A Free Template from Joomlashack

A Free Template from Joomlashack

แบบสำรวจ

ท่านกำลังใช้ระบบปฏิบัติการ (OS) อะไรอยู่ ?
 

Search

ผู้เข้าเว็บขณะนี้

เรามี 69 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

JComments Latest

  • big porno (bigporno.top: https://bigporno.top/)
  • https://viagrame.ru
  • garilla казино garilla казино
  • https://mister-tvister16.ru
  • cialis canadian pharmacy online pharmacy canadian ...
หลวงพ่อพุธ...ไขข้อข้องใจ ตอนที่ 1 PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย Administrator   
วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน 2014 เวลา 07:51 น.

 
หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย 
 


 
 

           ๑. มีพุทธพจน์กล่าวว่า "ดูก่อนอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยความเชื่อว่า พระตถาคตเจ้าประสูติในที่นี้ก็ดี พระตถาคตเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ก็ดี พระตถาคตเจ้าแสดงธัมมจักฯ ในที่นี้ก็ดี  พระตถาคตเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน   ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้ก็ดี  ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งเที่ยวจาริกไปยังเจดีย์คือสังเวชนียสถาน มีจิตเลื่อมใสแล้วถึงแก่กรรมลง ชนเหล่านั้นทั้งหมด หลังจากตายไปแล้ว ก็จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์"
 
เป็นความจริงหรือไม่


 

อันนี้เป็นความจริง


ถ้าในขณะที่ไปกราบไปไหว้สังเวชนียสถาน แม้แต่ไหว้พระพุทธรูป ไหว้พระสงฆ์ อยู่ในบ้านในเมืองเรานี้ก็ดี  ถ้าหากไหว้ด้วยจิตที่มีศรัทธา เคารพเลื่อมใสอย่างจริงจัง ตายลงไปในขณะนั้นเกิดในสวรรค์
 
ยกตัวอย่างเช่น มัทกุณฑลีที่กำลังเจ็บป่วยอย่างหนัก  พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด เพียงแค่แผ่รัศมีไปต้องจักษุแล้วก็หันมามองเห็นพระพุทธเจ้าเพียงนิดเดียว แล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธาขึ้นในจิตว่า  โอ! พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดเรา  แล้วก็ดับจิตในขณะนั้น   ก็ไปเกิดในสวรรค์

 

 



  ๒. ทำอย่างไรจึงจะรู้กรรมเก่าในอดีตของเราว่ามีอะไรบ้าง   เพื่อที่เราจะได้แก้กรรมนั้นให้หายไป ไม่ต้องมารับกรรมนั้นๆ อีก จะได้ตั้งหน้าตั้งตาทำแต่กรรมดีในชาตินี้ต่อไป โดยไม่ต้องพะวงกับกรรมเก่าในอดีตชาติ
 
 
การที่จะรู้กรรมเก่าในอดีตไม่เป็นปัญหาสำคัญในเมื่อเรารู้แล้ว มันก็ไม่มีประโยชน์ กรรมที่เราทำลงไปแล้วไม่มีโอกาสที่จะแก้ได้  มีทางเดียวคือว่าเราเชื่อกรรมและเชื่อผลของกรรม เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
 
 
 
 
ส่วนกรรมชั่วในชาติอดีตนั้น เราอาจจะมี  แต่ในชาตินี้เรามีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดีแล้ว และเชื่อกฎของกรรมแล้ว ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว  เราก็พยายามละเว้นจากการทำชั่ว ทำแต่ดีเรื่อยไป  ในเมื่อทำแต่ดีๆ เรื่อยไป หากเรามีการทำสมาธิภาวนา เราสามารถ ที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้  ส่วนผลกรรมเก่า แม้ผู้บรรลุมรรคผล นิพพานแล้ว ก็ยังต้องได้รับอยู่ เช่น พระโมคคัลลาน์ เป็นต้น
 
 
 
เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นปัญหาสำคัญที่เราจะต้องไปแก้กรรมเก่า ทำแต่ความดีใหม่ในปัจจุบันนี้ให้มากๆ ขึ้น  ถ้าหากว่ากรรมเก่าในอดีต ซึ่งมันอาจจะมีเพียงเล็กน้อย เมื่อเราทำดีในปัจจุบันให้  มากขึ้นๆ  กรรมใหม่นี่ ในเมื่อสะสมเอาไว้มากๆ เข้า มันก็มีพลังพอจะหนุนจิตให้วิ่งเร็วขึ้น  ในเมื่อผลกรรมใหม่บันดาลจิตของเราให้ วิ่งเร็วขึ้น กรรมเก่าที่วิ่งตามมามันก็ช้าลง ทำให้ห่างจากของเก่าเรื่อยไป  ถ้าหากเราได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ถึงแม้ว่ากรรมเก่ามันจะตามมาทันให้ผลในอัตภาพนี้  แต่ก็ไม่สามารถที่จะประทุษร้ายจิตใจของเราให้เป็นอย่างอื่นได้

 
 


 

  ๓. การสวดเพื่อต่ออายุ หรือทำพิธีเพื่อต่ออายุนั้น ทำแล้วสามารถต่ออายุได้จริงหรือไม่
 
