A Free Template from Joomlashack

A Free Template from Joomlashack

แบบสำรวจ

ท่านกำลังใช้ระบบปฏิบัติการ (OS) อะไรอยู่ ?
 

Search

ผู้เข้าเว็บขณะนี้

เรามี 37 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

JComments Latest

  • Выращивание плодовых деревьев и кустарников https:...
  • https://dzheneriki-viagra.ru
  • Shayne: https://WWW.Wheredowego.In.th/travel/asia/...
  • https://dzhenerik-dapoxetine-kupit.ru
  • сколько стоят семена коки
ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ตอนที่ 4 PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย Administrator   
วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2012 เวลา 04:05 น.

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย 

ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ๔

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ

พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓

 

ฝึกหัดนิสัยจากครูบาอาจารย์

การกราบพระเป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ของเรานี้ถือเคร่งครัดนัก

          เราจะได้เครื่องวัดว่าความประพฤติของเราในปัจจุบันนี้มันไม่ย่อหย่อนหรือว่ามันตึงขึ้น เท่าที่สังเกตโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว บรรดาพระภิกษุสามเณรที่อุปสมบทมาอายุพรรษายังไม่ครบ ๕ ระเบียบวินัยยังไม่รู้ การแสดงอาบัติก็ยังว่าไม่ถูก แล้วก็เที่ยวสะพายบาตรเดินธุดงค์จากเหนือไปใต้ จากใต้ไปเหนือ ในฐานะที่เรายังไม่เข้าใจระเบียบวินัยเพียงพอ ไม่ได้ฝึกหัดนิสัยจากครูบาอาจารย์ เราก็นำลัทธิการปฏิบัติผิด ๆ ไปให้ชาวบ้านทั้งหลาย เขาเข้าใจว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แท้ที่จริงแล้วเรายังไม่ได้ฝึกฝนอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกราบพระ เป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ของเรานี้ถือเคร่งครัดนัก ท่านจะต้องฝึกสอนให้กราบให้ไหว้ ให้ถูกต้องตามระเบียบเบญจางคประดิษฐ์ โดยเอาหัวเข่ากับข้อศอกต่อกัน วางมือลงราบกับพื้น นิ้วมือไม่ถ่าง เว้นระยะพอห่างพอหน้าผากลงได้ ระหว่างคิ้วกับหัวแม่มือจรดกัน ทำหลังให้ตรง ไม่ทำโก้งโค้ง แสดงกิริยามารยาทอันเรียบร้อยงดงาม อันนี้เป็นวิธีกราบของครูบาอาจารย์ของเราถือนัก

 

          มาสมัยปัจจุบันนี้ เท่าที่ชำเลืองดูแล้ว การกราบการไหว้นี้ห่างไกลจากครูบาอาจารย์เหลือเกิน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่น่าจะนำมาพูด แต่ว่าโอกาสนี้เราจะมาประชุมกันมาก ๆ เผื่อหากว่ามันจะเป็นประโยชน์แก่หมู่คณะของเราบ้าง ถ้าหากใครจะนึกว่าเป็นเรื่องประจานต่อหน้าธารกำนัลก็ไม่ควรอาย เพราะเราหวังดีต่อกัน เผื่อมันจะได้เป็นประโยชน์แก่ญาติโยมผู้มาฟังเทศน์ฟังธรรมกันบ้าง

 

 

วินัยเรื่องการรับประเคน

          อันดับต่อไปก็คือ การว่าอักขระฐานกรณ์ให้ถูกต้องตามอักขระภาษาบาลี ให้ถูกต้องตามสำเนียงมคธภาษา แล้วรอง ๆ ลงไปก็เรื่องระเบียบวินัยเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการรับประเคนสิ่งของ ของอันใดที่เป็นยาวกาลิก ยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ให้รู้จักระเบียบวินัยในการใช้และปฏิบัติให้ถูกต้อง

 

          ยาวกาลิก คือ ของที่รับประทานมีพวกอาหารต่าง ๆ เป็นต้น ฉันได้ตั้งแต่อรุณขึ้นมา คือหมายความว่าสว่างพอที่จะมองออกว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง หรือมองดูลายมือได้อย่างชัดเจน อาหารประเภทที่เป็นยาวกาลิกนี้ ฉันได้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง

 

          ยามกาลิก คือ ของที่รับประเคนแล้วฉันได้ตลอดยาม มีพวกน้ำกล้วย น้ำฝรั่ง และน้ำผลไม้ต่าง ๆ ที่มีผลไม่ใหญ่ไม่โตไปกว่าผลมะตูม สามารถนำผลไม้ชนิดนั้น ๆ มาคั้น กรองด้วยผ้าขาวบางประมาณ ๓ ครั้งเป็นอย่างน้อย ยามกาลิกนี้รับประเคนแล้วฉันได้ ตั้งแต่เช้า จนถึงก่อนอรุณขึ้นมาใหม่ (วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง)

 

          สัตตาหกาลิก คือ ของที่รับประเคนแล้วฉันได้ ๗ วัน มี เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล

 

          ยาวชีวิก คือ ของที่รับประเคนแล้วฉันได้ตลอด เพราะจัดเป็นจำพวกยารักษาโรคไม่มีกำหนดเวล่ำเวลา เช่น สมอ มะขามป้อม กระเทียม รากไม้ เกลือ หรือยารักษาโรคชนิดอื่น ๆ

          อติเรกลาภผลอันใดที่มันเกิดขึ้นมา ครูบาอาจารย์ท่านเคยเฉลี่ยแจกแบ่งสงเคราะห์พระภิกษุสามเณร ไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะเราถือว่าเป็นสมณศากยบุตรด้วยกัน

 

          สมัยเมื่อก่อนอยู่กับครูบาอาจารย์ ข้อวัตรปฏิบัตินี้เคร่งครัด แต่มาสมัยปัจจุบันนี้มันเปลี่ยนแปลงไป เมื่อก่อนนี้เราอยู่ในวัด เรายึดอยู่ในกฎกติกาของวัดเท่านั้น รองจากวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ให้ปฏิบัติตามจารีตประเพณี วัฒนธรรมนอกวัดนี้เราจะไม่เอามาขัดแย้งกับมติของครูบาอาจารย์ สมัยนั้นครูบาอาจารย์พูดแล้ว พูดคำไหนเป็นคำนั้น ไปฝ่าฝืนไม่ได้ มาในสมัยปัจจุบันนี้ ถ้าสมมุติว่าวัดเราควรจะเป็นอย่างนี้ ๆ ๆ จะไปทำอย่างนั้น ๆ ไม่ได้ เขาจะบอกว่า อย่างวัดอื่นเขายังทำได้

 

 

