A Free Template from Joomlashack

A Free Template from Joomlashack

แบบสำรวจ

ท่านกำลังใช้ระบบปฏิบัติการ (OS) อะไรอยู่ ?
 

Search

ผู้เข้าเว็บขณะนี้

เรามี 81 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

JComments Latest

  • canadian online pharmacy canada pharmacy without s...
  • healthy man viagra canadian pharmacy express viagr...
  • Поиск кранов шаровых: основные этапы выбора Компан...
  • Важные критерии при выборе трубопроводной арматуры...
  • porn download: https://de.bigchlen.icu/
ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ตอนที่ 7 PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย Administrator   
วันศุกร์ที่ 02 มีนาคม 2012 เวลา 04:54 น.

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย 

ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ๗

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ

พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓

 

  


พรรษาที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๙๐)

จำพรรษา ที่

วัดเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น

“พระคุณของท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารนี้

เลิศล้ำภายในใจของหลวงพ่อเสมอ เพราะท่านเป็นพระองค์แรกที่พาให้รู้จักทางธรรม

ซึ่งเป็นทางที่สงบระงับและเป็นทางเดินของจิตเพื่อพิชิตกิเลสจริง ๆ”

วัดเขาสวนกวาง

โดยเฉพาะกวางป่ามีมากจริง ๆ ผู้คนจึงนิยมเรียกว่าเขาสวนกวาง

          หลวงพ่ออยู่วัดเขาสวนกวาง ๑ พรรษา สมัยก่อนวัดนี้เป็นดงช้างดงเสือ เป็นป่าดงดิบจริง ๆ ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร ท่านเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า ท่านเดินธุดงค์ผ่านมาในเขตทางจังหวัดขอนแก่น มาจนถึงเขาสวนกวาง เห็นว่าเป็นสถานที่สัปปายะ เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต สำหรับพระโยคาวจรผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ สถานที่ก็ดูรื่นรมย์ดีเหมาะสำหรับพระนักปฏิบัติ สงบสงัด เปลี่ยวกายเปลี่ยวจิต อีกทั้งยังมีสัตว์นานัปการ ช่วยส่งเสริมจิตใจนักภาวนาได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นผู้มุ่งหวังต่อความหลุดพ้นแล้ว สัตว์ ป่า เขา ความน่ากลัวและธรรมชาตินั้น ก็ช่วยผลักดันจิตใจนักภาวนา ให้สงบได้อย่างลึกลับ

 

          ป่าแถบนี้เป็นเขตเทือกเขาภูพาน เป็นป่าที่พระธุดงคกรรมฐานชอบเดินเที่ยววิเวก และเป็นภูเขาที่ทำให้พระธรรมดา ๆ เป็นพระอริยเจ้ามามากต่อมากแล้ว เขาเทือกนี้ทอดแนวยาวเหยียดมาจากทางอำเภอกุมภวาปี อุดรธานี

          ที่วัดเขาสวนกวางนี้เดิมเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า มีสัตว์ป่าชุกชุมมาก มันคงจะหนีความตายมาอยู่บนเทือกเขา มีพวกเสือ ช้าง กวาง โดยเฉพาะกวางป่ามีมากจริง ๆ ผู้คนจึงนิยมเรียกว่าเขาสวนกวาง

          สมัยก่อนนี้ สมัยหลวงพ่อไปอยู่กับท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร ไม่ค่อยมีผู้คน บ้านเมืองก็มีห่าง ๆ กัน บ้านเรือนที่อยู่อาศัยก็มีไม่มากอย่างเช่นทุกวันนี้ เดินบิณฑบาตประมาณ ๒-๓ กิโลเมตร สถานที่ที่วัด เหมาะดี มีลำธารน้ำไหลผ่านตลอดปี มีเงื้อมหิน มีถ้ำให้นั่งภาวนาได้สะดวกสบาย ธรรมชาติที่นั่นสวยงามมาก

 

          ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารมีบุญคุณต่อหลวงพ่อมาก “ไม่มีท่านก็ไม่มีเราในวันนี้”  เริ่มต้นมาจากท่าน ท่านแนะนำสั่งสอนให้อุบายสำหรับภาวนา ให้แง่คิดต่าง ๆ สอนเราทุกด้านทุกทาง บุญคุณของท่านเราจำไม่ลืม แม้ตอนที่ท่านสึกปี ๒๕๐๘ นั้น ก็ไปดูแลท่านตลอด กลัวท่านจะลำบาก เวลาท่านป่วยก็นำท่านมารักษานำมาอยู่ด้วยที่วัดป่าสาลวันจนกระทั่งตาย พิธีศพก็จัดให้เรียบร้อยอย่างดีทุกอย่าง

 

          คำสอนของท่านเรายังจำได้ไม่ลืม ทั้งตอนที่ออกธุดงค์กับท่าน ทั้งตอนที่มาอยู่กับท่านที่วัดเขาสวนกวาง จริตนิสัยท่านไปในทางทิพยอำนาจ ท่านติดฤทธิเดช ติดนิมิต เอานิมิตมาเป็นเรื่องจริง จิตท่านแปลกสามารถรับรู้อะไร ๆ ที่คนอื่นไม่รู้ และท่านก็ชอบเล่าเรื่องอดีตชาติ เรื่องเทวบุตร เทวดา เรื่องรู้วาระจิตท่านรู้จริง ๆ อันนี้มันไม่ใช่ความบริสุทธิ์ มันก็สามารถเสื่อมได้ เพราะมันเป็นส่วนเกินอันหนึ่งในการภาวนาเท่านั้น พอท่านไปสนใจกับมันมาก ๆ ก็ทำให้หลงได้เหมือนกัน เหมือนกันกับสมาธิ สมาธิไม่ใช่ความบริสุทธิ์ สมาธิมันก็สามารถเสื่อมได้

 

          แต่สิ่งเหล่านี้เป็นทางเดินไปเพื่อความหลุดพ้น ใครจะเดินไปก็ต้องผ่านทางนั้นแต่จะติดจะหลงหรือไม่เท่านั้น ถ้าผู้มีวิจัยธรรมใคร่ครวญพินิจพิจารณา มีสติรอบด้าน มีปัญญารอบด้านก็จะไม่ติดสิ่งเหล่านี้

 

พรหมวิหาร ๔

สามารถเลี้ยงทั้งศีล เลี้ยงทั้งสมาธิ เลี้ยงทั้งปัญญา

          ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารตอนอยู่กับท่าน ท่านสอนให้เจริญพรหมวิหาร ๔ การภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นทางวิมุตติหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้นั้น เราต้องเจริญพรหมวิหาร ๔ ประการด้วยเสียก่อน

 

          เพราะการเจริญพรหมวิหารธรรมนี้ เป็นกรรมฐานที่สำคัญ สามารถเลี้ยงทั้งศีล เลี้ยงทั้งสมาธิ เลี้ยงทั้งปัญญา อารมณ์จิตก็สบาย มีความเยือกเย็น เราจะเห็นได้ด้วยตนเองว่า เมตตาความรัก กรุณา ความสงสาร สองอย่างนี้ ก็สามารถจะคุ้มศีลให้เกิดความบริบูรณ์ทุกอิริยาบถ เพราะศีลทุกข้อทุกคำ จะทรงอยู่ได้ต้องอาศัยเมตตาและกรุณาทั้งสองอย่าง