 
อันนี้ทำแล้วก็สามารถต่ออายุได้จริง  บางทีคนเป็นลมมา  จะช็อคตายในขณะนั้น มีใครสักคนหนึ่งไปปลอบใจ แล้วใจดีขึ้นมา ก็ต่ออายุไปได้  เป็นอุบายวิธีให้กำลังใจกัน
 
เคยมีตัวอย่าง อายุวัฒนกุมาร  ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ที่เรา เอาบทมาสวด สัพพะพุทธานุภาเวนะ สัพพะธัมมานุภาเวนะ ...  นี่ เกิดจากเรื่องอายุวัฒนกุมาร พระพุทธเจ้าพิจารณารู้ว่าอายุวัฒนกุมารจะสิ้นชีวิตโดยยักษ์จะมาจับไปกินภายใน ๗ วัน   พระองค์ทรงพระเมตตา ก็พาพระภิกษุสงฆ์ไปสวดมนต์ป้องกันยักษ์  เสร็จแล้วยักษ์ก็ไม่มีโอกาสจะจับกุมารน้อยไปกินเป็นอาหาร  เมื่อสิ้นกำหนดแล้ว  ก็หมดสิทธิที่จะจับกุมารไปกินเป็นอาหาร   ก็เป็นอันว่ากุมารพ้นจากความตาย  จึงได้ตั้งชื่อใหม่ว่า อายุวัฒนกุมาร
 
 
อันนี้เป็นวิธีการต่ออายุ   เราก็ได้ตัวอย่างมาจากนั้นแหละ ก็เลยมาถือกัน   ผู้เฒ่าผู้แก่เจ็บป่วยก็ทำพิธีต่ออายุเพื่อให้อายุมั่นขวัญยืน เป็นการปลอบใจกัน  ส่วนจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จนั่น เอาไปพิจารณาดูเอาเอง   อาตมาก็ไม่กล้ายืนยัน  แต่ว่าสำเร็จทางการให้กำลังใจกันนี่   สำเร็จแน่ คือทำให้ใจดีขึ้น
 




 

 
๔. เครื่องรางของขลังและวัตถุมงคล การพรมน้ำมนต์   การเป่าหัว  การเจิม  หรือการสักยันต์  สิริมงคลหรือความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย มีความจริงหรือไม่ เพราะเหตุใด
 
เรื่องที่ถามมานี้เป็นเรื่องของไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์กับพุทธศาสตร์นี่เป็นสิ่งที่แฝงมาด้วยกัน ความจริงของไสยศาสตร์เขาก็มี อยู่ตามขั้นตอนของเขา แต่ไม่เป็นความจริงในขั้นอมตะ    ความเป็นจริงของสิ่งที่เป็นมงคล หรือน้ำมนต์ หรือของขลังศักดิ์สิทธิ์    อะไรต่างๆ สิ่งเหล่านี้มันจะขลังศักดิ์สิทธิ์อยู่ได้ชั่วระยะเวลาที่เรามีความเชื่อมั่น    ถ้าผู้ใช้ขาดความเชื่อมั่น สิ่งมงคลเหล่านั้นก็ไม่มีความหมายอะไร  และถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ของขลังศักดิ์สิทธิ์ช่วยได้ มันก็เป็นบางครั้งบางคราว ไม่แน่นอน
 
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงว่า ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ละชั่ว ประพฤติดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด นี่เป็นมงคลอันอมตะ  ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ถ้าใครทำได้
 
ทีนี้ มงคล เช่น น้ำมนต์ เป่าหัว เจิม อะไรทั้งหลายนี่ เป็นมงคลชนิดที่เราต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น ในเมื่อผู้อื่นเขาไม่พอใจแล้วเขาไม่ช่วย เราก็หมดท่า
 
เพราะฉะนั้น ทุกคนควรจะได้แสวงหาที่พึ่งกับตัวเอง ด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
 
ทีนี้การทำสิ่งเหล่านี้ การทำมงคลหรืออะไรดังที่ว่านี่    เป็นการผิดไหม เป็นการงมงายไหม  อันนี้ สิ่งใดที่เรายังยึดถืออยู่ สิ่งนั้นเป็นเรื่องงมงายหมด  แม้แต่การปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนา กรรมฐาน ถ้าปฏิบัติด้วยอุปาทาน ด้วยความยึดมั่นถือมั่น อยากเป็น ผู้ดีผู้วิเศษอะไรทำนองนี้ เป็นเรื่องของความงมงายหมด
 
เรื่องวัตถุมงคลต่างๆ การพรมน้ำมนต์ การเป่าหัว อะไรเหล่านี้   เป็นการให้กำลังใจกันตามความนิยมของสังคม   แต่ถ้าพูดถึงขั้นปรมัตถ์แล้ว ไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น
 
เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรมะนี่เราต้องเข้าใจเป็น ๒ ขั้นตอน
- ขั้นโลกียธรรม
- ขั้นโลกุตตรธรรม
 
ขั้นโลกียธรรม ย่อมมีอัตตาตัวตน มีสมมติบัญญัติ มีผู้ชาย มีผู้หญิง มีเรา มีเขา มีทรัพย์สมบัติ มีผู้ถือกรรมสิทธิ์  อันนี้เรื่องของโลกีย์ เราปฏิเสธไม่ได้
 