หลวงปู่เสาร์ อาจารย์สอนภาวนาของหลวงพ่อ

ลักษณะจิตเยือกเย็น มีพรหมวิหาร ทำจิตดุจแผ่นดิน

          ท่านเกิดที่บ้านข่าโคม ตำบลหนึ่งของ อำเภอเมือง (ปัจจุบันอำเภอเขื่องใน) จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๐๒ ท่านเป็นพระคณาจารย์ใหญ่ของพระกรรมฐานทั้งหมด

 

          ท่านอุปสมบทที่วัดใต้ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดใต้และได้ญัตติเป็นพระธรรมยุตที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) มีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ภายหลังมาอยู่วัดเลียบและเปิดสำนักปฏิบัติธรรมขึ้น ณ วัดเลียบ ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงของท่านคือพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

 

          ท่านได้มรณภาพในอิริยาบถขณะกราบครั้งที่ ๓ ในอุโบสถวัดอำมาตยาราม อำเภอวรรณไวทยากร นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔ ตรงกับ วันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง เชิญศพมา ณ วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ทำพิธีเผาในเดือนเมษายน ๒๔๘๖ สิริอายุ ๘๒ ปี ๓ เดือน ๑ วัน

 

          นิสัยท่านอาจารย์เสาร์ นิสัยชอบก่อสร้าง ชอบปลูกพริกหมากไม้ ลักษณะจิตเยือกเย็น มีพรหมวิหาร ทำจิตดุจแผ่นดิน มีเมตตาเป็นสาธารณะ เป็นคนพูดน้อย ยกจิตขึ้นสู่องค์เมตตาสุกใสรุ่งเรือง เป็นคนเอื้อเฟื้อในพระวินัย ทำความเพียรเป็นกลางไม่ยิ่งหย่อน พิจารณาถึงขั้นภูมิธรรมละเอียดมาก ท่านบอกให้เราภาวนาเปลี่ยนอารมณ์แก้อาพาธได้

 

          อยู่ข้างนอกวุ่นวาย เข้าไปหาท่านจิตสงบดี เป็นอัศจรรย์ปาฏิหาริย์หลายอย่าง จิตของท่านชอบสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง หมากไม่กินบุหรี่ไม่สูบ ท่านแดดัง (พระครูทา โชติปาโล) เป็นอุปัชฌายะ เดินจงกรมภาวนาเสมอไม่ละกาล น้ำใจดี ไม่เคยโกรธขึ้งให้พระเณรอุบาสกอุบาสิกา มักจะวางสังฆทานอุทิศในสงฆ์สันนิบาต แก้วิปัสสนูฯ แก่สานุศิษย์ได้ อำนาจวางจริตเฉย ๆ เรื่อย ๆ ชอบดูตำราเรื่องพระพุทธเจ้า รูปร่างใหญ่ สันทัด เป็นมหานิกาย ๑๐ พรรษา จึงมาญัตติเป็นธรรมยุตฯ รักเด็ก เป็นคนภูมิใหญ่กว้างขวาง ยินดีทั้งปริยัติปฏิบัติ ลักษณะเป็นคนโบราณพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ เป็นโบราณทั้งสิ้น ไม่เห่อตามลาภยศสรรเสริญ อาหารชอบเห็ด ผลไม้ต่าง ๆ ชอบน้ำผึ้ง

 

ฉันเห็ดเบื่อ

          หลวงปู่เสาร์นี่ เห็ดมันเกิดขึ้นตามวัด บอกเณรไปเก็บ เณรเก็บเห็ดอันนี้ไปหมกไฟให้กิน เณรก็ไปเก็บได้ประมาณเต็มถ้วยก๋วยเตี๋ยวหนึ่ง เอามาห่อหมกเสร็จแล้วก็ไปถวายหลวงปู่ หลวงปู่ก็ฉันจนหมด

 

          ทีนี้ไอ้เราพวกเณรนี้ก็ทำห่อหมก เณร ๕-๖ องค์ตักแจกกันคนละช้อน ๆ ๆ ฉันอาหารยังไม่ทันอิ่มเลย สลบเหมือดทั้ง ๖ องค์ ที่นี้

 

          อุ๊ย! เณรเป็นอะไร ๆ ถามมันดูซิว่ามันเป็นอะไร

          เณรก็กินเห็ดเบื่อ

          รู้ว่าเห็ดเบื่อทำไมถึงไปกินล่ะ

          ท่านอาจารย์พากิน

          ข้าไม่ได้กินเห็ดเบื่อ ถ้าข้ากินเห็ดเบื่อ ข้าก็เมาตายสิ

          หลวงปู่เสาร์ฉันเป็นชาม นั่งยิ้มเฉย แต่เณรฉันคนละช้อน ฉันข้าวยังไม่อิ่มเลย สลบเหมือดไปเลย อันนี้จิตของเรานี้มันปรุงแต่งได้ จะให้มันแพ้หรือมันชนะ มันก็ทำได้

 

 

หลวงปู่เสาร์  กันตสีโล

 

หลวงปู่เสาร์แก้สัญญาวิปลาสให้หลวงปู่มั่น

แก้สัญญาวิปลาสจนสำเร็จเป็นอัศจรรย์

          ท่านอาจารย์เสาร์ มีเมตตาแก่สัตว์เป็นมหากรุณาอย่างยิ่ง วางเป็นกลาง เยือกเย็นที่สุด เมตตาของท่านสดใส เห็นปาฏิหาริย์ของท่านสมัยขุนบำรุงบริจาคที่ดินและไม้ทำสำนักแม่ขาวสาริกา วัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

 

          แก้สัญญาวิปลาสท่านอาจารย์มั่นกับท่านเจ้าคุณหนูวัดสระปทุมในสมัยนั้น จนสำเร็จเป็นอัศจรรย์เรียกว่าเป็นพ่อพระกรรมฐานภาคอีสาน นี้ท่านอาจารย์เสาร์เล่าให้ฟัง สมัยที่เรา (หลวงปู่หลุย) อยู่กับท่านเดินธุดงค์ไปด้วย ท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจก กับปรารถนาเป็นสาวกสำเร็จอรหันต์ในศาสนาสมณโคดมพุทธเจ้าของเรา ท่านอาจารย์มั่นเคารพท่านอาจารย์เสาร์มากที่สุด เพราะเป็นเณรของท่านมาแต่ก่อน ท่านมักเรียกท่านอาจารย์มั่นเป็นสรรพนามว่า “เจ้า ๆ ข้อย ๆ”

(คัดมาจากหนังสือประวัติหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร)

 

 

นั่งสมาธิตัวลอยขึ้น...ลืมดาขึ้นดูตกลงมาก้นกระแทกกับพื้นอย่างแรง

          ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า นิสัยของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบ ๆ และเยือกเย็นน่าเลื่อมใสมาก ที่มีแปลกอยู่บ้างก็เวลาท่านเข้าที่นั่งสมาธิตัวของท่านชอบลอยขึ้นเสมอ บางครั้งตัวท่านลอยขึ้นไปจนผิดสังเกต เวลาท่านนั่งสมาธิอยู่ ท่านเองเกิดความแปลกใจในขณะนั้นว่า “ตัวเราถ้าจะลอยขึ้นจากพื้นแน่ ๆ” เลยลืมตาขึ้นดูตัวเอง ขณะนั้นจิตท่านถอนออกจากสมากิพอดี เพราะพะวักพะวงกับเรื่องตัวลอย ท่านเลยตกลงมาก้นกระแทกกับพื้นอย่างแรง ต้องเจ็บเอวอยู่หลายวัน