          เมตตา แปลว่า ความรัก กรุณา แปลว่า ความลงสาร ถ้าเรามีความรัก มีความสงสาร เราก็จะไปทำลายชีวิตคนและสัตว์ไม่ได้ ลักขโมยหรือปล้นของเขาก็ไม่ได้ จะยื้อแย่งความรักจากคนอื่นก็ไม่ได้ พูดโกหกหลอกลวงก็ไม่ได้ สุรายาดองอันเป็นของมึนเมา เราก็ล่วงละเมิดไม่ได้ เมื่อทุกอย่างพร้อมมูล เราก็จะไม่สามารถกระทำความชั่วโดยขาดสติสัมปชัญญะ นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในตอนหนึ่ง

 

          ทีนี้เรายังต้องมีหลักในการที่จะทรงอารมณ์ในสมาธิ คือ มุทิตา ความอ่อนโยน มุทิตานี้จะตัดความอิจฉาริษยาออกจากจิตใจ พลอยยินดีในเมื่อบุคคลอื่นได้ดีแล้ว ถ้านักปฏิบัติภาวนา ยังมีอารมณ์อิจฉาริษยาอยู่ ก็อย่ามาคุยว่าเป็นนักปฏิบัติ เพราะอารมณ์ริษยานี้เป็นอารมณ์ที่ร้ายแรงมาก เช่นเห็นคนอื่นได้ดี ใจอยู่ไม่เป็นสุข ทนไม่ได้ เกรงเขาจะดีเกินหน้าตาตัวไป ดังนั้นพระศาสดาเจ้าทรงสอนว่า ถ้าบุคคลใดมีมุทิตา ตัดอิจฉาริษยาออกไป ให้มันพ้นออกไปจากจิตใจ ความเร่าร้อนมันก็ไม่มี พลอยยินดีกับผู้ที่ได้ดี เขาต้องอาศัยบุญวาสนาบารมีของเขาเป็นสำคัญ อารมณ์มุทิตาจิตนี้สามารถสร้างความดีให้เกิดขึ้นให้เรามีความสุข

 

          อุเบกขา คือ ความวางเฉย เฉยต่ออารมณ์เฉพาะที่เข้ามายุ่งอยู่กับจิต อันที่เนื่องกับอารมณ์ที่ต้องการ อย่างเรากำหนดรู้อารมณ์กำหนดลมหายใจเข้า-ออก จิตมันหยุดอยู่เฉพาะลมหายใจเข้า-ออกเพียงอย่างเดียว ไม่แส่ส่ายไปยุ่งเหยิงกับอารมณ์ภายนอกทั้งหมด คือไม่ไปสนใจกับรูป เสียง แสงสีต่าง ๆ อย่างใดทั้งสิ้น

 

          จะเห็นได้ว่า ผลของอุเบกขา คือ ความวางเฉยในด้านสมถภาวนา มีอารมณ์ทางจิตให้อยู่ทรงตัว มีอารมณ์จิตเป็นฌาน นักนิยมปฏิบัติภาวนา ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ในเรื่องอุเบกขา มิใช่ว่า คำอุเบกขานี้ปล่อยอุเบกขาไปเรื่อย จะเป็นจะตายไม่สนใจ อย่างบุคคลที่มีบุตรหลานมากคนด้วยกัน ถ้าเราปล่อยเฉย นั่งเคร่งอย่างไร้ปัญญา ลูกหลานเราเป็นเด็กซนดื้อ ส่อความชั่วออกมาให้เห็น แต่เราเชื่อความอุเบกขา เลยปล่อยเฉย ไม่ตักเตือนว่ากล่าว พยายามกดทับอุเบกขาอยู่ แต่ภายในจิตใจเที่ยววิ่งพล่านเช่นนี้เขายังไม่เรียกอุเบกขา

 

มโนมยิทธิ

มโนมยิทธิได้จากเจ้าคุณอริยฯ

          มโนมยิทธิได้จากเจ้าคุณอริยฯ...ท่านก็เคยให้พวกเรานั่งไปดูนรก ดูสวรรค์เหมือนกัน แต่ว่ามันเป็นไปไม่ได้..ใช้ภาวนา

 

          การภาวนาหรือนั่งสมาธิไปดูนรกไปดูสวรรค์นั้น ตามตำรับของไสยศาสตร์มันมีแบบมีแผนให้ศึกษากัน ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในหนังสือ “กรรมฐานสิบสองยุค” ของเจ้าคุณพระเทพญาณวิศิษฐ์ (ใจ ยโสธโร) รวบรวมไว้ที่วัดบรมนิวาส (กรุงเทพฯ) มันมีคาถาบทหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าคาถาพระเจ้าเปิดโลก คาถาพระเจ้าเปิดโลกนี้ ตอนที่ ๒ หลวงพ่อจำได้ว่า ข้อความว่า

 

          พุทฺโธ ทีปงฺกโร โลกทีปํ วิโสธยิ

          ธมฺโม ทีปงฺกโร โลกทีปํ วิโสธยิ

          สงฺโฆ ทีปงฺกโร โลกทีปํ วิโสธยิฯ

          เมื่อว่าคาถานี้จบแล้ว ก็อธิษฐานในจิตในใจว่า

          พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า เป็นดวงประทีปส่องโลก ขอโปรดส่องทางนรกทางสวรรค์ให้ข้าพเจ้าเห็นจริงแจ่มแจ้งในกาลบัดนี้ด้วยเถิด

 

          พอเสร็จแล้วผู้บริกรรมภาวนา ถ้าจะไปดูนรก ก็นึกในใจว่า “นรก ๆ ๆ ๆ ๆ”

          ถ้าจะไปสวรรค์ก็ “สวรรค์ ๆ ๆ ๆ ๆ”

          ทีนี้พอจิตมันสงบเป็นอุปจารสมาธิ เกิดสว่างขึ้น ผู้ภาวนาจะมีอาการสั่นเหมือนกับผีสิง พอเสร็จแล้วสภาพจิตของผู้นั้นจะแสดงอาการไปดูนรก ไปดูสวรรค์ตามที่ต้องการ ตามแบบแผนตำรับตำราที่กล่าวไว้ ที่จำได้อันนี้ ได้เคยทดสอบพิจารณาดูแล้ว เมื่อใครก็ตาม ได้มานั่งภาวนาตามคาถาบทที่กล่าวมานี้ ไปเห็นนรกเห็นสวรรค์ได้แล้ว สามารถที่จะเชิญวิญญาณต่าง ๆ เข้ามาทรงภายในตัวเองก็ได้ สามารถที่จะเชิญวิญญาณปู่ย่าตายาย หรือ ครูบาอาจารย์ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ให้เข้ามาสิง แล้วก็สนทนากับผู้ที่นั่งฟัง หรือผู้ที่ควบคุมการแสดงอยู่ อยากจะรู้ว่า คนตายแล้วไปเกิดที่ไหน ตกนรกหรือขึ้นสวรรค์อย่างไรก็ได้