แต่ว่าถ้าจิตของเราขึ้นไปถึงขั้นโลกุตตระ ไปถึงในระดับเพียง แค่ว่า มีความรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี่มีแต่ความเกิดขึ้น-ดับไป เกิดขึ้น-ดับไป เฉยๆ นี่  อย่างในท้ายธัมมจักกัปปวตนสูตร ที่ท่านอัญญา- โกณฑัญญะรู้ธรรม เห็นธรรม  ถ้าภูมิจิตไปสัมผัสถึงขั้นนี้แล้ว คำว่า อัตตาตัวตน ผู้ชายผู้หญิง ไม่มี  ไม่มีสมมติ ไม่มีบัญญัติ ไม่มีเรา ไม่มีเขา  มีแต่สัจธรรม ความจริง ปรากฏอยู่เท่านั้น
 
ในขณะที่ท่านอัญญาโกณฑัญญะรู้ๆๆ รู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิด   ขึ้น-ดับไปเป็นธรรมดา  ในขณะนั้นจิตอยู่ในสมาธิอย่างแน่วแน่ ใน ขณะนั้นท่านอัญญาโกณฑัญญะไม่ได้ติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก มีความรู้สึกเฉพาะภายในจิตอย่างเดียว  และที่ท่านรู้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ดับไปเป็นธรรมดานั้น เป็นการรู้อย่างไม่มีสมมติบัญญัติ มีแต่สัจธรรมความจริง  แต่เมื่อท่านอัญญาโกณฑัญญะได้บวชแล้ว ก็ปรากฏว่าท่านอัญญาโกณฑัญญะต้องถือบาตรไปบิณฑบาตกับญาติโยม
 
นี่ส่อแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่จิตอยู่ในขั้นภูมิของโลกุตตระมันไม่สัมผัสกับใครเลย  แต่เมื่อจะทำธุรกิจกับชาวโลกนี่ เอาเรื่องของ ชาวโลกเข้ามาทันที เพราะอะไร เพราะเบญจขันธ์ของท่านก็เป็นของโลก ยังจะต้องอาศัยปัจจัย ๔ จากญาติจากโยม  เพราะฉะนั้น ในเมื่อท่านหวนกลับมาสัมผัสกับโลกแล้ว จึงมีสมมติบัญญัติ   ยอมรับว่า  ฉัน...อัญญาโกณฑัญญะนะ  ฉัน...หนึ่งในจำนวนภิกษุเบญจวัคคีย์นะ  ฉัน...เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้านะ  อันนี้คือสมมติบัญญัติ ที่ท่านจะยอมรับ
 
เพราะฉะนั้น การรู้ธรรมต้องรู้ ๒ ฝั่ง ฝั่งโลกีย์กับฝั่งโลกุตตระ ทำความเข้าใจให้ดี

 

 
 
 

๕."สัมภเวสี" คืออะไร
 
 
สัมภเวสี หมายถึงผู้แสวงหาที่เกิด   สัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยวไปมา  ไปเข้าฝันคนโน้นคนนี้  นั่น ไปหาที่เกิด เรียกว่า สัมภเวสี

 


ทีนี้ภูมิหนึ่งในบรรดา ๓๑ ภูมิ  สัมภเวสีก็เป็นภูมิอันหนึ่งในบรรดาหลายๆ ภูมิ  ซึ่งมากกว่า ๓๑ ภูมิ  อันนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิญญาณที่ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะ




 
 

๖.คำว่า "สีลัพพตปรามาส" หมายความว่าอย่างไร

 


 
"สีลัพพตปรามาส" คัมภีร์บางแห่งท่านเขียนไว้ว่าการปฏิบัติ อะไรลูบๆ คลำๆ ไม่แน่นอน ท่านว่าอย่างนั้น  สีลัพพตปรามาสตาม ความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไปหมายถึงการปฏิบัติอะไรแล้วมีอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น ถือว่าสิ่งนั้นดี วิเศษ
 
เช่น ผู้ที่ปฏิบัติข้อวัตรบางอย่าง เช่น ธุดงควัตร ก็ไปเคร่งแต่ธุดงควัตรจนเป็นอุปาทาน สมาทานศีลก็จนเป็นอุปาทาน ทำบุญ ให้ทานก็จนเป็นอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในสิ่งนั้น
 
ทำความเข้าใจอย่างนี้ดีกว่า สิ่งใดที่เราทำด้วยอุปาทาน  ยึดมั่นถือมั่น เอาจริงเอาจังจนกระทั่งเป็นข้อผูกมัดตัวเองจนกระดิกตัวไม่ได้ กระดิกไปทางไหนก็กลัวจะผิดศีลผิดธรรมอะไรทำนองนี้    อันนี้อยู่ในลักษณะแห่งสีลัพพตปรามาส

 

 


 

          ๗. เมื่อรับศีลจากพระไปแล้ว ไปกระทำผิดศีลเข้า  มีทั้งเจตนาบ้างและไม่เจตนาบ้าง อย่างนี้จะเป็นบาปกรรมมากกว่าการที่ไม่ได้มารับศีลจากพระไป แล้วกระทำผิดศีลหรือไม่
 
