A Free Template from Joomlashack

A Free Template from Joomlashack

แบบสำรวจ

ท่านกำลังใช้ระบบปฏิบัติการ (OS) อะไรอยู่ ?
 

Search

ผู้เข้าเว็บขณะนี้

เรามี 43 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

JComments Latest

  • https://viagrame.ru
  • garilla казино garilla казино
  • https://mister-tvister16.ru
  • cialis canadian pharmacy online pharmacy canadian ...
  • ed pill prices
หลวงพ่อพุธ...ไขข้อข้องใจ ตอนที่ 2 PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย Administrator   
วันจันทร์ที่ 15 กันยายน 2014 เวลา 04:43 น.

 
หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย 
 
 

  ๒๑. การปฏิบัติกรรมฐาน  พระพุทธเจ้ายึดมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นที่ตั้ง นอกจากสูตรนี้แล้วยังมีสูตรอื่นอีกหรือไม่
 
 

             การปฏิบัติกรรมฐานนั้น ส่วนใหญ่ก็ยึดมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นหลัก แต่สูตรอื่นๆ ก็มีเหมือนกัน ในหลักสติปัฏฐานสูตรนั้น วิธี ปฏิบัติกรรมฐานมีพร้อมทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สติบรรพ" "สัมปชัญญะบรรพ" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำสติสัมปชัญญะให้มีพลังสมูบรณ์ขึ้น ในสูตรอื่นๆ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่จะทำให้สติสัมปชัญญะของผู้ปฏิบัติดีขึ้นนั้น ก็เป็นหลักของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเหมือนกัน 

 




          ๒๒. เวลาปฏิบัติอยู่  รู้สึกว่ามือที่วางอยู่บนตักมีอาการเกร็ง    อยากทราบว่าปฏิบัติถูกหรือไม่


            การปฏิบัติถูกต้อง แต่การตั้งใจแรงเกินไป มีการข่มประสาท หรือเกร็งกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นธรรมดา  เมื่อจิตสงบลงไปสัก  นิดหน่อย เพราะอาศัยความตั้งใจแรงเกินไป จะทำให้มือไม้เกร็งไปหมด  ถ้าเกิดปัญหาอย่างนี้ ทางแก้ก็คือถอนใจใหญ่สักครั้งหนึ่ง แล้วอาการก็จะหายไป แล้วก็ตั้งต้นปฏิบัติใหม่  อันนี้เป็นประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติ

 


 

 

           ๒๓. การปฏิบัติกรรมฐานที่ผิดวิธีจะทำให้เสียสตินั้น  เป็นจริงหรือไม่
 
    เป็นทั้งความจริงและไม่จริง    ถ้าหากการปฏิบัติกรรมฐานถูกต้อง โดยมีครูบาอาจารย์คอยแนะนำและยึดหลักปฏิบัติที่เป็นแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้อย่างจริงจัง เช่น    เราจะยึดในหลักสมถกรรมฐาน ๔๐ ประการ มีพุทธานุสติเป็นต้น แล้วผู้ปฏิบัตินั้นมุ่งที่จะทำจิตให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่ต้องการให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาช่วยให้จิตของเรามีพลัง คือมุ่งที่จะทำจิตของตัวเองนั่นแหละให้มีพลังสมาธิ พลังสติปัญญาขึ้นมา โดยไม่ไปอาราธนาหรืออัญเชิญเอาสิ่งอื่นมาช่วย  การปฏิบัติแบบนี้ในขั้นต้นเราอาจจะยึดวิธีการ    เพราะวิธีการนี่เป็นอุบายที่ปลูกศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสให้เกิดมีขึ้นใน พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  เชื่อมั่นในปัญญาตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   เป็นการโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธา   แล้วจะได้เกิดวิริยะ   อุตสาหะในการปฏิบัติ
 
 
 