 

          ผู้นั่งสมาธิดูนรกดูสวรรค์นั้น สามารถที่จะนำชาวสวรรค์ชาวนรกมาคุยกับเราก็ได้ อันนี้เป็นวิธีอันหนึ่งสำหรับวิธีการภาวนา ไปดูนรก ไปดูสวรรค์ แต่มันจะจริงแน่นอนหรืออาจเกิดจากความจำก็ได้

 

          และอีกนัยหนึ่ง เขาใช้วิธีการที่เรียกว่า ปลุกพระ จะเอาพระเครื่องรางของขลัง เป็นพระเป็นเหรียญเป็นอะไรก็ตาม มากำไว้โนมือ แล้วก็บริกรรมภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ จนกระทั่งมีอาการสั่นขึ้น ในเมื่อมีอาการสั่นขึ้นแล้ว จะให้ไปเชิญวิญญาณที่ไหน ๆ ให้มาทรงก็ย่อมเป็นได้ แต่วิญญาณที่มาทรงนั้น เท็จจริงอย่างไรก็ไม่กล้ายืนยัน ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ บางทีสามารถเชิญกระทั่งวิญญาณของพระอรหันตพระพุทธเจ้ามาทรงก็ได้

 

          แต่สำหรับมติของหลวงพ่อนั้น เข้าใจว่า ในเมื่อประกอบพิธีเชิญวิญญาณขึ้นมา มันก็ต้องมีวิญญาณมาทรง แต่วิญญาณที่มาทรงนั้น จะใช่บุคคลที่เราเชิญมาทรงหรือเปล่า ในเมื่อทำพิธีกรรมแล้ว ต้องมีวิญญาณมาทรงอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้มิใช่ว่าจะเป็นไปได้หมดทุกคน แม้แต่ในสำนักทรงวิญญาณทั้งหลาย ผู้ที่ชำนาญในการเชิญวิญญาณทรง เขาก็มีกันเพียง ๒ คนเท่านั้น ในเมื่อผู้ใดต้องการรู้ต้องการทราบเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องอดีต อนาคต ปัจจุบัน เขาก็ให้คนที่ฝึกเอาไว้นั้นแหละมาทำการทรง

 

          และอีกนัยหนึ่ง การทรงวิญญาณแบบฝรั่ง เขาเรียกว่าใช้วิธีการสะกดจิต คือ เอาเด็กชายตั้งแต่ ๑๐ ขวบ ไม่เกิน ๑๕ ขวบ มาทำการสะกดตามแบบวิธีของเขา ในเมื่อเขาสะกดเด็กให้หลับแล้ว เขาสามารถที่จะใช้เด็กไปดูนรกดูสวรรค์ หรือไปติดต่อกับโลกข้างหน้าได้อย่างสบาย อันนี้ก็เป็นวิธีการอีกอันหนึ่งซึ่งก็แล้วแต่ผู้สะกด

 

 

สมาธิที่ถูกต้อง

ไม่เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส ไม่เป็นไปเพื่ออิทธิฤทธิ์

          เรื่องทั้งหลายที่กล่าวมานั้น มิได้เกี่ยวเนื่องด้วยการทำสมาธิภาวนาตามแบบที่ถูกต้องซึ่งเรียกว่า สัมมาสมาธิ และขอให้ท่านทั้งหลายพึงเข้าใจว่า การทำสมาธิตั้งแต่ขั้นปฐมฌานถึงขั้นจตุตถฌานนั้น มันยังเป็นสมาธิสาธารณะทั่วไปแก่ทุกลัทธิศาสนา และแก่ลัทธิที่มีการปฏิบัติสมาธิโดยทั่ว ๆ ไป

 

          เพราะฉะนั้น สมาธิของพระพุทธศาสนานั้น จึงอาศัยหลักศีลตามขั้นภูมิของแต่ละบุคคลผู้ปฏิบัติอยู่นั้น เป็นหลักตัดสินว่า สมาธิของเขาถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

 

          ขอให้ถือคติว่า สมาธิหรือการปฏิบัติธรรมอันใด ถ้าหากมันเป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส เป็นไปเพื่ออิทธิฤทธิ์ เป็นไปเพื่อการกระทำอะไรแปลก ๆ ต่าง ๆ เช่นอย่างการเป็นหมอดูด้วยสมาธิเป็นต้น พึงเข้าใจเถิดว่า มันเป็นมิจฉาสมาธิ ซึ่งออกนอกหลักพระพุทธศาสนา

 

          สมาธิในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นสัมมาสมาธิ ที่ประกอบพร้อมด้วยองค์อริยมรรค ผู้ปฏิบัติเมื่อจิตประชุมพร้อมลงสู่องค์อริยมรรคแล้ว จิตจะดำเนินไปเพื่อความหมดกิเลสเท่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อความพอกพูนกิเลส ตามที่กล่าวมาแล้ว

 

 

ฤทธิ์ อิทธิพล อำนาจ

คนเราทุกคนมีฤทธิ์ มีอิทธิพล มีอำนาจอยู่ในตัว

          คนเราทุกคนมีฤทธิ์ มีอิทธิพล มีอำนาจอยู่ในตัวเพราะเราเวียนว่ายตายเกิดมาหลายภพหลายชาติ

 

          ในชาติก่อน ๆ เราอาจจะเคยได้เป็นฤๅษีบำเพ็ญฌานบำเพ็ญตบะมาแล้ว เราก็ไม่ทราบได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ฤทธิ์ อิทธิพลและอำนาจที่เราเคยบำเพ็ญมาในภพก่อนชาติก่อน จิตใต้สำนึกของเราจะเป็นผู้เก็บบันทึกเอาไว้ แล้วจะติดไปกับจิตของเราทุกภพทุกชาติไม่ว่าเราจะไปเกิดในที่ใด ภพใด

 

          เมื่อจิตใต้ลำนึกตื่นขึ้นมา มันมีลักษณะอย่างไร เราจะรู้สึกว่าจิตของเรานี้มีสติรู้ตัวตลอดเวลา ความเป็นผู้มีสติรู้ตัวตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะขยับไปทางไหน ในจิตของเราก็มีสติสำทับอยู่ทุกขณะจิต

          เราก้าวเดิน สติก็มาทำหน้าที่

          เรายืน สติก็มาทำหน้าที่

          เรานั่ง สติก็มาทำหน้าที่

          เรานอน สติก็มาทำหน้าที่

          เรารับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด สติก็จะมาพร้อมอยู่ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ

 

          ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า จิตใต้สำนึกตื่นขึ้นมาแล้ว จิตใต้สำนึกที่ตื่นขึ้นมา มีสติสัมปชัญญะ รู้ เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา จิตที่ไม่สติ เป็นจิตที่เป็นผู้รู้ ได้ชื่อว่าเป็นจิตพุทธะ ถ้าสติสัมปชัญญะสมาธิเข้มแข็ง จิตก็จะเป็นผู้ตื่น คือตื่นตัวเตรียมพร้อมที่จะรับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็มีความแกล้วกล้าอาจหาญชื่นบาน มีความยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ภายในจิตตลอดเวลา จึงกลายเป็นจิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