 
การรับศีลไปแล้ว ทำผิดบ้างถูกบ้าง แต่ว่าไม่ได้เจตนา เป็น แต่เพียงขาดการสำรวม ขาดสติ ทำให้ศีลเศร้าหมองนิดหน่อย
 
 
การที่มารับศีล แล้วรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ไม่ได้ มีขาดตก บกพร่องบ้าง ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนๆ กันกับว่า ผู้ที่มีเสื้อใส่ แต่เป็นเสื้อขาด ก็ยังดีกว่าผู้ที่ไม่มีเสื้อจะใส่เสียเลย
 
 
การสมาทานศีล ถึงแม้ว่าจะขาดตกบกพร่องบ้างก็ยังดี อันนั้นเป็นวิสัยธรรมดาของปุถุชน ย่อมมีการบกพร่องบ้าง  เมื่อเราฝึกไปจนคล่องตัวแล้วก็สมบูรณ์ไปเอง ดีกว่าไม่ทำเลย
 
 


 

 
๘. ผู้ที่สมาทานศีล ๘ แล้ว ไปตอกไข่ทำกับข้าว จะผิดศีลหรือไม่
 
 
สมัยนี้ เขาว่า ไข่ที่ฟักเป็นตัวก็มี ไม่เป็นตัวก็มี  แต่ถ้าเป็นไข่ที่เขาทำลายโดยหลักวิทยาศาสตร์แล้ว มันจะไม่ฟักออกมาเป็นตัว ก็ไม่ผิดศีล  แต่ถ้าไข่นั้นมันยังจะเป็นตัวอยู่ ไปต่อยเข้า มันก็ผิดศีล
 

 

 


 
 
 

๙. นักปฏิบัติ    ถ้าไปโกรธใครเขาเข้าและไปตำหนิเขา   ไปเพ่งโทษเขา ไปนึกว่าเขาเลวและทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ว่าเป็นผู้ไม่มีศีลไม่มีธรรมเหล่านี้ จะมีโทษหรือไม่
 
การว่า การตำหนิ ถ้าเป็นการติเพื่อก่อไม่มีโทษ ถ้าตำหนิด้วยความหวังดี  แต่ถ้าไปกล่าวติเตียน ยกโทษให้เสียชื่อเสียง เป็นการทำลาย มีโทษ

 


 

๑๐. นักบวชหญิง แม่ชี มีสิทธิบิณฑบาตเหมือนพระได้หรือไม่
 
 
อันนี้แล้วแต่ความสมัครใจ ถ้าใครอยากจะบิณฑบาตก็บิณฑบาตได้   ที่วัดป่าสาลวันก็มีชีผ้าขาวผู้ชายคนหนึ่งเดินบิณฑบาตตามหลังพระ   เขาก็ใส่บาตรจนเต็มเหมือนกัน

 


 

 

 

๑๑. อัฐิของพระที่มรณภาพแล้วกลายเป็นพระธาตุ  ตามทฤษฎีแล้วต้องเป็นพระระดับไหน

 

 

ตามความเข้าใจของชาวพุทธโดยทั่วๆ ไป อัฐิของผู้ที่มรณภาพไปแล้ว  แล้วกลายเป็นพระธาตุขึ้นมานั้น จะต้องเป็นของพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป
 
 
         ทีนี้มีปัญหาว่า ทำไมกระดูกคนที่ตายไปแล้วแม้จะเก็บไว้ตั้งพันปีหมื่นปีก็ยังเป็นกระดูกอยู่อย่างเดิม ไม่แปรสภาพเป็นอย่างอื่น  นอกจากจะผุพังไปเป็นดินเป็นหญ้าไปเท่านั้น   แต่กระดูกของพระอริยบุคคลทำไมจึงกลายสภาพเป็นพระธาตุขึ้นมาได้    อันนี้เป็นปัญหาที่น่าสงสัย
 
   ถ้าหากเราจะนึกถึงหลักการปฏิบัติเกี่ยวกับมหาสติปัฏฐาน   กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  เฉพาะกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี่ เราตั้ง กายของเราเป็นฐานที่รู้ของจิต เป็นที่ตั้งของสติ เพื่อเป็นการฝึกฝนอบรมสติให้มีสมรรถภาพจนกลายเป็นมหาสติ โดยทางปฏิบัติแล้ว พระผู้ที่ท่านปฏิบัติ ท่านเพ่งเอาอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ เป็นต้น เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึก ของสติ  ในเมื่อกายคืออาการ ๓๒ ถูกเพ่งบ่อยเข้า จิตเกิดมีสมาธิแล้วย่อมเกิดนิมิตให้มองเห็นในกายโดยทั่วไป ส่วนมากสิ่งที่ปรากฏให้รู้เห็นอยู่นานที่สุดก็คือกระดูก มีโครงกระดูกเป็นต้น  ในบางครั้ง เมื่อจิตวิ่งเข้ามาดูภายในกาย แล้วก็มาสงบ สว่าง อยู่ภายในกาย จิตจะมองทะลุกายออกมา มีลักษณะดูเหมือนคล้ายๆ กับแก้วโปร่ง มีความใสเหมือนกับแก้วโปร่ง  เพราะฉะนั้น กระดูกของพระอริยบุคคล ซึ่งถูกจิตที่บริสุทธิ์สะอาดเพ่งเป็นวิหารธรรมอยู่บ่อยๆ  ด้วยอิทธิพลของจิตนั้น จะสามารถทำให้กระดูกของท่านกลายเป็นพระธาตุขึ้นมา ได้เมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว
 