 

          ความจริงตัวท่านลอยขึ้นจากพื้นจริง ๆ สูงประมาณ ๑ เมตร ขณะที่ท่านลืมตาดูตัวเองนั้น จิตท่านถอนออกจากสมาธิ จึงไม่มีสติพอยับยั้งไว้บ้าง จึงทำให้ท่านตกลงสู่พื้นอย่างแรง เช่นเดียวกับสิ่งต่าง ๆ ตกลงจากที่สูง

 

          ในคราวต่อไป เวลาท่านนั่งสมาธิ พอรู้สึกว่าตัวท่านลอยขึ้นจากพื้น ท่านพยายามทำสติให้อยู่ในองค์ของสมาธิ แล้วค่อย ๆ ลืมตาขึ้นดูตัวเอง ก็ประจักษ์ว่าตัวท่านลอยขึ้นจริง ๆ แต่ไม่ได้ตกลงสู่พื้นเหมือนคราวแรก เพราะท่านมิได้ปราศจากสติและคอยประคองใจให้อยู่ในองค์สมาธิ ท่านจึงรู้เรื่องของท่านได้ดี

 

          ท่านเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนอยู่มาก แม้จะเห็นด้วยตาแล้วท่านยังไม่แน่ใจ ต้องเอาวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ขึ้นไปเหน็บไว้บนหญ้าหลังกุฏิ แล้วกลับมาทำสมาธิอีก พอจิตสงบและตัวเริ่มลอยขึ้นไปอีก ท่านพยายามประคองจิตให้มันอยู่ในสมาธิ เพื่อตัวจะได้ลอยขึ้นไปจนถึงวัตถุเครื่องหมายที่ท่านนำขึ้นไปเหน็บไว้ แล้วค่อย ๆ เอื้อมมือจับด้วยความมีสติ แล้วนำวัตถุนั้นลงมาโดยทางสมาธิภาวนา คือพอหยิบได้วัตถุนั้นแล้วก็ค่อย ๆ ถอนจิตออกจากสมาธิ เพื่อกายจะได้ค่อย ๆ ลงมาถึงพื้นอย่างปลอดภัย แต่ไม่ถึงกับให้จิตถอนออกจากสมาธิจริง ๆ

 

          เมื่อได้ทดลองจนเป็นที่แน่ใจแล้ว ท่านจึงเชื่อตัวเองว่า ตัวท่านลอยขึ้นได้จริงในเวลาเข้าสมาธิในบางครั้ง แต่มิได้ลอยขึ้นเสมอไป นี้เป็นจริตนิสัยแห่งจิตของท่านพระอาจารย์เสาร์ รู้สึกผิดกับนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่มากในปฏิปทาทางใจ

 

          จิตของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบ ๆ สงบเย็นโดยสม่ำเสมอ นับแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงสุดท้ายปลายแดนแห่งปฏิปทาของท่าน ไม่ค่อยล่อแหลมต่ออันตราย และไม่ค่อยมีอุบายต่าง ๆ และความรู้แปลก ๆ เหมือนจิตท่านพระอาจารย์มั่น

(คัดมาจากหนังสือ ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต)

 

 

หลวงปู่เสาร์เคยปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

เวลาเร่งความเพียรใจรู้สึกประหวัด ๆ ถึงความปรารถนาเดิม

          ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า ท่านพระอาจารย์เสาร์เดิมท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เวลาออกบำเพ็ญ พอเร่งความเพียรเข้ามาก ๆ ใจรู้สึกประหวัด ๆ ถึงความปรารถนาเดิมเพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แสดงออกเป็นเชิงอาลัยเสียดาย ยังไม่อยากไปนิพพาน ท่านเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อความเพียรเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ท่านเลยอธิษฐาน ของดจากความปรารถนานั้น และขอประมวลมาเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินี้ ไม่ขอเกิดมารับความทุกข์ทรมานในภพชาติต่าง ๆ อีกต่อไป

 

          พอท่านปล่อยวางความปรารถนาเดิมแล้ว การบำเพ็ญเพียรรู้สึกสะดวกและเห็นผลไปโดยลำดับ ไม่มีอารมณ์เครื่องเกาะเกี่ยวเหมือนแต่ก่อน สุดท้ายท่านก็บรรลุถึงแดนแห่งความเกษมดังใจหมาย แต่การแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ท่านไม่ค่อยมีความรู้แตกฉานกว้างขวางนัก ทั้งนี้อาจจะเป็นไปตามภูมินิสัยเดิมของท่านที่มุ่งเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งตรัสรู้เองชอบ แต่ไม่สนใจสั่งสอนใครก็ได้ อีกประการหนึ่ง ที่ท่านกลับความปรารถนาได้สำเร็จตามใจนั้น คงอยู่ในขั้นพอแก้ไขได้ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์เต็มภูมิแท้

 

หลวงปู่เสาร์เป็นคนพูดน้อย

เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ

          เวลาท่านพระอาจารย์มั่นออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานทางภาคอีสาน ตามจังหวัดต่าง ๆ ในระยะต้นวัย ท่านมักจะไปกับท่านพระอาจารย์เสาร์เสมอ แม้ความรู้ทางภายในจะมีแตกต่างกันบ้างตามวิสัย แต่ก็ชอบไปด้วยกัน สำหรับท่านพระอาจารย์เสาร์ ท่านเป็นคนไม่ชอบพูด ไม่ชอบเทศน์ ไม่ชอบมีความรู้แปลก ๆ ต่าง ๆ กวนใจเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น เวลาจำเป็นต้องเทศน์ ท่านก็เทศน์เพียงประโยคหนึ่งหรือสองเท่านั้น แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปเสีย ประโยคธรรมที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า

 

          “ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียชีวิตลมหายใจไปเปล่าที่ได้มีวาสนามาเกิดเป็นมนุษย์”

          และ

          “เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ”

แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิ โดยไม่สนใจกับใครต่อไปอีก ปกตินิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด พูดน้อยที่สุด ทั้งวันไม่พูดอะไรกับใครเกิน ๒-๓ ประโยค เวลานั่งก็ทนทานนั่งอยู่ได้เป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง เดินก็ทำนองเดียวกัน แต่ลักษณะท่าทางของท่าน มีความสง่าผ่าเผย น่าเคารพเลื่อมใสมาก มองเห็นท่านแล้วเย็นตาเย็นใจไปหลายวัน ประชาชนและพระเณรเคารพเลื่อมใสท่านมาก ท่านมีลูกศิษย์มากมายเหมือนท่านอาจารย์มั่น