 

          จิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นักปราชญ์ท่านเรียกว่า จิตพุทธะ พุทธะที่เกิดขึ้นกับจิตของผู้ปฏิบัติสมาธิ ก็คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มาจากคำบาลีว่า พุทโธ พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ พุทโธ แปลว่า ผู้ตื่น พุทโธแปลว่า ผู้เบิกบาน

          เมื่อเรามีผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อยู่ในจิตของเรา เป็นคุณธรรม คุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ ทำจิตของเราให้เป็นพระพุทธเจ้า แต่พวกเราฟังคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเรามาปฏิบัติตาม เราจึงได้ชื่อว่าเป็นพุทธสาวก คือสาวกผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม คือธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ ในเมื่อทรงไว้ซึ่งความรู้สึกเช่นนั้น ก็ได้ชื่อว่ามีคุณธรรมอยู่ในจิต ผู้ที่มีคุณธรรมอยู่ในจิต เขาย่อมจะมีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี ตั้งใจที่จะละความชั่วประพฤติความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดอยู่เสมอ นี้คือคุณสมบัติที่จะเกิดจากการฝึกสมาธิ

 

คำทำนายของท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร

ต่อไปจะได้ไปสนทนาธรรมกับในหลวง

          ตอนนั้นเดินทางจากสกลนครไปอุดรฯ พอขึ้นนั่งรถ จิตมันก็ปรุงแต่งไปตลอดทาง มันปรุงขึ้นมาเหมือนกับว่าเราได้นั่งสนทนากับในหลวง เราถามท่านตอบ ถ้าท่านถามเราตอบ สลับกันไปจนกระทั่งถึงเมืองอุดรฯ ลงจากรถยนต์แล้วจะไปต่อรถไฟ จิตมันถึงได้หยุด

 

          พอไปถึงเขาสวนกวางก็ไปกราบท่านเจ้าคุณอริยะฯ ท่านก็ทักว่า

 

          “นี้..มหาต้องฟิตตัวให้ดีนะ ต่อไปจะได้ ไปสนทนาธรรมกับในหลวง ในพระบรมมหาราชวัง"

 

          ตอนนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๙๐

 

 

เผาศาลเจ้าปู่

เฮ้ย! มึงไปเผาบ้านเจ้าปู่วอดวายหม้ด

          ตอนนั้นสมัยอยู่กับเจ้าคุณอริยะฯ สมัยพุทธศักราช ๒๔๙๐ ท่านให้เอาของไปเซ่นศาลเจ้าปู่ ชื่อ ศาลเจ้าปู่ผึ้ง

 

          สาเหตุคือพ่อปู่นี่ (หมายถึงผี) มาเข้าสิงคนมานั่งสมาธิไปดูนรกสวรรค์นั่นแหละ บอกว่าอยากมาอยู่ใกล้ ๆ นี่ ท่านก็เลยส่งให้คนไปสร้างศาลให้ ทีนี้พอสร้างศาลเสร็จ เจ้าปู่ก็มาอีก มาชี้บอกว่า

 

          “ให้หลานชายนี้ (พระมหาพุธ) ให้เอาโอวัลติน ขนมปัง หมาก บุหรี่ไปส่งทุกวัน ปู่ก็จะเสวยวันละหนเหมือนกันกับพระที่ฉันวันละครั้ง ส่งวันละครั้งก็พอ”

 

          เรา (พระมหาพุธ) ก็ไป ท่านสั่งก็ไป ไปก็ไป ทีแรกไปวางเอาไว้ ไปวันหลังเห็นแต่มดมันกิน มาภายหลัง

 

          เออ! ถ้าอย่างนี้เรากินดีกว่า

 

          วันสุดท้ายมื้อสุดท้าย เราก็ฉันขนมปัง โอวัลติน เคี้ยวหมาก ดูดบุหรี่เสร็จแล้วก็ไปเอาใบพวงใบใหญ่ ๆ มา เก็บเอาหญ้าแห้งแถว ๆ รอบ ๆ นั้นแหละมามวนเป็นบุหรี่ วันนั้นเอาน้ำมันเบนซินไปด้วย ขอน้ำมันเบนซินจากรถเขา ทีนี้ลมมันมาทางนี้ เราก็จุดบุหรี่มวนใหญ่ ๆ แล้วก็เอาไปเสียบไว้ทางด้านลมมันพัด กระป๋องน้ำมันก็เอาไปวางไว้ในศาลเจ้าปู่ พอลมมันพัดมาแรง ๆ วูบ ๆ ไฟมันลุกติดพรึบ! ศาลเจ้าปู่ก็แหลกเกลี้ยงหมดเลย ตอนนั้นเราเป็นพระอยู่นี้แหละ ศาลนั้นก็อยู่ในวัด ก่อนจะเผานี้สวดมาติกาบังสุกุลก่อนนะ

 

          พอตอนท่านเจ้าคุณฯ กลับมา ท่านยังไม่รู้ ภายหลังมา วันหลัง ท่านจะให้เราเอาไปส่งอีก

 

          “อู๊ย! ไปส่งทำไมหนอ ท่านปู่ท่านนิพพานไปแล้ว เจ้าปู่ท่านเสด็จสวรรคตไปแล้ว ผมทำฌาปนกิจถวายพระเพลิงท่านตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว”

 

          ท่านก็เลยนิ่งอึ้ง... พอฉันจังหันเสร็จ ท่านก็เดินไปดูสิ

 

          “เฮ้ย! มึงไปเผาบ้านเจ้าปู่วอดวายหม้ด”

 

 

 

กตัญญูต่อครูบาอาจารย์

มะรืนนี้ฉันจะไปรับมารักษาที่โคราชดีกว่า

          ตอนที่ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารท่านสึกแล้ว ท่านอยู่เขาสวนกวาง ท่านให้เขาเขียนจดหมายไปหาเจ้านายองค์หนึ่ง อยากจะไปขอความอนุเคราะห์ แล้วท่านก็บอกว่าเป็นเชื้อพระญาติพระวงศ์

 

          ทีนี้พอไปเจ้านายองค์นั้นท่านก็ไม่รู้เรื่อง ก็กลับมา มาหาหลวงพ่อที่นี้ ท่านอยากจะไปรักษาตัวที่เมืองอุบลฯ หลวงพ่อก็เลยลงไปกับลูกศิษย์ท่านบอกว่า

 

          “ให้ไปเรียน ไปบอกให้ท่านรู้ว่า มะรืนนี้ฉันจะไปรับมารักษาที่โคราชดีกว่า”

 