สำหรับทฤษฎีในทางอื่นนั้น ไม่สามารถจะนำมาประกอบการ ตอบปัญหานี้ได้ แต่ถ้าจะพิจารณาตามประสบการณ์ที่เคยผ่านมาแล้ว   รู้สึกว่าจิตเมื่อเพ่งดูโครงกระดูก จะรู้สึกว่าโครงกระดูกนั้นมีความใสเหมือนแก้ว เพราะในขณะนั้นจิตสงบ สว่าง แล้วเกิดนิมิตขึ้นมาพอมองเห็นได้  ถ้าข้อเปรียบเทียบก็ถือว่า ขณะที่พระอริยบุคคล ที่ท่านเพ่งดูอาการ ๓๒ คือร่างกายของท่าน จนจิตสงบ เป็นสมาธิ   รู้จริงเห็นจริงภายในกาย แล้วก็มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างมีความใส     สะอาด และสว่างไสวไปหมดภายในกาย  เมื่อท่านมรณภาพแล้ว กระดูกก็กลายเป็นพระธาตุขึ้นมาได้ อันนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่น่าสงสัยเท่าไรนัก
 
 
แต่สำหรับนักเรียนมนต์ไสยศาสตร์เพียงเล็กๆ น้อยๆ   เพียงแค่ใช้คาถาอาคม แล้วไปเสกน้ำมัน ไปทา แล้วก็เป่า ในขณะที่คนขาหักแขนหัก ก็ยังมีประสิทธิภาพพอที่จะต่อกันได้ ด้วยอำนาจแห่งพลังมนต์และพลังจิต
 
 
ทีนี้จิตของผู้ที่บำเพ็ญสมาธิภาวนานี่ ไม่ต้องกล่าวถึงเลยว่าจะไม่มีประสิทธิภาพที่สามารถทำให้กระดูกกลายเป็นพระธาตุขึ้นมาได้

  



         
 ๑๒. ก่อนเริ่มปฏิบัติกรรมฐาน  จำเป็นต้องขอกรรมฐานต่อพระภิกษุสงฆ์ก่อนหรือไม่
 
 
จะขอก็ได้ ไม่ขอก็ได้ แล้วแต่ความพอใจ  ถ้าหากไปหาท่านอาจารย์องค์ใด ถ้าท่านมีวิธีการให้ขอ ก็ขอ แต่อย่าไปยึด  แต่ถ้าอาจารย์องค์ใดจะให้กรรมฐานแล้วมาลงอักขระใส่กระหม่อมให้แล้วอย่าไปเอาเป็นเด็ดขาด
 
 
 
ถ้าเพียงแต่ว่าไปบอกฝากเนื้อฝากตัวขอเป็นลูกศิษย์แล้วก็ขอให้ท่านสอนกรรมฐานให้โดยไม่ต้องเกรงอกเกรงใจ ทางใดที่จะให้เราได้ดิบได้ดีแล้วขอให้ท่านสอน ถ้าอย่างนี้เอา  ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการที่จะขอจากใคร ตำรับตำราก็มี หนังสืออ่านก็มี เราอาจจะอาศัยตำรานั้นเป็นหลักปฏิบัติก็ได้ แต่ว่าควรจะมีอาจารย์นั่นแหละดีเพื่อป้องกันความผิดพลาด
 

 

 
 

๑๓. ทำสมาธิ ต้องนั่งขัดสมาธิหลับตาบริกรรมภาวนาเท่านั้นหรือ และทำไปเพื่ออะไร
 
 
การทำสมาธิ... ขอให้ทุกท่านจงทำความเข้าใจว่า สมาธิเป็นกิริยาของจิต  ส่วนการนั่งก็ดี การยืนก็ดี การเดินก็ดี การนอนก็ดี อันนั้นเป็นแต่เพียงการเปลี่ยนอิริยาบถประกอบ
 
การนั่งกำหนดจิต บริกรรมภาวนา หรือพิจารณาอะไรก็ตาม เรียกว่า นั่งสมาธิ
 
ถ้าการกำหนดจิต หรือบริกรรมภาวนา พิจารณาอะไร ในท่าเดิน เรียกว่า เดินจงกรม
 
ถ้าการกำหนดจิต พิจารณา หรือบริกรรมภาวนา ในท่ายืน เรียกว่า ยืนสมาธิ ยืนทำสมาธิ
 
ถ้าการนอนสีหไสยาสน์ กำหนดจิต บริกรรมภาวนา หรือพิจารณา เรียกว่า นอนทำสมาธิ
 
 
การทำสมาธิในท่านั่ง ท่ายืน ท่าเดิน ท่านอน  ใช้กิริยาการ กำหนดจิตบริกรรมภาวนาหรือพิจารณาอย่างเดียวกันหมด อันนั้นเป็นแต่เพียงเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อให้ร่างกายมีความสบายพอสมควรเท่านั้นเอง  เพราะฉะนั้น การปฏิบัติสมาธิอย่าไปติดวิธีการ
 
 
 