   การปฏิบัติกรรมฐานนี่ ในเมื่อพูดมาถึงตอนนี้ อาตมะอยากจะขอให้คติเตือนใจบรรดาท่านผู้สนใจในการปฏิบัติทั้งหลายในสิ่งที่ควรสังวรระวัง  การปฏิบัติกรรมฐานโดยสายตรงนั้น ให้ยึดหลักมหาสติปัฏฐาน แล้วอย่าไปปรารถนาให้ท่านผู้ใดผู้หนึ่งใช้อำนาจจิตมาช่วยให้เราปฏิบัติได้เร็วขึ้น อาตมะเห็นว่าไม่มีผู้ใดจะวิเศษยิ่งไปกว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   แม้พระองค์ทรงแสดงธรรมและชี้แนวทางให้ผู้ปฏิบัติดำเนินตาม ลงผลสุดท้ายก็สรุปลงไปว่า อักขาตาโร ตถาคตา พระตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก  พระองค์ยังออกตัวถึงขนาดนี้    พระสาวกในปัจจุบันหรือจะวิเศษวิโสยิ่งไปกว่าพระพุทธเจ้า
 
 
        เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติ เพื่อมุ่งความสำเร็จในการปฏิบัติอย่างจริงจัง  โปรดอย่าได้ปล่อยหรือหลงให้ใครสักคนหนึ่งมาใช้อำนาจบังคับจิตใจของเรา  เราภาวนาพุทโธๆๆ เป็นต้น    เราไม่ได้ปรารถนาที่จะให้พระพุทธเจ้ามาเป็นใหญ่ในหัวใจของเรา   เพื่อดลบันดาลจิตใจของเราให้สงบเป็นสมาธิ  เรานึกพุทโธๆ เพียงระลึกถึง คุณของพระพุทธเจ้าว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้รู้ เปฺ็นผู้รู้เพื่อจะทำจิตใจของเราให้เป็นผู้รู้ตามแบบอย่างของพระพุทธเจ้าเท่านั้น และคำว่าพุทโธ เป็นแต่เพียงสื่อนำจิตให้เดินเข้าไปสู่ความสงบ เพื่อเป็นอุบายพราก จากความคิดที่มันวุ่นวายอยู่กับสิ่งต่างๆ  ให้มารวมอยู่ในจุดเดียวคือ พุทโธ  พอจิตรวมอยู่ที่พุทโธ จิตก็จะสงบ  สงบแล้ว คำว่าพุทโธจะ หายไป  ยังเหลือแต่สภาวะจิต ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อยู่ภายในจิตของผู้ภาวนา  อันนี้คือจิตของผู้ภาวนาเป็นไปโดยสมรรถภาพและพลังของตัวเอง
 
 
 
และอีกอย่างหนึ่งเคยได้พบเห็น เช่น บางท่านไปเรียนกรรมฐาน แล้วให้อาจารย์กรรมฐานลงอักขระ มีการปลุกเสกสวดญัตติอะไรเข้าไปให้  พอไปภาวนาแล้ว เมื่อจิตเกิดมีสมาธิขึ้นมาบ้าง ในขณะอุปจารสมาธิอ่อนๆ ก็ถูกอาถรรพ์วิชานั้นเข้าครอบ  พอครอบแล้ว สติสตังไม่สามารถที่จะควบคุมจิตของตัวเองได้   กลายเป็นคนวิกลจริตไปก็มี
 
 
 
การปฏิบัติสมาธิตามหลักของพระพุทธเจ้านี้ ในขณะใดที่เรายังไม่สามารถที่จะทำจิตให้บรรลุคุณธรรมชั้นสูงถึงขนาดมรรคผลนิพพาน  เราภาวนาแล้ว เราสามารถเอาพลังสมาธิไปใช้ประโยชน์ในการงานทางโลกที่เรารับผิดชอบอยู่   เพราะการทำสมาธิทำให้ผู้  ภาวนามีสติสัมปชัญญะ มีจิตเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งใด  เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ภาวนาเป็นแล้ว มีสมาธิดีแล้ว มีสติสัมปชัญญะดีแล้ว ก็สามารถที่จะใช้พลังสมาธิของตัวเองเป็นอุปกรณ์ในการทำงานได้เป็นอย่างดี และพลังของสมาธิและสติปัญญาที่ท่านอบรมมาแล้วนั้นจะเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนความรู้สึกของท่านให้เป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ประมาททั้งงานการในทางโลกและทางธรรม  อันนี้จึงจะเป็นไปโดยถูกต้อง
 
 
 
 
 
