และข้อเปรียบเทียบเวลานี้ เป็นการแนะนำวีชาอาชีพแต่มิได้สั่งให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นฆ่าสัตว์ เพราะไม่ได้สั่งว่าให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นแต่เพียงว่า ปลูกหม่อนนะ เลี้ยงไหมนะ ทำอะไรเพียงแค่นี้ ในเมื่อมีผลิตผลแล้ว เขาจะทำอะไรเป็นหน้าที่ของเขา เช่น อาจจะแต่งตั้งใครสักคนหนึ่งที่มีความชำนิชำนาญในเรื่องนี้ให้คำแนะนำ ถ้าจะเปรียบก็คล้ายกับว่า หมอทั้งหลายเขารักษาโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนมากหมอจะไม่มีคำพูด หรือความตั้งใจเจาะจงลงไปว่า ฉันจะฆ่าเชื้อโรคอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นแต่เพียงว่าคนนี้ป่วยเป็นโรคอย่างนั้น จะให้ยาอย่างนี้ เพื่อให้เขาหายจากโรคภัยไข้เจ็บ

 

          ที่ได้มีเมตตาแก่ประชาชน ที่แนะนำให้เขาทำอยู่ในปัจจุบัน พยายามทำใจว่าได้แนะนำให้เขาทำอย่างนี้ เมื่อเขาปลูกหม่อนแล้วจะต้องมีสัตว์สำหรับกินหม่อน เขาจะหาอะไรมาทำ

 

          นอกจากตัวไหมใบหม่อน เมื่อเขามาเลี้ยงเติบโตขึ้นมาแล้ว เขาจะไปทำรวงทำรังที่ไหน รวงรังของเขาจะเป็นประโยชน์ขึ้นมา คนที่เขาเลี้ยงเขาย่อมรู้จักหน้าที่ของเขาว่าเขาควรทำอย่างไร

 

          เพื่อไม่ให้เป็นการกังวลใจมากนัก อาตมาขอแนะนำวิธีทางทำให้เบาใจ เมื่อแนะนำให้เขารู้จักประกอบอาชีพ พยายามนึกในใจว่าเราไม่ได้แนะนำให้เขาฆ่าสัตว์ เขาจะทำอะไรเป็นหน้าที่ของเขา ให้พยายามทำใจอย่างนี้ อาตมาเห็นว่าความกังวลใจอาจจะลดน้อยลงไป


 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ :     บาปกรรมทั้งหลายนี่อยู่ที่ใจจริง ๆ ใช่ไหมเจ้าคะ


 
หลวงพ่อพุธ :     อยู่ที่ใจ


 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ :    ที่นี้ถ้าเผื่อว่า จิตใจของดิฉันมิได้ใส่ใจในเรื่องตัวไหมเลย แต่ใส่ใจในเรื่องที่ช่วยชีวิตเด็ก ไม่ให้ตาย ไม่ให้พิการ อันนี้สำคัญกว่าใช่ไหมเจ้าคะ

 

หลวงพ่อพุธ :      สำคัญกว่า


 
 

 หน้าก่อนนี้    หน้าต่อไป


แก้ไขล่าสุด ( วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2012 เวลา 05:13 น. )
 
 

Joomla 1.5 Templates by Joomlashack