          พอเสร็จแล้วก็เอารถไปรับท่าน ตอนที่ขึ้นรถมา ท่านเดินไม่ไหว ให้ผู้จัดการธนาคารเอเซียเอาท่านมาไว้ที่กุฏิน้อย ตอนนั้นยังไม่ได้เข้าโรงพยาบาล ทีนี้พอเสร็จแล้ว พอมารักษาดีขึ้น ๆ เอ้า! หลานชายท่านก็มาเอาไปหาหมอจีน เสร็จแล้วก็ทรุดลงอีก ตอนนี้เอาเข้าโรงพยาบาล

 

          เข้าโรงพยาบาลแล้วเราก็ไปเยี่ยม เอ้อ! แข็งแรงหน่อยแล้ว อยากจะออกจากโรงพยาบาล เอาออกก็เอาออก ก็เลยขออนุญาตหมอเอาออกมา ทีนี้ก็เอามาก็เดินตอนเช้า ๆ เย็น ๆ ท่านก็เดินรอบวัดได้ แข็งแรง จากนั้นหลานชายคนเดิมนั้นก็เอาท่านไปหาหมอผีที่ต้นตาลคู่ ก็ไปทรุดลงอีก เอาเข้าโรงพยาบาลก็สั่งหมอไม่ให้ออกแล้ว

 

ร้องไห้ทำไม

ท่านบอกว่า “อายท่านเจ้าคุณฯ”

          ครั้งสุดท้ายก็เลยตายในโรงพยาบาล ท่านป่วยเชิง ๆ จะเป็นอัมพาต ไปเยี่ยมทีไรร้องไห้ทุกที

          ถามว่า “ร้องไห้ทำไม”

          ท่านบอกว่า “อายท่านเจ้าคุณฯ”

          เราก็นึกถึงคำพูดของท่าน สมัยที่ท่านเอาเรามาทิ้งไว้ที่วัดบูรพาฯ ก่อนที่ท่านจะจากไป ท่านบอกว่า

          “ถ้าตัวเป็นคนดีเขาจะทิ้งหรือ”

          ไหนว่าจะฝากไว้เรียนหนังสือหนังหา ที่แท้ก็ทิ้งกัน ทิ้งก็ทิ้ง เราก็ตั้งใจอยากอยู่ อยู่แล้ว เราก็เลยมาคิดว่า ท่านคงคิดถึงคำพูดของท่านเอง สมัยที่ท่านทิ้งเอาไว้ที่วัดบูรพาราม

 

          ท่านก็ให้วิชาความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติเยอะแยะ ถ้าพูดถึงว่าธัมมะธัมโมของท่านนี้ละเอียดสุขุมมาก เช่น หนังสือทิพยอำนาจ หนังสือทิพยอำนาจเขียนในขณะที่ใคร ๆ ว่าท่านเป็นโรคประสาท ท่านไปติดในเรื่องการระลึกชาติ ท่านไปติดว่าท่านเป็นเจ้า ทีนี้ความรู้อดีตกับปัจจุบันมันตัดกันไม่ขาด มันก็เลยสัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน

 

          ท่านบอกว่า แม่ของท่านทุกวันนี้ไม่ใช่แม่ เขามาฝากเลี้ยงไว้เฉย ๆ เราก็สงสัย พอแม่ท่านมาก็ถาม

 

          “ท่านเจ้าคุณฯ ท่านว่าไม่ใช่แม่ใช่มั๊ย เขาเอามาฝากเลี้ยงไว้”

 

          แม่ท่านก็บอกว่า

 

          “ออกมาจากท้องแม่นี้แหละ”

 

          หลวงพ่อไม่ไปอยู่ใกล้ ๆ ท่าน เวลาท่านพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องอดีตที่เราไม่รู้ไม่เห็นด้วย ตอนนั้นอยู่วัดเขาสวนกวางพรรษาเดียว ที่ไม่อยากอยู่นั่นก็เพราะท่านชอบพูดเรื่องลึกลับที่ชาวบ้านไม่เห็น แล้วเราก็ไม่อยากให้ท่านพูด ทิฏฐิมันขัดกัน

 

 

กฎของกรรม

ชีวิตทุกชีวิตมันขึ้นอยู่กับกฎของกรรม

          สิ่งที่เป็นสิ่งที่ยึดมันเป็นหลักใจของชาวพุทธนี้มันเขวไป เพราะเกจิอาจารย์มันอยากดัง แล้วก็ไปหาวิชาอาคมมาแจกกันท่อง เต็มบ้านเต็มเมือง ชีวิตทุกชีวิตมันขึ้นอยู่กับกฎของกรรม สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าสอน ว่าสิ่งนี้มันเป็นบาป พระองค์เคยทำบาปสิ่งนี้ตกนรกมาแล้ว สิ่งนี้เป็นบุญ พระองค์เคยทำบุญขึ้นสวรรค์มาแล้ว การบำเพ็ญตบะบำเพ็ญฌาน ได้สำเร็จฌานสมาบัติตายแล้วไปเกิดเป็นพระพรหม ในพรหมโลก พระองค์ก็เคยปฏิบัติมาก่อนแล้ว เรื่องบุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกชาติในหนหลัง ได้ทำให้พระองค์รู้สิ่งเหล่านี้

 

          เพราะฉะนั้นคำสอนของพระองค์นี้ มันจึงเป็นสัจจธรรม เพราะเป็นสิ่งที่พระองค์ได้ลองของมาแล้วด้วยตนเอง อย่างที่ท่านมาสอนให้เราบำเพ็ญเพียรภาวนาให้เราบรรลุอริยมรรคอริยผล พระองค์ก็ปฏิบัติสำเร็จมาก่อน แล้วจึงได้มาสอนเรา ไม่ใช่ลักษณะที่ว่านอนหลับแล้วตื่นขึ้นมาเทศน์สอน ล้วนแต่พระองค์เอาของจริงมาว่ากันทั้งนั้น

 

 

พระอรหันต์สมาธิเสื่อมได้

แต่ความเป็นอรหันต์นั้นไม่เสื่อม

          สมาธิที่เกิดความเสื่อมไม่ใช่แต่พระสงฆ์เท่านั้น พระอรหันต์ก็เกิดความเสื่อมได้ แต่ว่าวิถีทางจิตนี้มันเสื่อมได้ ถ้าไม่ฝึกฝนสมาธิก็เสื่อมได้ อดีต อนาคต ปัจจุบัน ถ้าไม่ฝึกฝนมันก็เสื่อมได้ แต่ความเป็นอรหันต์นั้นไม่เสื่อม คือหมดกิเลส ศีล ทำให้หมดบาป หมดบาปที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ จิตมั่นคง สมาธิ ทำให้มีสมาธิแน่วแน่ที่จะละบาป ทำให้เรามีความรู้สึกที่จะละบาป ปัญญา พิจารณารอบรู้ ให้มันยอมรับสภาพความเป็นจริง เมื่อมันยอมรับความเป็นจริงแล้ว มันก็ละวางที่จิตมันรู้เห็น ถ้าหากว่าละวางจนถึงระดับพระอรหันต์แล้ว สิ่งที่จะพึงทำต่อไปไม่มีอีกแล้ว นี้คือวิธีทางของพระอรหันต์