แต่ถ้าภาวนาแล้วจิตมีสมาธิ แล้วทำให้เบื่อหน่ายโลก ไม่อยากอยู่กับโลก ไม่อยากอยู่กับครอบครัว  อันนั้นเป็นความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้อง และความคิดเห็นอันนั้นไม่ได้เป็นไปด้วยอำนาจความเป็นจริงของจิตใจ แต่หากมีอำนาจสิ่งหนึ่งมาคอยบังคับจิตให้มีความรู้สึกเป็นไปเช่นนั้น  โลกนี้ไม่ใช่โลกที่น่าเบื่อหน่าย โลกนี้ไม่ใช่ โลกที่น่าเกลียดน่าชัง โลกนี้เป็นโลกที่ทุกคนควรจะศึกษาให้รู้ข้อ เท็จจริงของความเป็นไปของโลก  ในเมื่อเราเป็นนักปฏิบัติ ถ้าเราไม่รู้ข้อเท็จจริงของโลกว่ามันเป็นอย่างไร และไม่รู้สภาพความเป็นจริงของจิตใจของตัวเองว่าเป็นอย่างไร มีความติดอยู่ในโลกอย่างไร      ผูกพันอยู่ในโลกอย่างไร     เราก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาภายในจิตใจของเราได้
 

 





  ๒๔. คำว่า "เทวบุตรมาร" เป็นอย่างไร  มีบางท่านว่าเป็นเทวดาที่คอยแกล้งผู้ที่ทำความดี จริงหรือไม่

 


ถ้าว่าโดยปุคคลาธิษฐานละก็     เทวบุตรมารก็หมายถึงเทวดาที่คอยมาหลอกหลอน  ในปัจจุบันนี้เทวบุตรมารมีเยอะ เช่น   ภาวนาไปแล้วพอจิตจะรวมเป็นสมาธิที่ถูกต้องแล้ว   ประเดี๋ยวก็มีพระบ้างล่ะ   มีผู้ยิ่งใหญ่บ้างล่ะ   มีเจ้าโน่นเจ้านี่บ้างล่ะ  เป็นวิญญาณมาบอกการทำอย่างนั้นไม่ถูกๆๆๆ อย่าทำเลย อะไรทำนองนี้  อันนี้แหละคือเทวบุตรมาร
 
 
ทีนี้ถ้าจะว่าโดยกิเลสที่มีอยู่ในตัวของเรานี่ เช่น เราตั้งใจว่าจะทำสมาธิภาวนาในวันนี้ พอทำไปๆ พอจะได้สบายแล้ว ความคิดอันหนึ่งมันเกิดขึ้นมา อุ๊ย! หยุดดีกว่า ไม่ต้องทำ อะไรทำนองนี้  หมายถึงความคิดที่คอยกระตุ้นเตือนให้เราหยุดพักการกระทำนั้นในลักษณะ แห่งความขี้เกียจท้อแท้ เป็นเรื่องของเทวบุตรมาร
 

 

 


 

 

           ๒๕. เวลานั่งสมาธิและเดินจงกรมจะลงสู่ความสงบแล้ว     มีนิมิตเสียงดังมาก  เช่น  ดังเปรี้ยงเหมือนฟ้าผ่าหรือดังก้องมา แต่ก็มีสติรู้   ไม่ตกใจ  จะปฏิบัติอย่างไร
 
 
   ถ้าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น  ขอให้ถือว่าสิ่งนั้นคือเครื่องรู้ของจิต  เครื่องระลึกของสติ  จะเป็นสี แสง เสียง หรือรูปนิมิต อะไรต่างๆ ก็ตาม ให้ถือเป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต    เครื่องระลึกของสติ   ประคองจิตทำสติไว้ให้ดี   แล้วผลดีจะเกิดขึ้น  อย่าไปตกใจหรืออย่าไปแปลกใจ กับสิ่งเหล่านั้น
 
 




๒๖. เมื่อจิตติดอยู่ปีติและความสุข    มีอยู่บ่อยๆ ครั้ง   จนไม่อยากถอนออกจากสมาธิ   จะมีอุบายแก้ไขอย่างไร

 