สอนทำอะไรให้เป็นเวลา

ให้ทำวัตร นอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓

          ท่านอาจารย์หลวงปู่เสาร์นี้ท่านเป็นสาวกแบบชนิดที่ว่าเป็นพระประเสริฐ ท่านสอนธรรมนี้ท่านไม่พูดมาก ท่านชี้บอกว่าให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ แต่การปฏิบัติของท่านนี้ ท่านเอาการปฏิบัติแทนการสอนด้วยปาก ผู้ที่ไปอยู่ในลำนักท่าน ก่อนอื่นท่านจะสอนให้ทำวัตร นอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ นี้ข้อแรก ต้องทำให้ได้ก่อน บางทีก็ลองเรียนถามท่าน

 

          หลวงปู่ทำไมสอนอย่างนี้

          การนอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา ฉันเป็นเวลา อาบน้ำ เข้าห้องน้ำเป็นเวลา มันเป็นอุบายสร้างพลังจิต แล้วทำให้เรามีความจริงใจ

 

          ทีนี้นักปฏิบัติทั้งหลายไม่ได้ทำอย่างนี้ แม้แต่นักสะกดจิต เขาก็ยังยึดหลักอันนี้ มันมีอยู่คำหนึ่งที่หลวงพ่อไม่เคยลืมหลักปฏิบัติที่เวลาไปปฏิบัติท่าน ท่านจะพูดขึ้นมาลอย ๆ ว่า

  “เวลานี้จิตข้ามันไม่สงบ มันมีแต่ความคิด”

  ก็ถามว่า

  “จิตมันฟุ้งซ่านหรือไงอาจารย์”

  “ถ้าให้มันหยุดนิ่ง มันก็ไม่ก้าวหน้า”

          กว่าจะเข้าใจความหมายของท่านก็ใช้เวลาหลายปี ท่านหมายความว่า เวลาปฏิบัติถ้าจิตมันหยุดนิ่ง ก็ปล่อยให้มันหยุดนิ่งไป อย่าไปรบกวนมัน ถ้าเวลามันจะคิด ให้มันคิดไป เราเอาสติตัวเดียวเป็นตัวตั้ง เป็นตัวตี

 

 

ปฏิปทาของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

ท่านสนใจเรื่องการปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน โดยถ่ายเดียว

          หลวงปู่เสาร์ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ออกเดินธุดงคกรรมฐาน ปักกลดอยู่ในป่า ในดง ในถ้ำ ในเขา องค์แรกของอีสานคือหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

 

          หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล นัยว่า ท่านออกมาบวชในพระศาสนา ท่านสนใจเรื่องการปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน โดยถ่ายเดียว ซึ่งสหธรรมิกคู่หูของท่านก็คือ พระปัญญาพิศาลเถร (หนู) เป็นคนเกิดในเมืองอุบลฯ ท่านออกเดินธุดงค์ร่วมกัน หลวงปู่เสาร์ตามปกติ ท่านเป็นพระที่เทศน์ไม่เป็น แต่ปฏิบัติให้ลูกศิษย์ดูเป็นตัวอย่าง

 

 

เดินจงกรมแข่งหลวงปู่เสาร์

          สมัยที่หลวงพ่อเป็นเณรอยู่ใกล้ ๆ ท่าน ถ้าวันไหนเราคิดว่าจะเดินจงกรมแข่งกับท่านอาจารย์ใหญ่ วันนั้นท่านจะเดินจงกรมไม่หยุด จนกว่าเราหยุด นั่นแหละท่านจึงจะหยุด ท่านจะไม่ยอมให้เราชนะท่าน

 

          เวลาท่านสอน สอนสมาธิ ถ้ามีใครถามว่า ส่วนใหญ่คนอีสานก็ถามแบบภาษาอีสาน

“อยากปฏิบัติสมาธิเฮ็ดจั๋งได๋ ญ่าท่าน”

“พุทโธสิ”

“ภาวนาพุทโธแล้วมันจะได้อีหยังขึ้นมา”

“อย่าถาม”

“พุทโธแปลว่าจั๋งได๋”

“ถามไปหาสิแตกอีหยัง ยั้งว่าให้ภาวนา พุทโธ ข้าเจ้าให้พูดแค่นี้”

          แล้วก็ไม่มีคำอธิบาย ถ้าหากว่าใครเชื่อตามคำแนะนำของท่าน ไปตั้งใจภาวนาพุทโธ จริง ๆ ไม่เฉพาะแต่เวลาเราจะมานั่งอย่างเดียว ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ ใจนึกพุทโธไว้ให้ตลอดเวลา ไม่ต้องเลือกว่าเวลานี้เราจะภาวนาพุทโธ เวลานี้เราจะไม่ภาวนาพุทโธ ท่านสอนให้ภาวนาทุกลมหายใจ

 

แม้เข้าห้องน้ำก็ต้องภาวนา

ไม่บาป ธรรมะ เป็นอกาลิโก

          บางคนก็จะไปข้องใจว่า ภาวนาพุทโธ ในห้องน้ำห้องส้วม มันจะไม่บาปหรือ

 

          ไม่บาป ธรรมะเป็นอกาลิโก ไม่เลือกกาล เลือกเวลา พระองค์เทศน์สอนไว้แล้ว ถ้ายิ่งเขาในห้องน้ำ ห้องส้วมน่ะ ยิ่งภาวนาดี เพราะมันมีสิ่งประกอบ สิ่งที่จะทำให้เรามองเห็นสิ่งปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก มันก็แสดงออกมาให้เราเห็น

 

          แล้วเราภาวนา พุทโธ พุทโธ แปลว่ารู้ รู้ในสิ่งที่เราทำอะไรอยู่ในขณะนั้น

 

          ถ้าหากว่าท่านผู้ใดเชื่อในคำแนะนำของหลวงปู่ท่าน ไปภาวนาพุทโธอย่างเอาจริงเอาจัง ส่วนใหญ่จะไม่เกิน ๗ วัน บางคนเพียงครั้งเดียวจิตสงบ สว่าง รู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา ทีนี้เมื่อภาวนาจิตเป็นสมาธิ เวลามาถามท่าน

 

          ภาวนาพุทโธแล้ว จิตของฉันนี่ตอนแรก ๆ มันมีอาการเคลิ้ม ๆ เหมือนกับจะง่วงนอน ทีนี้มันสะลืมสะลือ เหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น พอเผลอ ๆ จิตมันวูบลงไป สว่างตูมขึ้นมา เหมือนกับมันมองเห็นทั้งหมดในห้อง จนตกใจว่า แสงอะไรมันมาสว่างไสว พอตกใจแล้วสมาธิถอน ลืมตาแล้วความมืดมันก็มาแทนที่