 

 

 

สมาธิมีขั้นเดียว

มันจะก้าวไประดับไหนก็คือสมาธิอันเดียว

          สมาธิมีขั้นเดียว คือสมาธิ มันจะก้าวไประดับไหน ก็คือสมาธิอันเดียว อย่าไปนับขั้นนับตอนอะไร ขอให้มันเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว เราละบาปได้หรือเปล่า ศีล ๕ ของเราบริสุทธิ์หรือเปล่า เอากันที่ตรงนี้เป็นเครื่องตัดสิน เรื่องของสมาธิใครจะไปถึงขั้นใดตอนใด ถ้าจิตไม่บริสุทธิ์ไม่มีทาง

 

          ในสังคมของพุทธบริษัทที่เราต้องวุ่นวายกันอยู่นี้เพราะศีลมันไม่เสมอกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระเจ้าพระสงฆ์นี่ องค์หนึ่งกินนมตอนเย็นได้ แต่อีกองค์กินไม่ได้ พอมาเจอกันเข้าท่านก็เถียงกัน องค์หนึ่งจับจ่ายใช้สอยด้วยมือตนเองไม่ได้ แต่อีกองค์หนึ่งทำได้ มาเจอกันเข้าท่านก็เถียงกัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าการปกครองบ้านเมือง ปกครองศาสนา บ้านเมืองกฎหมายรัฐธรรมนูญนั่นแหละเป็นสำคัญ

 

          ทางศาสนา ศีล คือวินัยเป็นหลักสำคัญ กฎหมายก็ดี ศีลคือวินัยก็ดี เป็นหลักที่เราจะปรับความประพฤติให้มีพื้นฐานเท่าเทียมกัน ถ้าเราไปยิ่งหย่อนกว่ากันแล้วก็มีการปรักปรำกัน แต่ทางกฎหมายปกครองบ้านเมือง ในเมื่อมีคดีเกิดขึ้น มันต้องมีโจทก์มีจำเลย มีหลักฐานพยาน แต่ศีลคือวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัตินี้ ตัวเองเป็นโจทก์ตัวเอง ตัวเองเป็นจำเลยตัวเอง ตัวเองเป็นหลักฐานพยานตัวเอง คือตัวเองต้องพิจารณาตัวเองว่ามีความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์

 

          เพราะฉะนั้น เราปฏิบัติสมาธิ จิตของเราจะไปถึงสมาธิขั้นใด ตอนใด กี่ขั้น กี่ชั้นก็ตาม ผลลัพธ์ก็คือว่า เราละความชั่วได้แน่ มันอยู่ที่ตรงนี้

 

          ทีนี้หลักการพิสูจน์ว่าเราละความชั่วได้หรือเปล่า ถ้าสมมุติว่าเรามีครอบครัว เราแอบไปหากำไรนอกบ้าน นั้นแสดงว่าเราไม่บริสุทธิ์แล้ว ดูให้มันง่าย ๆ อย่างนี้ อย่าไปดูให้มันลึกนัก

 

 

 

พรรษา ๗ - ๑๒ (พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๔๙๖)

จำพรรษา ที่

วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

เป็นมหาเปรียญ ๔ รู้ข้อสอบล่วงหน้า

นั่งสมาธิจะบังคับจิตให้มันอยู่นิ่ง ๆ คือการทำลายมันสมองของตนเอง

          สอบประโยค ๔ เจ็บป่วยมาตลอดทั้งหลายปี หนังสือไม่ได้ดู แต่เพื่อนมาชวนไปสอบ

          เอ้า! สอบยังไงหนังสือก็ไม่ได้ดู

          “ไปลงชื่อเอาไว้ พอเพิ่มจำนวนนักเรียน ก็เอา”

 

          เขาว่าอย่างนั้น เราก็อุตส่าห์ลงชื่อไปสอบกับเขา ไปสอบแล้ว ปรากฏว่าสอบประโยค ๔ ได้ หนังสือหลักสูตรประโยค ๔ ยังไม่ได้แปลเลย

 

          หลวงพ่อเรียนหนังสือ พอกลับจากห้องเรียนมา อาบน้ำอาบท่าไหว้พระสวดมนต์ มานั่งสมาธิ พวกนักภาวนาทั้งหลายเขาพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภกรรมฐาน หลวงพ่อมานั่งคิดทบทวนวิชาความรู้ที่เรียนมาแต่ละวัน ๆ ๆ ๆ ว่ามันจะจำได้กี่มากน้อย ทีนี้มันติดขัดตรงไหนเปิดออกมา เราเอาหนังสือมาวางไว้ ตีขีดเส้นหมายเอาไว้ พอออกจากสมาธิมา มาท่องเอาแต่เฉพาะตรงที่เราจำไม่ได้ นี้คือหลักการปฏิบัติสมาธิ

          พวกเรา ไอ้เรื่องการปฏิบัติสมาธิไปบรรลุมรรคผลนิพพาน เอาเก็บไว้ก่อน เอากันเป็นว่าปฏิบัติสมาธิเพื่อปลุกจิตใต้สำนึกให้มันตื่นขึ้นมา เมื่อเราปลุกจิตใต้สำนึกให้มันตื่นขึ้นมาได้ เราจะรู้สึกเสมือนหนึ่งว่า จิตของเรานี้มันมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา มันไม่เผลอ เมื่อเป็นเช่นนั้น ความทรงจำมันก็ดี หัวคิดสติปัญญาก็ปราดเปรื่อง คิดอะไรทะลุปรุโปร่งไปหมด เช่นอย่างหลวงพ่อไปเทศน์ พอขึ้นต้น พอว่าไปได้สัก.... ถ้าเขียนเป็นในหนังสือก็ได้สัก ๒-๓ บรรทัด พอหลังจากนั้นมา คำเทศน์มันผุดขึ้นมา ๆ ๆ จบประโยคนี้ ประโยคใหม่มารอไว้แล้ว โดยไม่ต้องใช้ความคิด อันนี้คือหลักการฝึกสมอง สมองคนเรามันฝึกได้ แต่มานั่งสมาธิจะบังคับให้มันหยุดนิ่ง ๆ ๆ นั่นแหละคือการทำลายมันสมองของตนเอง เวลามันคิด ปล่อยให้มันคิด แต่ว่าเราต้องมีสติรู้ตัว เวลามันหยุดก็มีสติรู้ว่ามันหยุด

 

          จิตเวลามันหยุดอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ มันต้องการพักผ่อน ถ้าเวลามันคิดมันต้องการทำงาน เวลาจิตจะทำงาน เราไปห้ามมัน ไปสกัดมันไว้ไม่ให้มันทำงาน มันก็เหมือนร่างกายไม่ได้ออกกำลังกาย

 

 

 

พุทธนิมิตที่วัดบูรพา

ตรงใจกลางดอกบัวมีเศียรพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา

          ครั้งหลังมากราบเยี่ยมอาการป่วยของหลวงปู่สิงห์ ที่วัดป่าสาลวัน กลับไปโรคกระเพาะลำไส้มันกำเริบอีกที ทีนี้พอเสร็จแล้วกลับไปถึงวัด หมอก็ให้ลุกขึ้นมาฉันยาตอน ๔ ทุ่ม หมอก็แปลก เวลา ๔ ทุ่มก็ลุกขึ้นมาฉันยา