ในขั้นนี้ยังไม่อยากจะให้ใช้อุบายแก้ไข    เพราะจิตที่มีปีติและมีความสุขยังไม่มั่นคงเพียงพอ  ให้พยายามฝึกให้มีปีติ มีความสุข ให้อยู่ในขั้นที่เรียกว่า ได้ฌานสมาบัติ  อันนี้เป็นเพียงความรู้สึกสัมผัสเพียงนิดหน่อยแล้วก็อยากจะเปลี่ยน อะไรทำนองนี้  ดำเนินให้จิตมันมีความสงบ มีปีติ มีความสุข บ่อยๆ เข้า  มันจะได้เกิดความชำนาญในการเข้าออกสมาธิ  แล้วถ้าอยากจะให้จิตมีสภาพเปลี่ยน  แปลง ให้คอยจ้องเวลาจิตถอนออกจากสมาธิ  ในเมื่อหมดปีติหมด ความสุขในสมาธิแล้ว เกิดความคิดขึ้นมา ทำสติตามรู้ความคิดนั้น  หรือจะหาอะไรมาพิจารณาก็ได้เพื่อเป็นการฝึกจิตให้รู้จักการพิจารณา
 

 



  ๒๗. เมื่อทำสมาธิแล้วจิตไม่ค่อยสงบ    มักจะน้อยใจคิดว่าตนเองไม่มีวาสนาบารมี
 
 
 
อย่าไปคิดอย่างนั้น  ในเมื่อจิตไม่สงบ ก็ทำเรื่อยไป  ทำสติรู้และพิจารณาว่ามันไม่สงบเพราะอะไร  ค่อยๆ แก้ไข และพากเพียรพยายามทำให้มากๆ เข้า เดี๋ยวมันก็เกิดความสงบขึ้นมาเอง

 

 



 

          ๒๘. เห็นกายในกาย  เวทนาในเวทนา  จิตในจิต  ธรรมในธรรม  หมายความว่าอย่างไร
 
 
 
อันนี้เป็นความรู้เรื่องมหาสติปัฏฐาน ๔ เกี่ยวกับการพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม  เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม

 


คือเห็นว่ากายสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ถ้าไปเห็นกายว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็ไม่ใช่เห็นกายในกาย  ไปเห็นกายในสัตว์ ในบุคคล  ผลลัพธ์ของการพิจารณากายนี่ ท่านสอนให้ พิจารณากายให้เห็นสักแต่ว่าเป็นกาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา   เมื่อจิตเห็นจริงลงไปและยอมรับสภาพความจริงว่ากายสักแต่ว่ากาย เรียกว่าเห็นกายในกาย
 
เวทนาในเวทนาก็เหมือนกัน  เวทนาสักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

 


จิตก็เป็นสักแต่ว่าจิต คือความรู้สึกนึกคิด  ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
 
ธรรมก็สักแต่ว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา  เรียกว่าเห็นธรรมในธรรม

 

 
 
 

 
 

           ๒๙. การเห็นนาม-รูป   เกิด-ดับ    เห็นเป็นลักษณะอย่างไร      และภูมิจิตอยู่ในขั้นไหน
 
 
       อันนี้เป็นปัญหาที่มีความละเอียดพอสมควร    การเห็นนาม-รูป   เกิด-ดับ  อันนี้จะขอนำประสบการณ์ที่เคยผ่านมา มาเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟัง แต่มันจะอยู่ในลักษณะที่นาม-รูป   เกิด-ดับ หรือไม่ จะขอฝากท่านทั้งหลายไว้ช่วยพิจารณา
 
 
    ในขณะที่เรากำหนดจิตจะทำสมาธิภาวนาลงไป พอกำหนดจิตพั้บลงไป เราจะรู้สึกว่าจิตของเรารู้ทั่วทั้งกาย แล้วก็รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม โดยสัญญา   เมื่อเราบริกรรมภาวนาลงไปแล้ว จิตของเราสงบ เป็นสมาธิละเอียดลงไป ลมหายใจก็ดับ ร่างกายที่ปรากฏอยู่ก็ดับ คือจิตไม่สำคัญมั่นหมายในลมหายใจและกาย เป็นว่ากายและลมหายใจหายไปหมด ยังเหลือแต่สภาพจิตที่สงบนิ่งเด่นอยู่  ในขณะที่ จิตรู้ทั่วกายอยู่นั้น ความรู้สึกในทางจิตไม่มีความเด่น  แต่เมื่อกายหายไป ลมหายใจหายไปแล้ว จิตสงบนิ่งลงไป ปรากฏเด่นชัดอยู่ แต่รูปหายไปหมดแล้ว อันนี้ในลักษณะอย่างหนึ่ง
 