 

          อันนี้เป็นจุดสำคัญ คือถ้าจิตของเราได้สัมผัสกับสิ่งแปลกใหม่ มันจะเกิดความตื่นตกใจหรือเกิดเอะใจขึ้นมา แต่ถ้าหากว่าเราไม่เกิดการตื่นใจหรือเกิดตกใจเกิดเอะใจ จิตของเราสามารถมีสติประคับประคองรู้อยู่โดยธรรมชาติ จิตมันก็สงบนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน มีปีติ มีความสุข

 

เล่าเรื่องภาวนาให้หลวงปู่เสาร์ฟัง

ท่านบอกว่า เร่งเข้า ๆ ๆ

          เมื่อหลวงพ่อไปเล่าเรื่องภาวนาให้ท่านฟัง ถ้าสิ่งใดที่มันถูกต้อง ท่านบอกว่า เร่งเข้า ๆ ๆ แล้วจะไม่อธิบาย แต่ถ้าหากว่ามันไม่ถูกต้อง เช่น อย่างใครทำสมาธิภาวนามาแล้วมันคล้าย ๆ กับว่า พอจิตสว่าง รู้เห็นนิมิตขึ้นมา แล้วก็น้อมเอานิมิตเข้ามา พอนิมิตเข้ามาถึงตัวถึงใจแล้ว มันรู้สึกว่าอึดอัดใจเหมือนหัวใจถูกบีบแล้ว สมาธิที่สว่างก็มืดไปเลย

 

          อันนี้ท่านบอกว่า อย่าทำอย่างนั้น มันไม่ถูกต้อง เมื่อเกิดนิมิตขึ้นมา ถ้าหากว่าไปเล่าให้อาจารย์องค์ใดฟัง ถ้าท่านแนะนำว่าให้น้อมให้เอานิมิตนั้นเข้ามาหาตัว อันนี้เป็นการสอนผิด

 

          แต่ถ้าว่าท่านผู้ใดพอไปบอกว่า ภาวนาเห็นนิมิต ท่านแนะนำให้กำหนดรู้จิตเฉยอยู่ คล้าย ๆ กับว่าไม่สนใจกับนิมิตนั้น แล้วนิมิตนั้นจะแสดงปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงไปในแง่ต่าง ๆ เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะดี มีสมาธิมั่นคง เราจะอาศัยความเปลี่ยนแปลงของมโนภาพอันเป็นของนิมิตนั้น เป็นเครื่องเตือนใจให้เรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นิมิตที่เปลี่ยนแปลงเป็น ปฏิภาคนิมิต

 

          ถ้าหากว่านิมิตที่ปรากฏแล้วมันหยุดนิ่ง ไม่ไหวติง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ บางทีสมาธิของเรามันแน่วแน่ ความทรงจำมันฝังลึกลงไปในส่วนลึกของจิต ไปถึงจิตใต้สำนึก เมื่อออกจากที่นั่งสมาธิมาแล้ว เราไม่ได้นึกถึงเหมือนกับคล้าย ๆ มองเห็นนิมิตนั้นอยู่ นึกถึงมันก็เห็น ไม่นึกถึงมันก็เห็น มันติดตาติดใจอยู่อย่างนั้น อันนี้เรียกว่า อุคคหนิมิต

 

          ว่ากันง่าย ๆ ถ้าจิตของเรามองเพ่งอยู่ที่ภาพนิ่ง เป็น อุคคหนิมิต ถ้าจิตเพ่งรู้ความเปลี่ยนแปลงของนิมิตนั้น เป็น ปฏิภาคนิมิต

 

          อุคคหนิมิตเป็นสมาธิขั้นสมถกรรมฐาน แต่ปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นสมาธิขั้นวิปัสสนา เพราะจิตกำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลง

 

          อันนี้ถ้าหากว่าใครภาวนาได้นิมิตอย่างนี้ ไปเล่าให้ท่านอาจารย์เสาร์ฟัง ท่านจะบอกว่า เอ้อ! ดีแล้ว เร่งเข้า ๆ ๆ

 

          แต่ถ้าใครไปบอกว่า

 

          ในเมื่อเห็นนิมิตแล้ว ผมหรือดิฉันน้อมเข้ามาในจิตในใจ แต่ทำไมเมื่อนิมิตเข้ามาถึงจิตฝังใจแล้ว จิตที่สว่างไสวปลอดโปร่ง รู้ ตื่น เบิกบาน มันมืดมิดลงไปแล้วเหมือนกับหัวใจถูกบีบ หลังจากนั้น จิตของเราไม่เป็นตัวของตัวคล้าย ๆ กับว่าอำนาจสิ่งที่เข้ามานั้นมันครอบไปหมด

 

          ถ้าไปเล่าให้ฟังอย่างนี้ ท่านจะบอกว่าทำอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง เมื่อเห็นนิมิตแล้วให้กำหนดรู้เฉย ๆ อย่าน้อมเข้ามา ถ้าน้อมเข้ามาแล้ว นิมิตเข้ามาในตัว มันจะกลายเป็นการทรงวิญญาณ อันนี้เป็นเคล็ดลับในการปฏิบัติ

 

          เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดมาแนะนำเราว่า ทำสมาธิแล้วให้น้อมจิตไปรับเอาอำนาจเบื้องบน หรือเห็นนิมิตแล้วให้น้อมเข้ามาในตัว อันนี้อย่าไปเอา มันไม่ถูกต้อง ในสายหลวงปู่เสาร์นี้ ท่านสอนให้ภาวนา พุทโธ

 

ทำไมหลวงปู่เสาร์สอนภาวนาพุทโธ

เพราะพุทโธเป็นกริยาของใจ

          หลวงพ่อก็เลยเคยแอบถามท่านว่า ทำไมจึงต้องภาวนา พุทโธ

 

         ท่านก็อธิบายให้ฟังว่า ที่ให้ภาวนา พุทโธนั้น เพราะพุทโธ เป็นกิริยาของใจ ถ้าเราเขียนเป็นตัวหนังสือเราจะเขียน พ - พาน - สระ อุ - ท – ทหาร สะกด สระ โอ ตัว ธ - ธง อ่านว่า พุทโธ อันนี้เป็นเพียงแต่คำพูด เป็นชื่อของคุณธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อจิตภาวนาพุทโธแล้วมันสงบวูบลงไปนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน พอหลังจากคำว่า พุทโธ มันก็หายไปแล้ว ทำไมมันจึงหายไป เพราะจิตมันถึงพุทโธแล้ว จิตกลายเป็นจิตพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ เกิดขึ้นในจิตของท่านผู้ภาวนา พอหลังจากนั้นจิตของเราจะหยุดนึกคำว่าพุทโธ แล้วก็ไปนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน สว่างไสว กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ ยังแถมมีปีติ มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก อันนี้มันเป็นพุทธะ พุทโธ โดยธรรมชาติเกิดขึ้นที่จิตแล้ว พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตน ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิตมันใกล้กับความจริง