ถ้าจะติดก็ให้ติดวิธีการกำหนดจิตหรือการบริกรรมภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริกรรมภาวนาเป็นอุบายที่ทำจิตให้ติดอยู่กับ  สิ่งๆ หนึ่งในเบื้องต้นก่อน เพื่อจิตจะได้พรากจากความคิดที่วุ่นวายกับเรื่องอื่นๆ แล้วมารวมอยู่กับสิ่งๆ เดียว คือคำบริกรรมภาวนานั้น  เราจะได้ทดสอบว่าจิตของเราอยู่กับคำบริกรรมภาวนานั้นหรือเปล่า แล้วก็เป็นอุบายที่จะทำให้จิตมีสมาธิ
 
 
 
ดังนั้น ขอทุกท่านได้โปรดกำหนดจิตทำสมาธิตามแบบฉบับ ที่ตนเคยฝึกหัดชำนิชำนาญมาแล้ว จะเป็นแบบใดก็ตาม  สมาธิแต่ละแบบๆ นั้น ความมุ่งหมายก็อยู่ตรงที่ว่าทำจิตให้เป็นสมาธิ ให้มีสติปัญญารู้จริงเห็นจริงในสภาวธรรม แล้วเพื่อเป็นอุบายให้จิตปล่อย วางในความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ ไม่ให้เกิดมีอาการของกิเลสขึ้น หรือให้หมดกิเลสในที่สุด
 

 
 


           
๑๔.  คนแก่เวลาปฏิบัติไม่สามารถนั่งคู้บัลลังก์ได้นานๆ   ต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ  ผิดหรือไม่
 
 
      สมาธิเป็นกิริยาของใจ เราจะกำหนดจิตในท่าไหนก็ได้  ถ้านั่ง นานมันเมื่อย ก็เปลี่ยนอิริยาบถเสีย อย่าไปทรมานร่างกาย  เราจะทำสมาธิในท่ายืน เดิน นั่ง นอน ได้ทั้งนั้น
 
 
กายนี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรฝืน ถ้าฝืนมากนักให้โทษ    ถ้ารู้สึกปวดเมื่อยก็เปลี่ยนซะ    ไม่ผิด
 

 



 

  ๑๕. บางอาจารย์ว่า การภาวนากำหนดว่า "พุทโธ"  เป็นสมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา  จริงไหม
 
"พุทโธ" เป็นพุทธานุสติอยู่ในหลักวิชาการของการปฏิบัติขั้นสมถกรรมฐาน   แต่ถ้าผู้ภาวนาพุทโธนั้นไม่ฉลาดเพียงพอที่จะปฏิวัติจิตของตัวเองให้ก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนา ไปติดกันอยู่เพียงแค่ความสงบขั้นสมถะเท่านั้น   คือไปติดอยู่ที่ปีติและความสุข ซึ่งเกิดในฌาน เรียกว่าติดสมถะ ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินจิตขึ้นไปสู่วิปัสสนา    อันนี้เป็นความจริง  ในเมื่อจิตมีสมาธิ ติดความสุขในสมาธิ จิตก็จะถือว่าความสุขแค่ขั้นสมาธิเป็นการเพียงพอแล้ว เป็นการติดสุข  จิตก็จะไม่ใฝ่ฝันหรือไม่พยายามที่จะปฏิบัติวิปัสสนาต่อไป
 
 
อันนี้ขอตอบว่า ถ้าติดแล้ว ก็จริง  ถ้าไม่ติดความสุขในสมาธิ มีความพากเพียรจะหาอุบายให้จิตเกิดภูมิวิปัสสนา ก็ไม่จริง

 
 

 
 

๑๖. เดินจงกรม ถ้าภาวนาว่า "พุทโธ" บางอาจารย์ว่าเป็นสมถะ


คำตอบก็เหมือนกับข้อต้น    เพราะการภาวนานั้นเป็นกิริยาของ จิต  ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นกิริยาประกอบการปฏิบัติ เป็นวิธีการ
 
 
 




๑๗. การปฏิบัติโดยใช้การภาวนาว่า "พุทโธ" จะใช้พร้อมกับการเพ่งกสิณ เช่น สีเขียว เป็นต้น ได้หรือไม่

 


อันนี้แล้วแต่ความถนัดหรือความคล่องตัวของท่านผู้ใด
 
การภาวนาคือการนึกถึงคำพูดคำหนึ่งคือพุทโธ  แต่การเพ่งสีเขียวเป็นเรื่องของตา เป็นเรื่องของสายตา  จะใช้พร้อมกันกับพุทโธๆ ไปด้วยก็ได้ ไม่ขัดข้อง
 
แต่ว่าถ้าจะภาวนาพุทโธแล้ว ลมหายใจควรจะคู่กับพุทโธเป็นเหมาะที่สุด  เพราะเมื่อภาวนา พุท พร้อมลมเข้า  โธ พร้อมลม ออก โดยปกตินักภาวนาเมื่อจิตสงบลงไปบ้างแล้ว คำภาวนาจะหายไป  เมื่อคำภาวนาหายไปแล้ว จิตจะได้ยึดลมหายใจเป็นเครื่องรู้    จะได้ตามลมเข้าไปสู่ความสงบอย่างละเอียดนิ่งจนถึงอัปปนาสมาธิ
 

 

 

 
 