 
    ในอีกลักษณะหนึ่ง เช่น พระโยคาวจรมาพิจารณากายโดย ระลึกถึงความตาย ค้นคว้าพิจารณาไปจนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริงลงไปว่า กายนี้ตายลงไปแล้ว แล้วกายของผู้ภาวนานั้นก็ปรากฏว่าขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพัง ในที่สุดยังเหลือแต่โครงกระดูก แล้วโครงกระดูก ก็สลายตัวละเอียดเป็นผงลงไป หายไปในพื้นแผ่นดินทั้งหมด  ในที่สุดพื้นแผ่นดินก็หายไปด้วย ยังเหลือแต่สภาพจิต นิ่ง เด่น สว่าง ไสวอยู่เท่านั้น  อันนี้จิตไม่มองเห็นวัตถุ ยังเหลือแต่จิต นิ่ง เด่นอยู่สว่างไสวอยู่
 
 
    อันนี้ขอให้แนวคิดเพื่อฝากเป็นปัญหาให้ท่านนักปฏิบัติและนักศึกษาทั้งหลายนำไปคิดพิจารณาเป็นการบ้าน ในขณะที่ผู้ที่ทำสมาธิภาวนาหรือพิจารณาธรรมอันใดอยู่ก็ตาม ในขณะที่รู้สึกว่ามีกายอยู่  รู้สึกว่ามีลมหายใจอยู่ ทั้งนามและรูปปรากฏอยู่พร้อมหน้ากัน  เพราะกายปรากฏมีอยู่ เวทนาก็ปรากฏมีอยู่ สุขทุกข์ยังปรากฏอยู่ เช่นอย่างสุขเกิดแต่ปีติก็เป็นเวทนา เรียกว่าสุขเวทนา  เมื่อจิตสงบละเอียดลงไปแล้ว  กาย ลมหายใจ ปรากฏว่าหายไป ยังเหลือแต่จิต  จิตไม่มีความรู้สึกว่ามีกาย กายก็คือรูปนั้นก็ดับไปแล้ว  ในเมื่อรูปดับไปแล้ว   เวทนาอันเป็นสุขเป็นทุกข์ก็ดับไปด้วย    อุเบกขาเวทนาจึงปรากฏเด่นชัดขึ้น ตัวนามคือจิตปรากฏเด่นชัดขึ้น จึงมีคำพูดว่า รูปดับ-นามเกิด รูปดับ-นามเกิด
 
 
 
    ส่วนท่านผู้อื่นจะมีความเข้าใจอย่างไรนั้นขอฝากเป็นการบ้าน ช่วยกันพิจารณา อันนี้ไม่ขอตัดสิน
 

 
 




           
๓๐. พระนิพพาน...ฝ่ายหนึ่งว่าปฏิบัติจนสิ้นกิเลสตัณหาก็จะถึงพระนิพพาน   อีกฝ่ายหนึ่งก็ว่าทำบุญมาก เช่น สร้างโบสถ์ ๒-๓   หลังก็จะได้ไปพระนิพพาน  ทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นนิพพานของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาใด
 
 
ประเด็นแรก ผู้ปฏิบัติจนสิ้นกิเลสตัณหาแล้วจนกระทั่งจิตถึงซึ่งความบริสุทธิ์สะอาดโดยสิ้นเชิง กิเลสไม่มีเหลือติดอยู่ในใจแม้แต่นิดหนึ่ง อันนี้เป็นผู้ถึงพระนิพพานอย่างแท้จริง
 
 
ที่ว่าผู้ทำบุญมากๆ เช่น สร้างโบสถ์ ๒-๓ หลัง จะได้พระนิพพาน อันนี้เป็นเพียงทานบารมี เพื่อเป็นการสนับสนุนบุญบารมีให้ถึงพระนิพพาน   ตามหลักแห่งบารมี ๑๐ ทัศ
 