           แล้วทำไมเราจึงมาพร่ำบ่น พุทโธ ๆ ๆ ในขณะที่จิตเราไม่เป็นเช่นนั้น

          ที่เราต้องมาบ่นว่า พุทโธ นั่นก็เพราะว่า เราต้องการจะพบพุทโธ ในขณะที่พุทโธยังไม่เกิดขึ้นกับจิตนั้นเราก็ต้องท่อง พุทโธ ๆ ๆ ๆ เหมือนกับว่า เราต้องการจะพบเพื่อนคนใดคนหนึ่ง เมื่อเรามองไม่เห็นเขา หรือเขายังไม่มาหาเรา เราก็เรียกชื่อเขา ทีนี้ในเมื่อเขามาพบเราแล้ว เราได้พูดจาสนทนากันแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเรียกชื่อเขาอีก ถ้าขืนเรียกช้ำ ๆ เขาจะหาว่าเราร่ำไร ประเดี๋ยวเขาด่าเอา

 

          ทีนี้ในทำนองเดียวกัน ในเมื่อเรียก พุทโธ ๆ ๆ เข้ามาในจิตของเรา เมื่อจิตของเราได้เกิดเป็นพุทโธเอง คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตของเราก็หยุดเรียกเอง ทีนี้ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกอันหนึ่งแทรกขึ้นมา เอ้า ควรจะนึกถึงพุทโธอีก พอเรานึกขึ้นมาอย่างนี้ สมาธิของเราจะถอนทันที แล้วกิริยาที่จิตมันรู้ ตื่น เบิกบาน จะหายไป เพราะสมาธิถอน

 

          ทีนี้ตามแนวทางของครูบาอาจารย์ที่ท่านแนะนำพร่ำสอน ท่านจึงให้คำแนะนำว่า เมื่อเราภาวนาพุทโธไป จิตสงบวูบลงนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่านก็ให้ประคองจิตให้อยู่ในสภาพปกติอย่างนั้น ถ้าเราสามารถประคองจิตให้อยู่ในสภาพอย่างนั้นได้ตลอดไป จิตของเราจะค่อยสงบ ละเอียด ๆ ๆ ลงไป ในช่วงเหตุการณ์ต่าง ๆ มันจะเกิดขึ้น ถ้าจิตส่งกระแสออกนอก เกิดมโนภาพ ถ้าวิ่งเข้ามาข้างในจะเห็นอวัยวะภายในร่างกายทั่วหมด ตับ ไต ไส้ พุง เห็นหมด แล้วเราจะรู้สึกว่ากายของเรานี้เหมือนกับแก้วโปร่ง ดวงจิตที่สงบ สว่างเหมือนกับดวงไฟที่เราขุดไว้ในพลบครอบ แล้วสามารถเปล่งรัศมีสว่างออกมารอบ ๆ จนกว่าจิตจะสงบละเอียดลงไป จนกระทั่งว่า กายหายไปแล้ว จึงจะเหลือแต่จิตสว่างไสวอยู่ดวงเดียว ร่างกายตัวตนหายหมด

 

          ถ้าหากจิตดวงนี้มีสมรรถภาพพอที่จะเกิดความรู้ความเห็นอะไรได้ จิตจะย้อนกายลงมาเบื้องล่าง เห็นร่างกายตัวเองนอนตายเหยียดยาวอยู่ ขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไป

 

 

สมาธิในอริยมรรคอริยผล

สงบละเอียดเรียวไปเหมือนปลายเข็ม

          ทีนี้ถ้าหากว่า จิตย้อนมามองรู้เห็นอย่างนี้ จิตของผู้นั้นเดินทางถูกต้องตามแนวทางอริยมรรคอริยผล ถ้าหากว่า สงบ สว่าง นิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน ร่างกายตัวตนหาย แล้วก็สงบละเอียดเรียวไปเหมือนปลายเข็ม อันนี้เรียกว่า สมาธิขั้นฌานสมาบัติ ไปแบบฤๅษีชีไพร ถ้าหากจิตของผู้ปฏิบัติไปติดอยู่ในสมาธิแบบฌานสมาบัติ มันก็เดินฌานสมาบัติ

          ทีนี้ฌานสมาบัตินี้มันเจริญง่ายแล้วก็เสื่อมง่าย ในเมื่อมันเสื่อมไปแล้วมันก็ไม่มีอะไรเหลือ แต่ถ้าหากสมาธิแบบอริยมรรค อริยผลนี้ ในเมื่อเราได้สมาธิซึ่งเกิดภูมิความรู้ความเห็น เช่น เห็นร่างกายเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไปแล้ว ภายหลังจิตของเราก็จะบอกว่าร่างกายเน่าเปื่อยเป็นของปฏิกูล ก็ได้อสุภกรรมฐาน เนื้อหนังพังลงไปแล้วยังเหลือแต่โครงกระดูก ก็ได้อัฐิกรรมฐาน ทีนี้เมื่อโครงกระดูกสลายตัวแหลกไปในผืนแผ่นดิน จิตก็สามารถกำหนดรู้ ได้ธาตุกรรมฐาน แต่เมื่อในช่วงที่จิตเป็นไปนี่ จิตจะไม่มีความคิด ต่อเมื่อถอนจากสมาธิมาแล้ว สิ่งรู้หายไปหมด พอรู้ว่ามันมาสัมพันธ์กับกายเท่านั้นเอง จิตตรงนี้จะอธิบายให้ตัวเองฟังว่า นี่คือการตาย ตายแล้วมันก็ขึ้นอืด น้ำเหลืองไหล เนื้อหนังพังไปเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก ในเมื่อเนื้อหนังพังไปหมดแล้วก็ยังเหลือแต่โครงกระดูก ทีนี้โครงกระดูกมันก็แหลกละเอียดหายจมลงไปในผืนแผ่นดิน ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะเหตุว่าร่างกายของคนเรานี้มันมีแต่ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไหนเล่า สัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา มีที่ไหน ถ้าจิตมันเกิดภูมิความรู้ขึ้นมาอย่างนี้ ภาวนาในขณะเดียวความเป็นไปของจิตที่รู้เห็นไปอย่างนี้ ได้ทั้งอสุภกรรมฐาน อัฐิกรรมฐาน ธาตุกรรมฐาน ประโยคสุดท้าย ไหนเล่าสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขามีที่ไหน จิตรู้อนัตตา เรียกว่า อนัตตานุปัสสนาญาณ ภาวนาทีเดียวได้ทั้งสมถะ ได้ทั้งวิปัสสนา

 

 