๑๘. เวลานั่งสมาธิใช้คำบริกรรม   คือสมถะตลอด   แต่เวลาเดินจงกรมใช้พิจารณากายที่เดิน  กำหนดสติกับการเดิน   ทำทั้งสองควบคู่กันไป  จะสมควรหรือไม่
 
อันนี้สมควร แล้วแต่อุบายของท่านผู้ใด  บางทีถ้าหากว่าจิตต้องการบริกรรมภาวนาก็บริกรรม ถ้าต้องการจะกำหนดรู้อิริยาบถก็กำหนดรู้อิริยาบถ  ถ้าต้องการค้นคิดพิจารณา ก็ให้ค้นคิดพิจารณา อย่าไปขัด  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางเวลามันอาจจะเกิดสงบขึ้นมาโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ อย่าไปฝืน  บางทีมันอาจเกิดความรู้ขึ้นมาโดยที่ไม่ ได้ตั้งใจจะให้เกิดความรู้ ก็อย่าไปฝืน  ปล่อยมัน ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน หน้าที่ของเรามีแต่ทำสติกำหนดตามรู้เท่านั้น
 


 


 

๑๙. บางอาจารย์ว่า การภาวนาว่า "ยุบหนอ-พองหนอ"       ไม่มีในพระไตรปิฎก
 
 
อันนี้เป็นมติที่คัดค้านกันโดยวิธีการ    ผู้ภาวนาหากไปยึดวิธีการเป็นใหญ่แล้วจะมีการขัดแย้งกัน   การภาวนาพุทโธ หรือยุบหนอ-พองหนอเป็นอุบายทำจิตให้สงบลงเป็นสมาธิ ได้ด้วยกันทั้ง ๒ อย่าง   ถ้าหากนักภาวนาเอาข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นกับจิตอย่างแท้จริงมาเปรียบเทียบกัน  ใครจะภาวนาแบบไหนอย่างไรก็ตาม  ถ้าเราเอาเรื่องความสงบของจิตที่เป็นสมาธิมาเปรียบเทียบกัน  เราจะไม่มีความขัดแย้งกันเลย   แต่ที่เรายังมีความขัดแย้งกันอยู่นั้นเพราะเราไปติดวิธีการ
 
เพราะฉะนั้น นักภาวนา เพื่อแก้ข้อข้องใจดังที่กล่าวแล้วนั้น อย่าไปติดวิธีการ ให้ยึดเอาหลักความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นภายในจิต ของการภาวนานั้นเป็นใหญ่
 
 
การภาวนายุบหนอ-พองหนอก็ดี พุทโธๆ ก็ดี เป็นอุบายทำจิตให้สงบลงเป็นสมาธิขั้นสมถะด้วยกันทั้งนั้น กรรมฐานนี่ท่านว่า         มี ๒ อย่าง  ๑. สมถกรรมฐาน  ๒. วิปัสสนากรรมฐาน
 
 
 
สมถกรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ จุดมุ่งหมายเพื่อจะทำจิตให้เกิดมีสมาธิ กำจัดนิวรณ์ ๕ ไม่ให้มารบกวนขณะที่เราปฏิบัติอยู่ภาย ในจิต อันนี้เรียกว่า สมถกรรมฐาน  ตามหลักปริยัติท่านเขียนไว้ชัด ว่า กรรมฐานอันใดเนื่องด้วยบริกรรมภาวนา กรรมฐานอันนั้นเป็นสมถกรรมฐาน  ถ้าจิตยังไม่สงบนึกบริกรรมภาวนา เป็นวิธีการ  เมื่อ จิตสงบลงเป็นสมาธิอย่างแท้จริงแล้วเป็นสมถะ  เพราะฉะนั้น ยุบ หนอ-พองหนอก็ดี พุทโธๆ ก็ดี เป็นแต่เพียงวิธีการ ไม่ใช่สมถะหรือ วิปัสสนาใดๆ ทั้งนั้น  เมื่อผลเกิดขึ้นจากการภาวนาแล้ว นั่นแหละ จึงจะมีสมถะหรือวิปัสสนาเกิดขึ้น
 
 
ส่วนวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นกรรมฐานที่เป็นอุบายฝึกฝนจิตให้เกิดมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดขึ้น  แม้แต่ด้วยวิธีการ คือการน้อม จิตไปพิจารณาอะไรก็ตาม เช่น เราอาจจะพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก  ว่าเป็นของปฏิกูล หรือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  หรือแม้จะกำหนดอารมณ์เกิด-ดับกับจิตว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาก็ตาม นั่นเป็นวิธีการ  แต่เมื่อจิตยังไม่สงบเป็น สมาธิเมื่อไรแล้ว เมื่อนั้นวิปัสสนาจะไม่เกิด
 
 
เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่มุ่งจะทำกรรมฐาน สมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน ให้ได้ผลอย่างแท้จริง อย่าไปกลัวว่าจิตจะไป ติดสมถะ
 
สมถะคือสมาธิ เป็นพื้นฐานให้เกิดวิปัสสนา  แต่ถ้าผู้ภาวนา  ไปติดสมถะ ไปติดสุขในสมาธิ ติดสุขในสมถะ  จิตก็ไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนา
 