 

          ทีนี้วันหนึ่ง นอนกำหนดจิตไป มันรำคาญใจ มันก็มุดมัดขึ้นมา ร่างกายนี้อยู่กับมันมานานแล้ว ไม่เห็นจะให้ความสุขเลย ไม่อยู่กับหัวมันหรอก

 

          คิดเท่านั้นแหละ จิตมันก็แวบขึ้นมา แล้วเป็นดอกบัวบานสว่างไสว ตรงใจกลางดอกบัวมีเศียรพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา

 

          ทีนี้พอถึงกำหนดเวลาแล้ว จิตมันก็ถอนจากสมาธิ พอถอนจากสมาธิแล้วก็มานึกตำหนิหมอไม่รู้ว่ามากำหนดไว้ทำไม ไปเลยเสียก็ดี แล้วก็มาได้ความรู้สึก ๒ อย่าง เมื่อก่อนนี้ เห็นท่านพ่อลี วัดอโศการามสร้างพระพุทธรูปเป็นดอกบัว แล้วก็มีเศียร เราก็สงสัยว่าทำไมถึงสร้างพระพุทธรูปมีแต่เศียรไว้ในโบสถ์ แต่ไม่กล้าถาม พอมันเกิดนิมิตขึ้นมาอย่างนี้ ก็รู้แจ้งแทงตลอดว่า เพราะอย่างนี้เองท่านพ่อลีท่านจึงสร้างพระพุทธรูปลักษณะนั้น ดอกบัวหมายถึงดวงใจ หัวใจมันเบ่งบานเต็มที่ ในเมื่อจิตมันเบ่งบานเต็มที่ก็เป็นจิตพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อันนี้ถ้ามีคำอธิบายประกอบก็แจ๋วไปเลย มันก็มีแทบทุกครั้ง แต่ไม่เต็มชัดในนิมิต

 

 

ได้ดีเพราะความไม่ดี

ความเจ็บป่วยคืออุปสรรคที่สำคัญที่สุดของชีวิต

          หลวงพ่อได้ดีเพราะความเจ็บป่วย กับคนครหานินทา คนด่า ถ้ามีคนครหานินทาล่ะ...เอาแล้ว ทิฏฐิมานะนี่มันขึ้น แต่มันไม่ไปต่อต้านหรือไปต่อสู้นะ เออ เขาว่าเราไม่ดี เราจะต้องเอาดีให้ได้ เพราะฉะนั้นโบราณจึงพูดเป็นคำพังเพยไว้ว่า อุปสรรคคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง ความเจ็บป่วยคืออุปสรรคที่สำคัญที่สุดของชีวิต ในเมื่อเราต่อสู้กับความเจ็บป่วยอันเป็นอุปสรรค เรามีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้ จดจ่ออยู่ตลอดเวลา สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นสุข เราไม่ต้องไปนึกคิดพิจารณาให้มันลำบากใจ เพราะความจริงมันปรากฏกับเราอยู่แล้วทุกลมหายใจทุกขณะจิต เรากำหนดจิตดูมันเท่านั้น สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ ความโศกเศร้า ความโทมนัสน้อยใจ หรือความน้อยเนื้อต่ำใจอะไรที่มาอยู่ในใจเรา เราก็รู้ เมื่อเรามีสติ อ่านลงไปซิ คัมภีร์พระไตรปิฎกมันอยู่ในใจหมด

 

 

 

ธุดงค์ภูยาง โดนผีหลอก

ตัวมันโต ลักษณะเหมือนอีแร้ง แต่โตกว่าอีแร้งตั้งสี่ห้าเท่า

          หลวงพ่อไปธุดงค์เหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้ไปเหมือนพระทั้งหลาย ครูบาอาจารย์องค์ใดที่สามารถให้ความรู้เราได้ ต้องไปหาองค์นั้น ไปศึกษาเอาเป็นที่พอใจแล้วก็กลับ

 

          ตอนที่อยู่กับหลวงตาพร เราก็ไม่จำเป็นต้องไปธุดงค์ หลวงตาของเราก็พร้อมอยู่แล้วในทุก ๆ ด้าน

          เวลาอยากจะไปธุดงค์ วัดบูรพาฯ มันอยู่สุดเขตแดนเมือง แล้วมันมีป่าแห่งหนึ่งเขาเรียกว่าภูยาง ใครอยากธุดงค์ก็ไปปักกลดอยู่นั่น ให้ผีตายโหงมันหลอก

 

          บางทีกลางคืนก็ถือโคมไฟเดินไปคนเดียว ที่ไหนมันเงียบ ๆ ก็ไปนั่งสมาธิอยู่ที่ตรงนั้น ครั้งสุดท้ายไปกับเด็กน้อยสองคน พวกเด็ก ๆ เขาส่งหลวงพ่อขึ้นบนบกแล้ว เขาก็พายเรือไปโรงสี จะไปเอาข้าวกล้องมาหุง โรงสีโยมจัดนี้แหละ

 

          ขาไปมันพายทวนน้ำ มันก็ช้า ระยะทางก็ประมาณ ๒-๓ กิโล กว่าเขาจะกลับมาก็เกือบ ๔ ทุ่ม หลวงพ่อขึ้นไปอยู่บนภูยางนี้แหละที่ไปโดนผีหลอก เวลามันมานี่ ป่าดังสนั่นหวั่นไหวยังกับวัวควายวิ่งมาเป็นร้อย ๆ

 

          ตอนนั้นหลวงพ่อนอนเอามือท้าวอยู่อย่างนี้ พอมันเงียบเสียงลงมันก็มาทำอะไรต๊อกแต๊ก ๆ อยู่นั่น จนกระทั่งรู้สึกปวดข้อศอกทนไม่ไหว ก็เลยลุกขึ้นมา พอลุกขึ้นมา มันก็วิ่งป่าดังสนั่นหวั่นไหวเลย เสร็จแล้วมันก็วิ่งขึ้นต้นยาง ไปแตะอยู่บนยอดยางสูงจนสุดยอด ตัวมันโต ลักษณะเหมือนอีแร้งแต่โตกว่าอีแร้งตั้งสี่ห้าเท่า มันกระโดดจากยอดยางลงมาแล้วก็วิ่งขึ้นวิ่งลงอยู่อย่างนั้น

 

          ตอนแรกก็ขนหัวลุกซ่า ๆ ๆ นึกกลัว มานึกว่า เอ๊อ! เขาเห็นเราอยู่คนเดียว เขามาอยู่เป็นเพื่อน กลัวเขาไปทำไม มันก็เลยหายกลัว ก็กำหนดจิตดูมันอยู่นั่น แผ่เมตตาให้มันด้วย ส่งส่วนกุศลให้มันด้วย จนกระทั่งเด็กมันกลับมา เด็กมันก็ร้องเรียก