 
ข้อต้นเป็นนิพพานของศาสนาพุทธ  ข้อที่ ๒ เป็นการสร้างหนทางเพื่อให้ไปสู่พระนิพพานในศาสนาพุทธเหมือนกัน แต่การถึงพระนิพพานไม่สำเร็จได้เพราะการสร้างโบสถ์ ๒-๓ หลังเท่านั้น     ต้องสำเร็จด้วยการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา จนสามารถเกิดปหานะ ละกิเลส ตัณหา มานะ ทิฏฐิ  ละกิเลสน้อยใหญ่ทั้งปวงให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ จึงจะถึงพระนิพพาน
 




          ๓๑. มีเงินมาก ทำบุญให้ทานมาก  แต่ก็มีกิเลส  โลภะ    โทสะ   โมหะ มาก  จะถึงนิพพานได้หรือไม่

 


          การทำบุญสุนทาน แม้จะทำมากๆ สักเท่าไรก็ตาม แต่ถ้าผู้ทำไม่มุ่งที่จะกำจัดกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ  เป็นแต่เพียงมุ่งที่จะทำทานให้ได้มากๆ ก็ยังไม่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน

 

          การจะถึงพระนิพพาน ต้องปฏิบัติตามหลักของศีล สมาธิ ปัญญา   จนสามารถที่จะทำ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้สำเร็จ  ประชุมลงเป็นองค์อริยมรรค ซึ่งมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ที่จะปฏิวัติจิตไปสู่ภูมิจิตภูมิธรรม  ลำพังแต่เพียงการให้ทานด้วยอามิสอย่างเดียว ไม่สำเร็จพระนิพพานได้ถ้าขาดการภาวนา
 

 

 


 

 

           ๓๒. พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จะดูได้จากอะไร?
 
 
   อันนี้ธุระไม่ใช่!
 
           ไม่ควรไปดูคนอื่น ควรจะดูเราเองว่าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือไม่  ถ้าหากว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ     ทุกคนก็ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปหมด เพราะว่าอันนั้นมันเป็นเรื่องส่วนตัว  เราจะดูแต่ภายนอกไม่ได้    มันดูยากว่าใครปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  สมัยทุกวันนี้เขาเล่นลิเกเก่ง   เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่ดูยาก  ทีนี้ถ้าหากเราจะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริงๆ เราก็ตั้งใจว่าเราจะปฏิบัติตัวของเราให้ดี  เราไม่ควรไปกลัวคนอื่นจะลงนรก   เราควรกลัวเราจะลงนรกมากกว่า
 
 
    ทีนี้สำหรับสหธรรมิกที่อยู่ด้วยกัน เราก็รู้ได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติ  ถ้ามองเห็นว่าข้อปฏิบัติข้างนอกนี้มันดีงาม สมกับสมณะสารูป    เราก็รู้ทันทีว่าผู้นั้นเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สังวาเสนะ สีลัง เวทิตัพพัง  ศีลเราจะรู้ได้ว่าใครบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เพราะการอยู่ร่วมกัน    เราอยากจะรู้ได้   เราก็อยู่ร่วมกันนานๆ    ดูความประพฤติปฏิบัติของกันและกันไป
 
 
 
     ดังนั้น สำหรับพระภิกษุสงฆ์ ในเมื่อไปสู่สำนักของพระเถระท่านใดท่านหนึ่งซึ่งท่านเป็นหัวหน้า ท่านให้ดูอยู่ ๓ วัน    ถ้าแน่ใจว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ของเราได้ ให้ขอนิสัย  ถ้าหากเราไม่แน่ใจ ถ้าเราสมัครใจจะอยู่ที่นั่นก็ดูต่อไปอีก     ถ้าไม่เห็นความดีความชอบของท่าน   เราไม่สมัครใจ ก็ลาท่านหนีไปเสีย   ถ้าขืนอยู่ต่อไปอาบัติทุกกฏ
 

 



 
 
 
แก้ไขล่าสุด ( วันจันทร์ที่ 15 กันยายน 2014 เวลา 06:36 น. )
 

เพิ่มคอมเมนต์ใหม่

รหัสป้องกันความปลอดภัย
รีเฟรช

 

Joomla 1.5 Templates by Joomlashack