ความเกี่ยวเนื่องแห่งมรรคและผล

เมื่อไม่มีสมาธิ ไม่มีฌาน ไม่มีฌาน ไม่มีวิปัสสนา

          การกำหนดหมายสิ่งปฏิกูลน่าเกลียด หรือกำหนดหมายรู้โครงกระดูก แล้วก็กำหนดหมายรู้ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นสมถกรรมฐาน ส่วนความรู้ที่ว่าสัตว์ บุคคลตัวตนเราเขามีที่ไหน เป็นวิปัสสนากรรมฐาน

 

          เพราะฉะนั้นท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เป็นคุณธรรมอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อไม่มีสมาธิ ไม่มีฌาน ไม่มีฌาน ไม่มีวิปัสสนา เมื่อไม่มีวิปัสสนา ก็ไม่มีวิชชา ความรู้แจ้งเห็นจริง เมื่อไม่รู้แจ้งเห็นจริง จิตไม่ปล่อยวาง ก็ไม่เกิดวิมุตติความหลุดพ้น สายสัมพันธ์มันก็ไปกันอย่างนั้นอันนี้เป็นแนวทางการปฏิบัติกรรมฐานในสายของหลวงปู่เสาร์

 

          เพราะฉะนั้น เราอาจจะเคยได้ฟังว่า ภาวนาพุทโธ แล้วจิตได้แต่สมถกรรมฐานไม่ถึงวิปัสสนา อนุสติ ๑๐ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ อุปสมานุสติ ภาวนาแล้วจิตสงบ หรือบริกรรมภาวนา เมื่อจิตสงบแล้วถึงแค่สมถกรรมฐาน เพราะว่าภาวนาไปแล้วมันทิ้งคำภาวนา

 

          เพราะฉะนั้น คำว่า พุทโธ ๆ ๆ นี้มันไม่ได้ติดตามไปกับสมาธิ พอจิตสงบเป็นสมาธิแล้วมันทิ้งทันที ทิ้งแล้วมันก็ได้

 

          แต่สงบนิ่ง แต่อนุสติ ๒ คือ กายคตานุสติ อานาปานสติ ถ้าตามหลักวิชาการท่านว่า ได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา ทีนี้ถ้าเราภาวนาพุทโธ เมื่อจิตสงบนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน ถ้ามันเพ่งออกไปข้างนอก ไปเห็นภาพนิมิต ถ้าหากว่านิมิตนิ่งไม่การเปลี่ยนแปลง ก็เป็นสมถกรรมฐาน ถ้าหากนิมิตเปลี่ยนแปลงก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน

 

          ทีนี้ถ้าหากจิตทิ้งพุทโธ แล้วจิตอยู่นิ่งสว่าง จิตวิ่งเข้ามาข้างใน มารู้เห็นภายในกาย รู้อาการ ๓๒ รู้ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งร่างกายปกติแล้ว มันตาย เน่าเปื่อย ผุพัง สลายตัวไป มันเข้าไปกำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะ คือ กาย กับ จิต มันก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน มันก็คลุกเคล้าอยู่ในอันเดียวกันนั้นแหละ

 

          แล้วอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะเคยได้ยินได้ฟังว่า สมาธิขั้นสมถะมันไม่เกิดภูมิความรู้ อันนี้ก็เข้าใจผิด ความรู้แจ้งเห็นจริง เราจะรู้ชัดเจนในสมาธิขั้นสมถะ เพราะสมาธิขั้นสมถะนี้มันเป็นสมาธิที่อยู่ในฌาน สมาธิที่อยู่ในฌานมันเกิดอภิญญา ความรู้ยิ่งเห็นจริง แต่ความรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิขั้นสมถะ มันจะรู้เห็นแบบชนิดไม่มีภาษาที่จะพูดว่าอะไรเป็นอะไร สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น เช่น มองเห็นการตาย ตายแล้วมันก็ไม่ว่า เน่าแล้วมันก็ไม่ว่า ผุพังสลายตัวไปแล้ว มันก็ไม่ว่า ในขณะที่มันรู้อยู่นั่น แต่เมื่อมันถอนออกมาแล้ว ยังเหลือแต่ความทรงจำ จิตจึงจะมาอธิบายให้ตัวเองฟังเพื่อความเข้าใจทีหลัง เรียกว่าเจริญวิปัสสนา

 

 

หลวงปู่เสาร์ทิพยจักษุ

กรรมฐานนี้ เครื่องรางของขลัง รูปเหรียญหมู่นี้ไม่มี

          มีผู้บอกว่า เคยได้ฟังมาว่า หลวงปู่ฝั้นดูหมอเก่ง หลวงพ่อแก้ว่า..ไม่มีน้า..ไม่เคยหรอก เหมือน ๆ กับมีพระองค์หนึ่งว่า หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ไปตัดเหล็กไหลที่ถ้ำสระบัว ภูเขาควาย มันไม่ตรงกับความจริงเลยแม้แต่นิดหนึ่ง พระองค์นั้นชื่อพระอาจารย์จันทร์ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ เขาบอกว่าตั้งแต่เขาเป็นเณรโน่น ทีนี้เหล็กไหลมันเป็นทรัพย์ในดินสินในน้ำ ท่านผู้เคร่งต่อพระธรรมวินัยท่านจะไปทำได้อย่างไร

 

          ขนาดหลวงพ่อเอาสีผึ้งใส่มาในย่ามนี้ ท่านยังว่าเอา ๆ ยังงงยังกะไก่ตาแตกเลย.. โอ๊ย! หลวงปู่นี่มาค้นดูย่ามเราตั้งแต่เมื่อไร ตลับสีผึ้งนี้มีโยมเขาทำให้ตั้งแต่เป็นเณรอยู่บ้านนอก เขาบอกว่าอันนี้จะไปเรียนหนังสือ มันเรียนหนังสือดี ก็เลยเอามา.. หลวงปู่เสาร์ดุ จะมาภาวนาเอามรรคผลนิพพาน ยังเอาตลับสีผึ้งใส่ย่ามมาด้วยมันจะไปได้อย่างไร..ว้า หลวงปู่นี้มาค้นย่ามเราตั้งแต่เมื่อไร พอตื่นเช้ามาก็เอามัดติดก้อนอิฐปาลงแม่น้ำมูลเลย.. ไม่มีหรอกกรรมฐานนี้ เครื่องรางของขลัง รูปเหรียญหมู่นี้ไม่มี

 

 

อุปัฏฐากหลวงปู่เสาร์

ปรนนิบัติท่าน ไม่ได้ติดสอยห้อยตาม

          ได้พบท่านเวลาท่านมาพักวัดบูรพาฯ ก็ได้ปรนนิบัติท่าน ไม่ได้ติดสอยห้อยตาม ผู้ติดสอยห้อยตามที่ยังมีชีวิตอยู่จนกระทั่งหลวงปู่ท่านสิ้นนี้ยังเหลือหลวงปู่บัวพาองค์เดียว จากกันไป ๓๐ ปี พอท่านเห็น ก็วิ่งมากอด

          “โอ๊ย..บักห่า..กูนึกว่ามึงตายไปแล้ว” ท่านว่า

 