 

          “หลวงพ่อ ๆ”

          พอมันได้ยินเสียงคนร้องมันก็หายไป อันนี้ที่เห็นจัง ๆ นี่

 

 

ธุดงค์ภาคอีสาน “อรหันตนิมิต”

อุ๊ย! พระอรหันต์อะไรหนอมาเที่ยวหาเบียดเบียนผู้อื่น

          ที่...วัดเกาะแก้วอัมพวัน อำเภอพระธาตุพนม

 

          ฝันว่ามีพระอรหันต์องค์หนึ่งมาปลุก

 

          “ใครมานอนอยู่นี่ จะหนีหรือไม่หนี”

 

          “เอ้า! ท่านมีสิทธิอะไรมาไล่ผู้ข้า” เถียงกันในฝันนี่ เถียงกัน

 

          “มีสิ ผมเป็นพระอรหันต์”

 

          “อุ๊ย! พระอรหันต์หาหอกอะไรหนอ มาเที่ยวหาเบียดเบียนผู้อื่น”

 

          พอโดนหนักเข้าอย่างนี้ท่านก็บอกว่า

 

          “เออ.. ผมมาทำธุระทำหน้าที่ของผมเสร็จเรียบร้อยแล้วนะ ท่านจะไปก็ไป ไม่ไปก็ตามใจ แต่ถ้าขืนอยู่นี่เกิน ๑๐ วันอันตราย”

 

          “อันตรายถึงชีวิตหรือเปล่า ถึงตายหรือเปล่า”

 

          “ตายสิ ท่านไม่ควรมาตายแทนเขาเลย คนที่เขาจะตายมีอยู่”

 

          “เออ! ถ้าอย่างนั้นขอนอนไปถึงสว่างแล้วก็จะหนีหรอก”

 

          พอตื่นขึ้นมาก็นึกว่าเรื่องฝันไม่ได้สนใจ

 

 

ฟ้ามันก็ผ่าเปรี้ยงลงมา...เผาสมภารเป็นตอตะโกไปเลย

          พอวันหลังนี้จะเข้าไปนอนในโบสถ์ ไปจับไม้ขีดขึ้นมาจะจุดเทียน มือนี่มันสั่น เลยวางไม้ขีด วางเทียน ไม่จุด เข้านั่งคุกเข่าประนมมือไหว้พระ มือมันก็สั่นขึ้นมาอีก เอ้า ไม่ต้องไหว้ นั่งสมาธิ พอนั่งสมาธิ มันกระโดดตูม ๆ ๆ ๆ นอนดีกว่า

 

          พอนอนลงไปเข้า มันก็ตีพื้นปุ๊บ ๆ ๆ ๆ ในหัวใจนี้มันร้อนผ่าวเหมือนกับไฟเผาเลย อ้าวไม่ไหวแล้ว เลยลุกขึ้นคว้าเอาห่อผ้าครอง ลั่นกุญแจโบสถ์แล้วไปหาหมู่ที่กุฏิ พอไปถึงหมู่ก็ต่อว่า

 

          “นี่โดนผีหลอกมาแล้วแหละ”

 

          “ผีเผอไม่สนใจทั้งนั้นหรอก วันนี้ขอนอนด้วยสักคืนหนึ่ง”

 

          วางห่อผ้าครองนอนลงกับพื้นที่ไม่ต้องมีอะไรปู หลับปุ๋ยจนสว่าง

 

          พอตื่นเช้าชวนหมู่เดินทางกลับ ตอนนั้นอยู่ที่อำเภอธาตุพนม เจ้าคุณวินัยสารสุธีถามว่า

 

          “ไหนว่าจะอยู่จนถึงเข้าพรรษาแล้วทำไมจะรีบกลับ”

 

          “มันมีเรื่องจะต้องกลับ”

 

          “เรื่องอะไร”

 

          “เดี๋ยวไปถึงวัดค่อยคุยกัน”

 

          พอเสร็จแล้ว พอมาถึงวัดนึกว่าท่านเจ้าคุณฯ จะลืม พอวางบริขารปั๊บลง

 

          “มีเรื่องอะไร”

 

          ก็เลยเล่าให้ท่านฟัง พอเล่าจบก็ว่า

 

          คอยดูนะ นับตั้งแต่วานซืนนี้น่ะ มาถึง ๑๐ วัน แล้วเกิน ๑๐ วัน แล้วมันจะมีอะไรเกิดขึ้นกับโบสถ์หลังนั้น

 

          พอเสร็จแล้วนับได้ ๑๒ วัน ฟ้าผ่าวันอุโบสถ เป็นวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ พระลงอุโบสถ พอลงอุโบสถเสร็จ ฝนมันก็ตก พระน้อยพระหนุ่มก็รีบกลับกุฏิไปเก็บสิ่งเก็บของ สมภารกับลูกวัดองค์หนึ่งเก็บของอยู่ในโบสถ์ ทีนี้สมภารท่านอยู่ทางด้านแท่นพระ แล้วมันมีสายไฟฟ้ากองพะเรอ แล้วก็โยงขึ้นไปบนหลังคาด้วย เสร็จแล้วฟ้ามันก็ผ่าเปรี้ยงลงมา วิ่งตามสายไฟฟ้าลงมา มาระเบิดลุกขึ้นที่กองสายไฟที่มันกองอยู่ เผาสมภารดำเป็นตอตะโกไปเลย ที่วัดเกาะแก้วอัมพวัน อำเภอธาตุพนม...

 

          หลวงพ่อไปวัดเกาะแก้วอัมพวันเพราะปีนั้นเดินธุดงค์จากอุบลฯ มาโคราช จากโคราชขึ้นอุดรฯ ขอนแก่น สกลนคร นครพนม รอบภาคอีสาน ขึ้นรถบ้าง เดินบ้าง มีเจ้าคุณวินัยสารสุธี เจ้าคณะจังหวัดอุบลฯ มหาข่าย สมภารวัดบ้านพุนพินไปด้วยกัน

 

          นิมิตกับฝันมันก็เหมือนกัน อันเดียวกัน อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ บางทีนั่งไป ๆ มันก็ฝันเห็นเลข มันแยกไม่ได้ เพราะมันเป็นอันเดียวกัน บางทีเราก็รู้ผิด บางทีเราก็รู้ถูก แม้แต่รู้ธรรมะเป็นข้อความก็เหมือนกัน บางทีเรารู้ผิด บางทีเรารู้ถูก เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ ท่านจึงเตือนว่า อย่าไปถือสำคัญกับความรู้และความเห็น ความรู้ก็ดี ความเห็นก็ดี มันเป็นแต่เพียงอารมณ์จิตเท่านั้น การฟังอะไร ๆ เช่น ฟังสวดมนต์ ฟังเทศน์ ไม่เท่าฟังใจตัวเองนั้นแหละดีที่สุด

 

หน้าก่อนนี้    หน้าต่อไป



แก้ไขล่าสุด ( วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2012 เวลา 04:54 น. )
 
 

Joomla 1.5 Templates by Joomlashack