แต่ถ้าสมถะคือสมาธิไม่มี วิปัสสนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ นอกจากวิปัสสนึกเท่านั้น  ขอได้โปรดทำความเข้าใจอย่างนี้
 
 

 


 

 
  ๒๐. การฝึกมโนมยิทธิเป็นแขนงหนึ่งของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาใด เพราะการฝึกมีการขอบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ช่วยให้ได้เห็นเมืองแก้วคือนิพพาน    หรือเห็นนรกก็ได้เห็นจริงๆ

 

เรื่องเกี่ยวกับมโนมยิทธินี่ ตามหลักธรรมะท่านก็มี แต่มโนมยิทธิที่ฝึกกันอยู่ในปัจจุบันนี้จะเป็นมโนมยิทธิที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ หรือไม่นั้น อาตมาไม่ขอวินิจฉัย  แต่การกระทำเท่าที่ได้พิสูจน์มาแล้ว  สิ่งที่สามารถที่จะทำให้เห็นนรก เห็นสวรรค์ได้ มีอยู่หลายทาง :
 
ทางหนึ่งเกิดจากการสะกดจิตแบบฝรั่ง   ที่เขาใช้วิชาสะกดจิต คือมีการกล่อมให้ผู้รับการสะกดจิตมีอาการนอนหลับ  เมื่อหลับลงไปแล้ว เขาจะใช้ผู้ที่ถูกสะกดนั้นไปดูอะไรที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น  อันนี้เป็น การสะกดจิตแบบฝรั่งโดยย่อ
 
สำหรับการบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ภาวนาหัวใจธาตุ ๔ นะ มะ พะ ทะ  หรือภาวนาคาถาพระเจ้าเปิดโลก หรือ แม้แต่จะภาวนา พุทโธ แบบที่เราๆ ภาวนากัน  ถ้าหากมีท่านผู้ใด ผู้หนึ่งคอยกล่าวนำ เมื่อจิตของผู้ภาวนามีอาการสงบ เคลิ้มๆ ลง ไป ผู้กล่าวนำนั้นให้คำแนะนำว่า จงไปดูนรก ดูสวรรค์ ไปทางโน้น ไปทางนี้  พบเห็นอะไรแล้วถามเขาไป ให้เขาบอกหนทางไปหรือให้ เขาพาไป แล้วจิตของผู้ภาวนานั้นจะไปเห็นนรก เห็นสวรรค์ได้
 
อันนี้เข้าใจว่าเป็นอุบายอันหนึ่ง สำหรับผู้ฉลาดในการสอนธรรมะ แต่ได้ทราบว่าท่านผู้นั้นท่านว่าเป็นมโนมยิทธิ  แต่เรื่องนี้จะ เป็นมโนมยิทธิประการใดหรือไม่นั้น อาตมะไม่ขอตัดสิน  เป็นแต่เพียงว่าถืออยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องพิจารณากันอีกต่อไป
 
แต่จะด้วยประการใดก็ตาม การกระทำทั้งนี้ก็เป็นอุบายสอนคนให้เกิดมีศีลธรรมอันดีขึ้นมาได้เหมือนกัน เช่น ใครสามารถจะนำ คนให้ไปดูนรก ดูสวรรค์ได้ ซึ่งในสมัยปัจจุบันนี้ส่วนมากก็มีความเห็นว่านรกไม่มี สวรรค์ไม่มี  แต่ท่านผู้ใดสามารถนำคนให้ไปพิสูจน์ ดูนรก ดูสวรรค์ จะด้วยกลอุบายหรือวิธีอันใดก็ตาม ก็เข้าใจว่าพอจะเป็นแนวทางที่จะโน้มน้าวจิตใจของเขาให้เชื่อในหลักธรรมะข้อที่ว่า นรกมี สวรรค์มี ได้บ้าง
 
อีกอย่างหนึ่ง คนที่สามารถภาวนาไปดูนรกได้ เมื่อไปเห็นความทุกข์ทรมานในนรก และที่สัตว์กำลังตกนรกอยู่นั้นมีความทุกข์ทรมานเพียงใด แค่ไหน เขาอาจจะไปถามว่าทำบาปกรรมอะไรจึง     ได้มาตกนรกอย่างนี้  ในเมื่อได้ทราบผลของกรรมแล้ว เขาอาจจะไม่ กล้าทำกรรมอันเป็นบาปความชั่วขึ้นมาก็ได้  ผู้ที่ไปเห็นสวรรค์ ไปติด ในสมบัติของสวรรค์ หรือความงามของเทวดา แล้วอยากได้สมบัติอันเป็นสวรรค์ ก็อาจจะมาทำบุญกุศลสุนทานยิ่งขึ้นก็ได้
 
รวมความแล้วว่าเป็นอุบายสอนคนให้เข้าสู่ศีลธรรมแขนงหนึ่งเหมือนกัน  ส่วนจะเป็นมโนมยิทธิหรือประการใดนั้น    ขอฝากท่านผู้ฟังทั้งหลายช่วยพิจารณาต่อไป
 
 

 

 



 

 

 

แก้ไขล่าสุด ( วันจันทร์ที่ 15 กันยายน 2014 เวลา 04:40 น. )
 

เพิ่มคอมเมนต์ใหม่

รหัสป้องกันความปลอดภัย
รีเฟรช

 

Joomla 1.5 Templates by Joomlashack