          “ที่อยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์เสาร์นี้มีแต่เฮาสองคนเด๊ เหลืออยู่ ”

 

          งานที่ทำถวายท่าน ก็อุปัฏฐากนวดเฟ้น ซักสบงจีวร แล้วก็ปัดกวาดที่นอน เทกระโถน อะไรทำนองนั้น เวลาแขกมาหาท่าน ก็คอยดูแลรับแขก

 

          หลวงปู่เสาร์นี่ เพียงแต่เวลาท่านไปมาพักนี้เราก็ได้อุปัฏฐากท่านเท่านั้นเอง แต่ก็ครูบาอาจารย์ในสายนี้ เขาถือว่า ใครเป็นหัวหน้าใหญ่ เขาถือว่าเขาเป็นลูกศิษย์องค์นั้นแหละ รอง ๆ ลงมาอาจารย์เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ใหญ่ เราก็มาเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์รองลงมา แต่ศูนย์รวมจิตใจมันอยู่ที่อาจารย์ใหญ่

 

หลักปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ให้ไว้

อาศัยอยู่ตามถ้ำบ้าง ตามโคนต้นไม้บ้าง

          พระบูรพาจารย์ของเรา เราถือว่าพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นพระอาจารย์องค์แรกและเป็นผู้นำหมู่คณะลูกศิษย์ลูกหา ออกเดินธุดงคกรรมฐาน ชอบพักพิงอยู่ตามป่าตามที่วิเวก อาศัยอยู่ตามถ้ำบ้าง ตามโคนต้นไม้บ้าง และท่านอาจารย์มั่นก็เป็นอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์เสาร์ หลวงพ่อสิงห์ ขนฺตยาคโม ก็เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์เสาร์และท่านอาจารย์มั่น

 

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอาจารย์สิงห์ เปรียบเสมือนหนึ่งว่าเป็นเสนาธิการใหญ่ของกองทัพธรรม ได้นำหมู่คณะออกเดินธุดงค์ไปตามราวป่า ตามเขา อยู่อัพโภกาส อยู่ตามโคนต้นไม้ อาศัยอยู่ตามถ้ำ พักพิงอาศัยอยู่ในราวป่าห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ เมตร

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม

 

          การธุดงค์ของพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์จะไม่นิยมที่จะไปปักกลดอยู่ตามละแวกบ้าน ตามสนามหญ้า หรือตามบริเวณโรงเรียน หรือใกล้ ๆ กับถนนหนทางในที่ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชน ท่านจะออกแสวงหาวิเวกในราวป่าห่างไกลกันจริง ๆ

 

          บางทีไปอยู่ในป่าเขาที่ไกล ตื่นเช้าเดินจากที่พักลงมาสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้ว กลับไปถึงที่พักเป็นเวลา ๑๑.๐๐ น. หรือ ๕ โมงก็มี อันนี้คือหลักการปฏิบัติของพระธุดงคกรรมฐานในสายพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ ซึ่งบางทีอาจจะผิดแผกจากพระธุดงค์ในสมัยปัจจุบัน ซึ่งไปปักกลดอยู่ตามสนามหญ้า หรือตามสถานีรถไฟ ตามบริเวณโรงเรียนหรือศาลเจ้าต่าง ๆ พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ ไม่นิยมทำเช่นนั้น ไปธุดงค์ก็ต้องไปป่ากันจริง ๆ ที่ใดซึ่งมีอันตราย ท่านก็ยิ่งไป เพื่อเป็นการทดสอบความสามารถของตัวเอง และเป็นการฝึกฝนลูกศิษย์ลูกหาให้มีความกล้าหาญเผชิญต่อภัยของชีวิต ตะล่อมจิตให้ยึดมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแน่วแน่

 

          เมื่อไปในสถานที่ที่คิดว่ามีอันตราย ไปอยู่ในที่ห่างไกลพี่น้อง เพื่อนฝูงสหธรรมิกก็ไปอยู่บริเวณที่ห่าง ๆ กัน ในเมื่อจิตใจเกิดความหวาดกลัวภัยขึ้นมา จิตใจก็วิ่งเข้าสู่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะอย่างเหนียวแน่น เพราะในขณะนั้นไม่มีใครอีกแล้วที่จะเป็นเพื่อนตาย ดังนั้น ท่านจึงมีอุบายให้ไปฝึกฝนอบรมตัวเอง ฝึกฝนอบรมบรรดาลูกศิษย์ลูกหา ผู้ติดตาม ในสถานที่วิเวกห่างไกลเต็มไปด้วยภัยอันตราย เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหามีความกล้าหาญชาญชัย ในการที่จะเสียสละเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง

 

          การฝึกฝนอบรมหรือการอบรมสั่งสอนของครูบาอาจารย์ดังกล่าวนั้น ท่านยึดหลักที่จะพึงให้ลูกศิษย์ปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวันดังนี้

 

          ท่านจะสอนให้พวกเราประกอบความเพียรดังกล่าวตั้งแต่หัวค่ำ จนกระทั่งเวลา ๔ ทุ่ม พอถึง ๔ ทุ่มแล้วก็จำวัด พักผ่อนตามอัธยาศัย พอถึงตี ๓ ท่านก็เตือนให้ลุกขึ้นมาบำเพ็ญเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา หรือทำวัตรสวดมนต์ก็ตามแต่ที่จะถนัด แต่หลักที่ท่านยึดเป็นหลักที่แน่นอนที่สุดก็คือว่า ในเบื้องต้นท่านจะสอนให้ลูกศิษย์หัดนอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ ในขณะที่ยังไม่ได้นอนหรือตื่นขึ้นมาแล้วก็ทำกิจวัตร มีการสวดมนต์ ไหว้พระ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ท่านก็จะสอนให้ทำอย่างนี้ อันนี้เป็นหลักสำคัญที่ท่านจะรีบเร่งอบรมสั่งสอนและฝึกลูกศิษย์ให้ทำให้ได้ ถ้าหากยังทำไมได้ ท่านก็ยังไม่อบรมสั่งสอนธรรมะส่วนละเอียดขึ้นไป

 

          เพราะอันนี้เป็นการฝึกหัดดัดนิสัยให้มีระเบียบ นอนก็มีระเบียบ ตื่นก็มีระเบียบ การฉันก็ต้องมีระเบียบ คือ ฉันหนเดียวเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร บิณฑบาตฉันเป็นวัตร อันนี้เป็นข้อวัตรที่ท่านถือเคร่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อฉันในบาตร ฉันหนเดียว อันนี้ท่านยึดเป็นหัวใจหลักของการปฏิบัติกรรมฐานเลยทีเดียว

 

หน้าก่อนนี้    หน้าต่อไป


แก้ไขล่าสุด ( วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2012 เวลา 04:38 น. )
 
 

Joomla 1.5 Templates by Joomlashack